xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์” ผุด “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” สร้างงานคนในท้องถิ่น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




“สุวิทย์ เมษินทรีย์” รมว.การอุดมศึกษาฯ ผุดโครงการ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย” อว.สร้างงานระยะ 2 จ้างงานคนในพื้นที่ ชู “ม.ราชภัฏวไลยอลงกรณ์” มหาวิทยาลัยตัวอย่างลงไปพัฒนาท้องถิ่นจนประสบความสำเร็จ


เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2563 ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานีเพื่อรับฟังแนวทางการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย รวมทั้งติดตามผลการดำเนินงานการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และแนวทางการจ้างงานในโครงการ อว.สร้างงาน ระยะที่ 2

หลังจากการตรวจเยี่ยม ดร.สุวิทย์ให้สัมภาษณ์ว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ถือเป็นหนึ่งตัวอย่างความสำเร็จของการที่มหาวิทยาลัยลงไปพัฒนาพื้นที่ พัฒนาท้องถิ่น จนสามารถสร้างชุมชนนวัตกรรมให้เกิดขึ้นได้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน 2 จังหวัด คือ ปทุมธานี และสระแก้ว ด้วยการเชื่อมโยงเครือข่ายภาคธุรกิจเอกชน ภาครัฐ และชุมชนตามหลักการ “บวร” หรือ บ้าน-วัด-โรงเรียน ซึ่งเป็นแนวทางการพัฒนาชุมชนตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

“นอกจากนี้ยังพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนร่วมกับท้องถิ่น สร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง ส่งเสริมครัวเรือนพอเพียง สืบสานวัฒนธรรมชุมชน เกษตรปลอดภัย จนเกิดวิสาหกิจชุมชนเข้มแข็ง ชาวบ้านมีสุขภาพที่ดี สิ่งแวดล้อมดี รายได้เพิ่มขึ้น ความสุขมวลรวมเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างความสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมเช่น ที่ชุมชนนวัตกรรมเกษตรปลอดภัย ต.ทุ่งมหาเจริญ อ.เขาฉกรรจ์ จ.สระแก้ว ทำให้คนในชุมชนและเกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

รมว.อว.กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ฯ ยังได้นำเสนอถึงแผนงานการจ้างงานประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ในโครงการ “อว. สร้างงาน ระยะที่ 2” ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการของบประมาณจากสำนักงบประมาณ โดยจะจ้างงานคนในพื้นที่ จ.ปทุมธานี รวม 7 อำเภอ 11 ตำบล จำนวน 173 คน และในพื้นที่ จ.สระแก้ว รวม 9 อำเภอ 12 ตำบล จำนวน 36 คน รวมทั้งสิ้น 209 คน เพื่อปฏิบัติงานในด้านพัฒนาชุมชน โดยมุ่งตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนเป็นหลัก เช่น การพัฒนาระบบเกษตรอัจฉริยะ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ การบริหารจัดการน้ำชุมชน การส่งเสริมและพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์

“ในส่วนนี้ผมได้เน้นย้ำให้ทางมหาวิทยาลัยต้องพัฒนาหรือเพิ่มทักษะใหม่ให้กับผู้ได้รับการจ้างงานควบคู่ไปกับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นความรู้ภาษาอังกฤษ ความรู้ด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ความรู้ด้านการเงิน และความรู้ด้านสังคม เพื่อให้ผู้ได้รับการจ้างงานสามารถนำไปประกอบอาชีพใหม่ในยุคนิวนอร์มัลได้ หรือถ้าใครสนใจเป็นผู้ประกอบการ อว.ก็มีกองทุนในการเริ่มต้นธุรกิจให้ ผ่านกองทุนยุวสตาร์ทอัพของ อว.ได้เลย”

“ที่สำคัญ อว.จะระดมสรรพกำลังจากทุกหน่วยงานทั้งมหาวิทยาลัยและหน่วยงานวิจัยต่างๆ ของ อว. ในการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ โดยจะกำหนดให้ 1 ตำบล ต่อ 1 มหาวิทยาลัย ใช้โจทย์จากชุมชนเป็นที่ตั้ง แล้วดูว่าเราจะเข้าไปช่วยแก้ปัญหาหรือเติมเต็มสิ่งที่ขาดอย่างไร และจะนำบุคลากรจากโครงการจ้างงานเข้าไปร่วมทำงานกับชุมชน โดยเฉพาะการรวบรวมและจัดทำข้อมูลชุมชน เพื่อการแก้ปัญหาความยากจนที่สามารถระบุเป้าหมายชัดเจน ซึ่งจะเป็นการแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด” รมว.อว.กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น