ในช่วงเช้ามืดวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 ดาวศุกร์จะปรากฏสว่างที่สุดอีกครั้งและเป็นครั้งสุดท้ายของปีนี้ จึงอยากชวนมาลุ้นถ่ายภาพดาวศุกร์สว่างที่สุดกัน โดยดาวศุกร์จะสว่างเด่นเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่า ทางทิศตะวันออกบริเวณกลุ่มดาววัว ตั้งแต่เวลาประมาณ 03:25 น. เป็นต้นไปจนถึงรุ่งเช้า ปรากฏการร์ดาวศุกร์สว่างมากที่สุดในรอบปีนั้น มาสาเหตุเนื่องจากเป็นช่วงที่ดาวศุกร์มีขนาดเสี้ยวค่อนข้างใหญ่ และโคจรห่างจากโลกในระยะทางที่เหมาะสม สำหรับในช่วงวันอื่นๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งอยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย
การสังเกตดาวศุกร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์
การสังเกตการณ์ดาวศุกร์ด้วยตาเปล่านั้น เราจะมองเห็นเป็นดาวสว่างที่สุดบนท้องฟ้าไม่กระพริบแสง ซึ่งแสงสว่างจากดาวศุกร์นั้นเกิดจากการสะท้อนแสงจากดวงอาทิตย์ หากสังเกตผ่านกล้องโทรทรรศน์ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 ขึ้นไป จะสามารถมองเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวอยู่เสมอ ความหนาบางของเสี้ยวแตกต่างกันไปในแต่ละตำแหน่งของวงโคจร และปรากฏอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ได้มากที่สุดไม่เกิน 47 องศา จึงสังเกตเห็นดาวศุกร์ได้ในช่วงเวลาสั้นๆ ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นหรือหลังดวงอาทิตย์ตกเท่านั้น ไม่เคยปรากฏอยู่กลางท้องฟ้าหรือในช่วงเวลาดึก ทั้งนี้ หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันตกในช่วงหัวค่ำ คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประจำเมือง” หากเห็นดาวศุกร์ทางทิศตะวันออกในช่วงเช้ามืด คนไทยมักเรียกว่า “ดาวประกายพรึก”
การถ่ายภาพดาวศุกร์ในช่วงสว่างที่สุดในรอบปี
สำหรับการถ่ายภาพดาวศุกร์ในช่วงสว่างที่สุดในรอบปีนั้น สามารถถ่ายภาพด้วยเทคนิคง่ายๆ ดังนี้
1. เลือกใช้กล้องและเลนส์ที่เหมาะสมกับมุมรับภาพ โดยสามารถจำลองมุมรับภาพได้จากโปรแกรม Stellarium ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง เป็นการเลือกใช้กล้องดิจิตอลแบบ Full Frame กับเลนส์ทางยาวโฟกัส 70 mm. ที่จัดองค์ประกอบภาพโดยให้ดาวศุกร์กับกลุ่มดาววัวและกระจุกดาวลูกไก่ไว่ในเฟรมเดียวกัน (อ่านต่อ เทคนิคการหามุมรับภาพจากโปรแกรม Stellarium ตามลิงก์ : https://bit.ly/2Dcismp)
2. คำนวณเวลาถ่ายภาพโดยใช้สูตร Rule of 400/600 เพื่อป้องกันไม่ให้ดาวยืดเป็นเส้น (รายละเอียดตามลิงค์ https://bit.ly/2VIaIPt)
3. ใช้ Star Filter เพื่อให้ได้ดาวเป็นแฉกที่โดดเด่นสวยงาม ทั้งนี้นอกจากการเพิ่มแฉกดาวด้วย Star Filter แล้ว เรายังสามารถสร้างแฉกดาวด้วยวิธีง่ายๆ ด้วยการขึงเอ็นเป็นรูปกากบาทไว้ที่ด้านหน้าเลนส์ ก็สามารถสร้างให้จุดดาวสว่างกลมๆ เป็นแฉกขึ้นมาได้
4. ใช้ค่ารูรับแสงกว้าง เพื่อให้กล้องมีความไวแสงมากที่สุด เช่น f/1.4 หรือค่ารูรับแสงที่กว้างสุดของเลนส์ที่เรามี 5. ใช้ค่าความไวแสงสูง (ISO) เพื่อให้ภาพไม่มืดมากเกินไป ทั้งนี้ค่าความไวแสงนั้นจะขึ้นกับหลายปัจจัย ทั้งรูรับแสงและเวลาการเปิดรับแสงที่คำนวณจากสูตร Rule of 400/600
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน