xs
xsm
sm
md
lg

(ชมคลิป) ทนไม่ไหว! ไลฟ์สดประจานเถ้าแก่เผาไร่อ้อยควันฟุ้งแต่ไม่มีหน่วยงานไหนจับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อุดรธานี - ทนไม่ไหว! สาวอุดรฯ ไลฟ์สดประจานเจ้าของไร่อ้อยเผาอ้อยสร้างความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน เผยเหตุเกิดในเขตพื้นที่ อบต.หนองไฮ เผาจนไฟควันฝุ่นผงฟุ้งกระจายไม่เห็นมีเจ้าหน้าที่หน่วยงานไหนมาจับดำเนินคดี



ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ได้มีการแชร์คลิปวิดีโอที่ชาวบ้านผู้ใช้สื่อโซเชียล ชื่อ Tok Ky กำลังไลฟ์สดไฟที่กำลังไหม้ไร่อ้อย เขตพื้นที่ อบต.หนองไฮ อ.เมืองอุดรธานี โดยจุดที่เผาห่างจาก อบต.แค่ 500 เมตร ไฟที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เกิดเองตามธรรมชาติ แต่เป็นฝีมือของเจ้าของไร่ที่เผาอ้อยก่อนจะตัดส่งเข้าสู่โรงงานใกล้กัน

ในคลิปหญิงสาวได้พูดระบายความในใจที่ถูกเก็บมานานหลายปี ความว่า “นี่คือตำบลหนองไฮ” วันนี้วันที่ 29 มกราคม ดูสภาพที่ชาวบ้านต้องทนที่เถ้าแก่ไร่อ้อยมาเผาอ้อย อาชีพที่ทำความลำบากให้กับคนหมู่มาก จะทำยังไงดี ตอนนี้จะป่วยตายกันทั้งบ้านอยู่แล้ว ต้องดมควันแบบนี้ทุกวันแล้วเผาแ***งทุกวัน ตำบลหนองไฮ เลย อบต.มา 500 เมตร ใครที่รับผิดชอบ ถามหน่อยประเทศไทย ตำบลหนองไฮ อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากสนามบิน 20 กิโลเมตร มันเป็นอาชีพของคนกลุ่มน้อยในประเทศไทยที่ทำความลำบากให้กับคนทั้งประเทศด้วยซ้ำ แล้วบอกว่าเผาแล้วจับ ถามหน่อยใครจับ

หลายฝ่ายรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดเพื่อไม่เพิ่มภาระฝุ่นควัน
หญิงที่ไลฟ์สดยังบอกอีกว่า ตอนนี้ไม่ไหวแล้ว ลูกหลานใส่หน้ากากกันทุกวันก็เอาไม่อยู่เพราะเผาทุกวัน แต่เราไม่สามารถถ่ายทอดสดให้คนทั้งประเทศได้ดูว่ามีการเผาทุกวัน เพราะมีการเผาทุกวันหลายที่ แต่ที่เกิดขึ้นนี้อยู่ข้างบ้านอยากให้โซเชียลได้รับรู้ ตื่นเช้ามาต้องใส่หน้ากากแทนที่จะได้อากาศดีบริสุทธิ์ นี่ประเทศไทย ประเทศอื่นเขามีไวรัสเหี*้ยอะไรไม่รู้ แต่นี่ประเทศไทยเผาอ้อยกันทุกวันไม่ไหวแล้ว ไม่ไหวแล้วถึงทำแบบนี้

ใบอ้อยสามารถส่งขายให้โรงงานน้ำตาลนำไปเป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้าชีวมวล
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมอ้อยฯ ระบุว่า ตั้งแต่ต้นฤดูกาลเปิดหีบอ้อย 62/63 มีโรงงานน้ำตาลทั่วประเทศ 57 โรง ชาวไร่ส่งอ้อยเข้าโรงงาน จนถึงวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา 51.9 ล้านตัน ปรากฏว่าเป็นอ้อยสด 26.2 ล้านตัน และเป็นอ้อยไฟไหม้ 25.7 ล้านตัน โดยแต่ละโรงงานมีความแตกต่างกัน

อย่างไรก็ตาม จนถึงสายวันนี้ยังไม่มีรายงานว่าได้มีเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการใดๆ ต่อเจ้าของไร่อ้อยดังกล่าว ทำให้ชาวบ้านต่างวิพากษ์วิจารณ์การทำงานไม่มีประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและเจ้าหน้าที่หน่วยงานเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ ในพื้นที่อุดรธานีมีโรงงานน้ำตาล 4 โรง รายงานระบุการรับซื้ออ้อยสด-อ้อยเผาว่า โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี อ้อยสด 3.5 แสนตัน-อ้อยเผา 2.7 แสนตัน, โรงงานน้ำตาลเกษตรผล อ้อยสด 3.8 แสนตัน-อ้อยเผา 3.4 แสนตัน, โรงงานน้ำตาลเริ่มอุดม อ้อยสด 2.6 แสนตัน-อ้อยเผา 5.4 แสนตัน และโรงงานน้ำตาลไทยอุดร อ้อยสด 4.1 แสนตัน-อ้อยเผา 1.1 ล้านตัน


ขณะที่จังหวัดอุดรธานีได้ให้ความสำคัญต่อการรณรงค์ให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงาน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร นำรองผู้ว่าฯ นายอำเภอ หน่วยงานรัฐ และจิตอาสา ร่วมทำกิจกรรม “จิตอาสาลงแขกตัดอ้อย” ทุกวันตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่าชาวไร่อ้อยต้องขายอ้อยให้โรงงานทั้ง 4 โรงในพื้นที่จังหวัดอุดรธานี ภาพรวมเฉลี่ยวันละ 48,000 ตัน ขณะโรงงานน้ำตาล 4 โรงในอุดรธานีมีกำลังผลิตวันละ 69,000 ตันต่อวัน ทั้งนี้ ทีมลงแขกตัดอ้อยที่ผู้ว่าอุดรฯ นำทีมไปนั้นจะได้วันละเท่าไหร่...ที่ได้แน่ๆ ก็คือภาพลักษณ์

จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลพบว่า การที่เกษตรกรเลือกที่จะเผาอ้อยนั้น มี 3 เหตุผล คือ อ้อยไฟไหม้ตัดง่ายกว่าและรายได้ดีกว่า ประกอบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน, รถตัดอ้อยมีน้อยและไม่เหมาะสมกับพื้นที่ และโรงงานน้ำตาลให้คิวอ้อยไฟไหม้ก่อนอ้อยสด เนื่องจากหากไม่รีบซื้อภายใน 48 ชั่วโมง ค่าความหวานและน้ำหนักของอ้อยไฟไหม้จะลดลงเร็วกว่าอ้อยสด


กำลังโหลดความคิดเห็น