“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ผุด “โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” สร้างงาน ไม่น้อยกว่า 6 หมื่นคน พัฒนาอาชีพในชุมชน 3,000 ตำบลทั่วประเทศ ใช้มหาวิทยาลัยกว่า 80 แห่งเป็นหน่วยจ้างงาน เน้นการเกษตรสมัยใหม่ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมและสนับสนุนโอทอป – เอสเอ็มอี ในพื้นที่
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย.63 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว.การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า อว.ดำเนินโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ตำบลทั่วประเทศ เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจในระดับชุมชนหลังการแพร่ราดของไวรัสโควิด – 19 ระยะเวลา1 ปี ทั้งการสร้างงาน การพัฒนาอาชีพในชุมชน เพื่อเพื่อให้เกิดการจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษาไม่น้อยกว่า 60,000 คน ทั้งให้เกิดการพัฒนาทักษะในการเสริมสร้างอาชีพใหม่ในชุมชน รวมทั้งให้เกิดการจัดทำข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนและให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านโครงการด้านการเกษตรสมัยใหม่ ด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนโอทอป(OTOP) การส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอี(SMEs) ในพื้นที่
"โครงการต่างๆ เหล่านี้จะได้รับการบูรณาการอย่างเป็นระบบ ตามศักยภาพของตำบลและเพิ่มประสิทธิภาพให้ตำบลด้วยทักษะความรู้และนวัตกรรม เพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น โครงการ 1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย จึงเกิดขึ้นเพื่อพัฒนาชุมชนด้วยองค์ความรู้และพลังมหาวิทยาลัย เพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และให้เกิดการบูรณาการโครงการในพื้นที่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามความต้องการของพื้นที่อย่างแท้จริง โดยใช้มหาวิทยาลัยของรัฐกว่า 80 แห่งที่กระจายอยู่ตามภูมิภาคต่างๆของประเทศ ทำหน้าที่เป็น หน่วยงานบูรณาการโครงการ ในระดับตำบล"
รมว.อว.กล่าวต่อว่า ทั้งนี้ การดำเนินการของมหาวิทยาลัยในพื้นที่จะทำหน้าที่หน่วยงานบูรณาการโครงการ รายตำบล ดูแลยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบล ตามปัญหาและความต้องการของชุมชน อาทิ การพัฒนาสินค้าและบริการชุมชน การพัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก การส่งเสริมและพัฒนาฝีมือแรงงานชุมชน การส่งเสริมให้เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นตนเอง การพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชน เป็นต้น ที่สำคัญ มหาวิทยาลัยจะเป็นหน่วยจ้างงานในตำบลที่ทำหน้าที่ดูแล โดยจ้างงานประชาชนทั่วไป บัณฑิตจบใหม่ และนักศึกษา ไม่น้อยกว่า 20 คนในแต่ละตำบล รวมทั้งทำหน้าที่ประสานงานและทำงานร่วมกับจังหวัด และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชนรายตำบล (Community Big Data) เพื่อให้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และตัดสินใจในการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน
“นอกจากนี้ เพื่อให้การดำเนินการบูรณาการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะมีการจัดทำระบบการบูรณาการโครงการต่างๆในอีก 2 ระดับ คือ ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ โดยเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา 9 ภูมิภาคของ อว. จะทำหน้าที่ในการบูรณาการโครงการต่างๆระหว่างชุมชนหรือตำบลในพื้นที่ ทั้งด้านการใช้ทรัพยากรโครงการร่วมกัน การแบ่งปันองค์ความรู้และเทคโนโลยีร่วมกัน รวมถึงการเชื่อมต่อกันในโซ่คุณค่าของสินค้าและบริการ เช่นการผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ การบริโภคสินค้าและบริการ การท่องเที่ยวที่เชื่อมต่อกันระหว่างพื้นที่ เป็นต้น และในระดับประเทศ อว.จะร่วมกับ สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่บูรณาการโครงการและข้อมูลต่างๆในภาพรวม การประเมินผลกระทบ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน เพื่อใช้ในการจัดทำนโยบายและกลยุทธ์ในการลดปัญหาความยากจนแบบมีเป้าหมายชัดเจน”ดร.สุวิทย์ กล่าว