xs
xsm
sm
md
lg

สอดส่ายสายตา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ฉัตรพรรษ พงษ์เจริญ



กล้องส่องทางไกลแบบตาเดียว (telescope) ซึ่งมีกำลังขยายสูงและควรใช้คู่กับขาตั้งกล้อง และแบบสองตา (binocular) ซึ่งกำลังขยายต่ำกว่าและสามารถใช้มือทั้งสองข้างถือส่องได้ เป็นที่นิยมในหมู่นักนิยมไพรมาเนิ่นนาน ตั้งแต่สมัยคุณหมอบุญส่ง เลขะกุล ก็ใช้กล้องส่องทางไกลแบบสองตาในการศึกษาธรรมชาติโดยเฉพาะการส่องดูนก ซึ่งรูปกำลังถือกล้องส่องทางไกลแบบสองตาก็ปรากฏอยู่บนสื่อสิ่งพิมพ์ต่างๆ คุ้นตากันมากที่สุดก็คงรูปในหน้าปกหลังของหนังสือคู่มือดูนกเมืองไทยหลากหลายฉบับ แล้วก็เป็นหนังสือคู่มือดูนก A guide to the Birds of Thailand โดยคุณหมอ บุญส่ง เลขะกุล และคุณ Philip D. Round ฉบับปกแข็งเล่มหนาหนักทำให้ผมได้เริ่มรู้จักและใช้งานกล้องส่องทางไกลทั้งสองแบบจนกระทั่งปัจจุบัน

ความทรงจำครั้งแรกเหมือนเพิ่งเกิดขึ้น วันนั้นชมรมผู้ศึกษาด้านสัตว์ป่า คณะวนศาสตร์ พารุ่นน้องปี 1 ที่เพิ่งสมัครเข้าชมรมฯ ไปร่วมการสำรวจชนิดนกในพื้นที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บริเวณกรมการข้าว พื้นที่นาสาธิต และทุ่งชุ่มน้ำใกล้เคียง กล้องส่องทางไกลทั้งสองแบบถูกนำมาใช้งานโดยมีรุ่นพี่เป็นผู้สอน กล้องส่องทางไกลแบบตาเดียวถูกนำมาประกอบ ปรับทิศ และโฟกัสไปยังนกตัวหนึ่งบนยอดไม่ไกลมากนัก

“นกเขาใหญ่ ต่อแถวมาดูกันเลย” รุ่นพี่เอ่ย รุ่นน้องหน้าใหม่รวมทั้งตัวผมเองก็ต่อแถวตอนเรียงหนึ่งเพื่อแบ่งกันดู เมื่อถึงคราวตัวเองมองลอดจากเลนส์ใกล้ตาผ่านไปยังเลนส์ใกล้วัตถุ “เห็นแต่ยอดไม้ครับพี่” ผมบอกพร้อมละสายตาจากกล้องส่องทางไกล “มันบินไปอยู่อีกต้นแล้วครับ” ผมบอกต่อพร้อมถามถึงวิธีการปรับกล้อง ซึ่งก็ถูกห้ามปรามและให้รอรุ่นพี่เป็นคนปรับเปลี่ยนตำแหน่งให้ซึ่งใช้เวลาเพียงชั่วครู่เดียวเท่านั้น ถ้าให้รุ่นน้องมือใหม่ของชมรมดำเนินการอาจจะต้องถึงขั้นส่งซ่อมก็เป็นได้

สมาชิกชมรมฯ อีกชุดหนึ่งใกล้กันใช้อุปกรณ์ต่างออกไปคือ กล้องส่องทางไกลแบบสองตาซึ่งใช้ง่ายกว่าเพราะไม่ต้องพึ่งพาขาตั้งและความชำนาญในการเล็งทิศทางส่องหานก หลายคนกำลังชี้มือไปยังตำแหน่งนกในทุ่งน้ำขัง หลายคนยกกล้องส่องขณะรุ่นพี่หลายคนกำลังยืนสอนการใช้กล้องแบบประกบตัวต่อตัว ผมเปลี่ยนกลุ่มและลองเริ่มใช้กล้องส่องทางไกลแบบสองตา

“ระยะห่างตาแต่ละคนไม่เท่ากัน เมื่อมองเข้าไปในกล้องภาพที่เห็นอาจจะเป็นวงกลมสองวงเหลื่อมกันอยู่ ปรับขยับลำกล้องของกล้องส่องให้ภาพวงกลมที่ซ้อนเหลื่อมกันมารวมเป็นวงเดียวกันก่อน จากนั้นค่อยปรับวงแหวนโฟกัสโดยลองหมุนไปทางขวาหรือซ้ายให้ภาพในวงกลมวงเดียวนั้นมองเห็นชัดมากที่สุด”

แน่นอนว่าความผิดพลาดสำหรับการใช้อุปกรณ์นี้ครั้งแรกต้องเกิดขึ้นแต่ก็แก้ไขจนเรียบร้อยได้ในที่สุด เมื่อส่องมองเสร็จแล้วก็หมุนเวียนเพื่อให้คนอื่นได้ลองใช้งานแล้วเปลี่ยนไปทดลองใช้งานคู่มือดูนกเล่มหนักดูบ้าง สมาชิกหลายคนเปิดหนังสือเพื่อเทียบดูชนิด “นกตีนเทียน” รุ่นพี่ผู้ควบคุมกลุ่มเอ่ยขึ้นเพราะเหมือนว่ารุ่นน้องหน้าใหม่จะยังไม่สามารถจำแนกชนิดได้แม้จะแนะนำให้แล้วก็ตาม ได้คิดแล้วก็นึกขำเพราะผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้นจนกระทั่งชมรมฯ พากันกลับเพราะแสงเริ่มหมดลงแล้ว

ผมเองก็เกิดความสงสัยในสื่อต่างๆ หลายครั้งโดยเฉพาะสื่อผลิตสารเกี่ยวกับความบันเทิงเริงใจจากบทบาทสมมุตหลากหลายเรื่องราว ที่มีการจำลองการใช้งานกล้องส่องทางไกลแบบสองตา เมื่อฝ่ายผู้ร้ายหรือฝ่ายพระเอกอยากเห็นภาพในระยะไกล ภาพที่ออกมามักจะเป็นภาพของวงกลมสองวงคู่กัน เรียงติดกัน หรือเป็นอย่างอื่นไปกันเลย ทำให้เห็นแล้วค่อนข้างแปลกใจว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเราผิดพลาดหรือแปลกต่างอย่างไร จึงได้กลับไปนำกล้องที่มีอยู่มาลองส่องดูสิ่งต่างๆ อีกครั้งแล้วก็พบว่า ความทรงจำและประสบการณ์ของผมกับอุปกรณ์กล้องส่องทางไกลแบบสองตา ยังคงเป็นเหมือนที่ผ่านมาและน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไป

ผิดผลาดตกหล่นตรงไหน ผมสงสัยในกระบวนการเรียนรู้ของสื่อเหล่านั้น พอสมควร


เกี่ยวกับผู้เขียน

"แต่เดิมเป็นเด็กบ้านนอกจากจั
งหวัดจันทบุรี ที่มีความมุ่งมันตั้งใจศึกษาต่อ ณ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากความสนใจส่วนตัวและการชักชวนจึงเข้าเรียนในสาขาวิทยาศาสตร์สัตว์ป่าและทุ่งหญ้า ภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ จึงได้เข้าไปสัมผัสเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ป่าหลากหลายประเภทในพื้นที่อนุรักษ์หลากหลายแห่งทั่วประเทศไทย หลังจากสำเร็จการศึกษาได้รับคำแนะนำให้ไปศึกษาต่อ ณ ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จนสำเร็จการศึกษาในระดับปริญญาดุษฎีบัณฑิต กระนั้นก็ยังโหยหาและพยายามนำพาตัวเองเข้าป่าทุกครั้งที่โอกาสอำนวย"


พบกับบทความ "แบกเรื่องป่าใส่บ่ามาเล่า" ของ “จองื้อที” ได้ทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน