"ธ.ก.ส." จับมือ "คูโบต้าและยันม่าร์" หนุนสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์ วงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท โดยกำหนดระยะเวลาปล่อยสินเชื่อจนถึง 31 มี.ค.66 หวังสร้างโอกาสให้เกษตรกรเข้าถึงเครื่องจักรด้านการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยีทันสมัยเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต อีกทั้งยังจัดโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินรวม 5 หมื่นล้านบาท คิดดอกเบี้ยเงินกู้ที่ 0.01% รองรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ที่สนใจการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยใช้เครื่องจักรกลการเกษตร
นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ได้ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ “โครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์” กับ นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด นางวราภรณ์ โอสถาพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามคูโบต้า ลีสซิ่ง จำกัด นายชินจิ สุเอนางะ ประธานบริหารบริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด และนายทาคาชิ โยชิดะ ประธานบริษัท ยันม่าร์ แคบปิตอล (ไทยแลนด์) จำกัด เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกร ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบการมีโอกาสในการเลือกใช้เครื่องจักรเครื่องยนต์ทดแทนแรงงาน ปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตทางการเกษตรสู่ความยั่งยืน โดยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดต้นทุน และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิตการเกษตร
ทั้งนี้ ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ได้ทำโครงการสินเชื่อนวัตกรรมเครื่องจักรเครื่องยนต์โดยร่วมกับเครือบริษัทคูโบต้าและยันม่าร์ในการสนับสนุนเกษตรกรให้มาเลือกใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Agri-Tech) แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคเกษตร และการทำการผลิตให้สอดคล้องต่อสภาพพื้นที่ หรือการปลูกพืชตามแผนที่ เกษตร (Agri-Map) เพื่อการบริหารจัดการเชิงรุกในพื้นที่ที่เหมาะสม รวมทั้งเปลี่ยนการผลิตการเกษตรให้ตรงกับความต้องการของตลาด สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร (Value Added) ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้แก่ภาคการเกษตรให้มีความยั่งยืน โดยมีเป้าหมายเป็นเกษตรกรลูกค้า หรือผู้ที่มีความสนใจ
โดยผู้สนใจสามารถขอรับการสนับสนุนสินเชื่อตามโครงการดังกล่าว นำไปเป็นเงินทุนจัดซื้อเครื่องจักรเครื่องยนต์ในภาคเกษตรกรรม ตลอดจนเป็นค่าอุปกรณ์ ค่าบำรุงซ่อมแซม และการจัดหาอุปกรณ์พ่วงหรือเสริมให้เครื่องจักรนั้นสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ วงเงินสินเชื่อรวม 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย MRR-1 (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.875 ต่อปี) ระยะเวลาโครงการตั้งแต่บัดนี้ถึงวันที่ 31 มี.ค.66
อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส. ยังคาดหมายถึงวงเงินสินเชื่อรวมดังกล่าวที่ธนาคารฯ ได้จัดเตรียมไว้ น่าจะอนุมัติหมดได้ภายใน 2 ปี ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา การออกสินเชื่อเครื่องจักรจะได้รับความสนใจจากเกษตรกรเป็นอย่างมาก และ ธ.ก.ส. ได้ให้สินเชื่อให้เกษตรกรไปแล้ว 3.5 แสนราย คิดเป็นการปล่อยสินเชื่อรวมทั้งสิ้น 7 หมื่นล้านบาท แต่ยังมีเกษตรกรขอชำระหนี้กว่า 60%
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ยังได้สนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของคนในชุมชนภายใต้โครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท คิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ต่อปีที่ 0.01% สำหรับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์การเกษตรที่สนใจการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตโดยเครื่องจักรกลการเกษตร สามารถรวมกลุ่มกันอย่างน้อย 5 คนเพื่อขอสินเชื่อดังกล่าวนี้ได้ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขต้องเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
ด้าน นายสมศักดิ์ มาอุทธรณ์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด กล่าวว่า โครงการนี้เกิดจากเจตนารมณ์ร่วมกันของ ธ.ก.ส. และสยามคูโบต้า ที่เล็งเห็นความสำคัญในการสนับสนุนให้เกษตรกรสามารถเป็นเจ้าของนวัตกรรมเครื่องจักรกลการเกษตรได้ง่ายขึ้น ด้วยเงื่อนไขการให้สินเชื่อที่เหมาะสมต่อรายได้ของเกษตรกร เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต บริษัทฯ มุ่งมั่นพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองต่อยุคนวัตกรรมการเกษตรมากขึ้น
ส่วน นายชินจิ สุเอนางะ ประธานบริหารบริษัท ยันม่าร์ เอส พี จำกัด เชื่อว่าโครงการนี้จะช่วยพี่น้องเกษตรกรได้มีโอกาสเข้าถึงเครื่องจักรกลการเกษตรมากขึ้น และมั่นใจว่าการนำเครื่องจักรกลการเกษตรมาใช้ จะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลผลิต ประกอบกับความล้าสมัยด้านเทคโนโลยีของแทรกเตอร์ยันม่าร์ในปัจจุบันที่พัฒนามากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นระบบติดตามการทำงานผ่านดาวเทียม หรือ SA-R (Smart Assist) ที่จะช่วยจัดการการทำการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ