ในที่ประชุม European Association for South Asian Archaeology and Art ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อ 8 ปีก่อน ได้มีรายงานการค้นพบว่า อารยธรรม Harappa ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณแม่น้ำสินธุ (Indus) ของประเทศอินเดียและปากีสถาน เมื่อ 4,000 ปีก่อน ชาวบ้านทำครัวและปรุงอาหารโดยใช้วัตถุดิบที่ไม่แตกต่างจากพ่อครัวในภัตตาคารอินเดียปัจจุบัน คือ ใช้เครื่องเทศ ขิง ขมิ้น ถั่วเขียว ข้าว ข้าวฟ่าง กล้วย ฯลฯ ซึ่งเป็นพื้นท้องถิ่น จะมีส่วนที่แตกต่าง คือ เทคโนโลยีการปรุงอาหาร ซึ่งหมายถึงเตาและอุปกรณ์ครัวต่างๆ
แม้อารยธรรม Harappa จะได้ล่มสลายไปเมื่อ 3,500 ปีก่อนก็ตาม และไม่มีเอกสารที่บันทึกว่า ชาว Harappa ใช้ชีวิตทำงานเช่นไร นับถืออะไร และกินอะไรเป็นอาหารหลัก แต่เมื่อนักโบราณคดีได้เห็นเมล็ดข้าวสาลี เมล็ดข้าวบาร์เล่ย์ และเมล็ดข้าวฟ่างที่ถูกเผาไฟจนไหม้เกรียมตกกระจัดกระจายอยู่ใกล้เตาที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่สำรวจ เขาก็รู้ในทันทีว่าข้าวคืออาหารหลักของชาวบ้าน แต่การจะรู้เพิ่มเติมว่า คนเหล่านั้นกินผักหรือผลไม้อะไรบ้าง นับเป็นเรื่องยาก เพราะนักวิจัยจะต้องวิเคราะห์สาร phytolith (อนุภาคแข็งที่พบในพืช ซึ่งประกอบด้วย silica เป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นแม้พืชจะเน่าสลายไปเป็นเวลานานแล้ว phytolith ก็ยังหลงเหลืออยู่
การวิเคราะห์ซากอาหารที่ตกค้างอยู่ตามซอกฟันของศพในสุสานที่อยู่ใกล้เมือง Farmana ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของเมือง Delhi ทำให้รู้ว่า เศษอาหารที่พบมาจากขิงและขมิ้น นอกจากนี้การวิเคราะห์อายุของซากอาหารที่เกาะติดอยู่ในภาชนะหุงหาอาหาร ก็แสดงให้รู้ว่ามันเป็นอาหารที่ปรุงขึ้นเมื่อ 4,700-4,200 ปีก่อน
นักวิจัยยังได้ศึกษาเศษอาหารที่ฟันของวัวที่ชาวบ้านเลี้ยงด้วย และพบว่า วัวก็กินอาหารที่ชาวบ้านทิ้งเป็นของเหลือ และนี่เป็นประเพณีที่ชาวรัฐ Gujarat ในอินเดียยังปฏิบัติมาจนทุกวันนี้ คือเอาเศษอาหารเหลือมาวางนอกบ้านให้วัวเดินมากิน
นอกจากข้าวชนิดต่างๆ แล้ว นักวิจัยยังได้พบ phytolith ของกล้วยที่ถูกเผาเพื่อให้การกินได้รสเค็ม และขิงที่นอกจากจะใช้บริโภคแล้ว ยังใช้รักษาโรค รวมถึงขมิ้นที่นอกจากใช้ย้อมผ้าแล้วยังใช้เป็นยาพอกด้วย
ส่วนการบริโภคของชาวยุโรปในอดีตเมื่อ 3,000 ปีก่อนนั้นก็สามารถรู้ได้จากการค้นหาเอกสารหรือบันทึกที่แสดงวิถีชีวิตของผู้คน แต่นักวิจัยต้องวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล เพราะบางบันทึกก็เขียนเกินจริง บ้างก็เป็นเพียงตำนานหรือเรื่องเล่า และบ้างเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ เช่น นักประวัติศาสตร์โรมันชื่อ Plutarch ได้เขียนบรรยายเกี่ยวกับอาณาจักร Phrygia (ในตุรกีปัจจุบัน) ในสมัยเมื่อ 2,330 ปีก่อน ว่ามีเมืองหลวงชื่อ Gordian ซึ่งมีกษัตริย์ผู้ทรงพระนามว่า Midas ทรงปกครอง ครั้นเมื่อจักรพรรดิ Alexander มหาราชทรงตีเมือง Gordian ได้ และทรงเห็นรถม้าซึ่งถูกล่ามด้วยเชือกที่ถูกผูกเป็นปมอย่างแน่นหนา จนเป็นที่เลื่องลือว่า ใครก็ตามที่สามารถแก้ปมได้ คนๆนั้นจะได้ครองโลก จักรพรรดิ Alexander จึงทรงลองแก้บ้าง แต่ไม่สำเร็จ พระองค์จึงทรงใช้พระแสงดาบฟัน Gordian’s knot จนขาด แล้วพระองค์ก็ได้ทรงครองโลก ตรงตามความเชื่อของคนทุกคนในเวลานั้น ในเวลาต่อมา
ไม่เพียงแต่ Plutarch เท่านั้นที่กล่าวถึงกษัตริย์ Midas นักประวัติศาสตร์กรีกชื่อ Herodotus ก็ได้บันทึกว่า Midas ทรงเป็นกษัตริย์ที่ทรงทศพิธราชธรรมมากจนเทพเจ้าทรงพอพระทัย และทรงประทานอนุญาตให้ Midas ทูลขอพรใดๆ ก็ได้ ซึ่ง Midas ก็ได้ทูลขอให้พระองค์ทางมีพระหัตถ์ศักดิ์สิทธิ์ ที่เวลาทรงหยิบหรือจับอะไรสิ่งนั้นก็จะกลายเป็นทองคำ เมื่อได้พร Midas ก็ทรงตกพระทัยมาก เพราะเวลาจะเสวยน้ำๆ ก็เป็นทอง จับแอปเปิลๆ ก็เป็นทอง เวลาทรงสัมผัสพระธิดา พระวรกายของนางก็แข็งเป็นทอง ฯลฯ Midas จึงทูลคืนพรต่อเทพเจ้า เมื่อได้รับอนุญาต พระองค์ได้เสด็จไปชำระพระวรกายที่แม่น้ำ Pactolus เพื่อสลายพร แล้วนำน้ำมาประพรมทุกสิ่งทุกอย่างให้คืนสภาพเดิม ส่วนน้ำในแม่น้ำก็ได้ทำให้ทรายที่ท้องน้ำกลายเป็นสี “ทอง” ตั้งแต่นั้นมา
ครั้นเมื่อ Midas เสด็จสวรรคต เมื่อประมาณ 700 ปีก่อนคริสตกาล ชาวเมืองได้จัดพิธีฝังศพที่ใหญ่โตและมโหฬารมาก มีงานเลี้ยงผู้คนจำนวนหมื่น เพราะขณะพระองค์ทรงมีชีวิต พระองค์ทรงธำรงไว้ซึ่งความยิ่งใหญ่ ดังนั้น เมื่อสิ้นพระชนม์ ความยิ่งใหญ่ของงานพระศพก็จะต้องสมน้ำสมเนื้อด้วย
ตำนาน Midas ได้เป็นที่เล่าขานกันมานาน จนทำให้นักโบราณคดีและนักประวัติศาสตร์ตัดสินใจค้นหาความจริง จึงได้ศึกษาอักษรลิ่มของชาว Assyrian และพบว่า Midas ทรงมีพระนามว่า Mita แห่งเมือง Mushki พระองค์ทรงเป็นอริราชศัตรูกับกษัตริย์ Sargon แห่งอาณาจักร Assyria และได้ครองเมืองในช่วง 732-705 ปีก่อนคริสตกาล แต่ในที่สุดอาณาจักรนี้ถูกชาว Cimmerian รุกรานและ Midas ได้สิ้นพระชนม์ด้วยการสังหารพระองค์เอง
เมื่อมีหลักฐานหลายรูปแบบการค้นหา Midas จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจ ดังนั้นในปี 1900 นักโบราณคดีชาวเยอรมันชื่อ Gustav Korte จึงเดินทางไปเมือง Yasskuyuk ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำ Sakkaya ในตุรกี เพื่อขุดหาเมือง Gordian ของอารยธรรม Phrygia โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ เพื่อค้นหาหลุมฝังพระศพของกษัตริย์ Midas แต่ไม่พบหลักฐานใดๆ ที่ยืนยันว่า เป็นพระองค์
อีก 50 ปี ต่อมา Patrick McGovern แห่งพิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัย Pennsylvania ที่เมือง Philadelphia ในสหรัฐอเมริกาได้ไปขุดหาที่ฝังพระศพกษัตริย์ Midas บ้าง
McGovern เป็นนักเคมีที่สนใจโบราณคดี การมีความสามารถทั้งสองด้านทำให้ ได้พบในปี 1988 ว่า ชาวอิหร่านโบราณที่อาศัยอยู่บริเวณภูเขา Zagros รู้จักทำเหล้าองุ่นเมื่อ 7,500 ปีก่อน โดย McGovern ได้วิเคราะห์ผลึก phytolith ที่เกาะติดอยู่ภายในภาชนะที่ทำด้วยทองสำริดและพบในบริเวณนั้น โดยใช้อุปกรณ์ infrared spectrometer วิเคราะห์ผลึกและพบโมเลกุลของกรด tartaric (จากองุ่น) พบ calcium oxalate ที่มาจากเบียร์ จึงรู้ว่าชาวอิหร่านโบราณรู้จักวิธีทำเหล้าองุ่นและเบียร์มาหลายพันปีแล้ว
ในปี 1957 ทีมนักวิจัยเดียวกันจากมหาวิทยาลัย Pennsylvania ยังได้พยายามขุดหาหลุมฝังศพของ Midas ต่อที่บริเวณเนิน Midas ซึ่งที่สูง 25 เมตร จนพบหลุมฝังศพ และได้ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน ค.ศ. 1957 ว่าได้พบพระศพอายุ 2,738 ปี ของชายที่มีอายุตั้งแต่ 60-65 ปี โลงพระศพทำด้วยไม้ cedar ทรงสวมพระสนับเพลา ประทับนอนบนหนังสัตว์ และมีผ้าลินินหุ้มโดยรอบ มีจาน ชาม และภาชนะปรุงอาหารที่วางถวายให้วิญญาณในพระองค์เสวยอย่างสมพระเกียรติ จึงได้วิเคราะห์เศษซากวัสดุที่เป็นเมล็ดพืช สมุนไพร และเครื่องเทศที่ใช้ในการปรุงอาหาร เพื่อให้รู้ว่า ชาว Phrygia มีความเป็นอยู่อย่างไร กินอะไร ใช้อะไรเป็นเครื่องดื่ม นี่จึงเป็นการศึกษาโบราณคดีแนวใหม่ที่แตกต่างจากแนวเดิม ที่มุ่งศึกษาวิถีชีวิตของชนชั้นสูง โดยไม่ได้ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตของคนทั่วไป และพบว่าสามารถกระทำได้โดยใช้ความรู้ด้านชีววิทยาเชิงโมเลกุล (molecular biology) วิเคราะห์อาหารที่ตกค้างอยู่ในภาชนะที่ใช้ในงานเลี้ยง เนื่องในโอกาสการเสด็จสวรรคตของ Midas ที่จัดอย่างยิ่งใหญ่ เพราะได้อัญเชิญเทพธิดา Matar มาร่วมงานด้วย
เพราะในหลุมพระศพมีแก๊สออกซิเจนน้อย ดังนั้นซากอาหารจึงมีหลงเหลืออยู่บ้าง แม้จะมีกลิ่นหืนก็ตาม การใช้เทคนิค liquid chromatography วิเคราะห์หยดของเหลว และ gas chromatography วิเคราะห์แก๊ส เพื่อหา lipid, triglyceride, glycol, fatty acids, cholesterol กรด caproic และ caprylic, ไขมันในเนื้อแกะ และเนื้อแพะที่ถูกย่าง สาร polycyclic, aromatic, hydrocarbon ที่ใช้ในการหมักเนื้อสัตว์เพื่อทำ เนื้อ barbecue จนรู้ว่าชาว Phrygia นิยมบริโภคถั่ว lentil เพราะได้พบสาร chondrillasterol และกรด oleic กับ anesic จึงรู้ว่าพ่อครัวใช้น้ำมันมะกอกในการชโลมเนื้อก่อนย่าง
นอกจากอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ต่างๆ ดังกล่าวแล้ว นักวิจัยยังใช้ mass spectrometer โดยนำสารที่ต้องการวิเคราะห์ใส่ในภาชนะสุญญากาศ และยิงลำอิเล็กตรอนไปที่สาร เพื่อให้โมเลกุลในสารแตกตัวเป็นอะตอมและไอออน แล้วปล่อยให้อนุภาคเหล่านี้ ผ่านเข้าไปในสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูง บรรดาไอออนที่มีประจุจะเคลื่อนที่เป็นครึ่งวงกลมที่มีรัศมีต่างๆกัน ซึ่งขึ้นกับมวล และประจุที่มันมี การวัดรัศมีจะให้ข้อมูลที่เป็นเอกลักษณ์ของไอออนแต่ละชนิด
การวิเคราะห์ในลักษณะนี้ ทำให้รู้ว่า ชาว Phrygia กินแกะย่าง โดยได้ชโลมด้วยน้ำมันมะกอกก่อน แล้วใส่เครื่องเทศ ในส่วนของเครื่องดื่มนั้น นิยมดื่ม kykeon ซึ่งเป็นเหล้าองุ่นที่เติมน้ำผึ้ง แต่ไม่ปรุงด้วยมะเขือเทศ ข้าวโพด มะเขือ ฯลฯ เพราะพืชเหล่านี้ยังไม่มีปลูกใน Mesopotamia จนกระทั่ง Columbus พบอเมริกาในปี 1492 พืชจากอเมริกาใต้ จึงเริ่มมีการนำมาปลูกในยุโรป
ด้านคัมภีร์ใบเบิลน์ก็เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ด้านโภชนาการที่ใช้ได้หลายส่วนเพื่อการวิจัยทางโบราณคดี เช่น เวลามีการสงสัยว่า ในสมัยพระเยซูชาวบ้านปลูกต้นไม้อะไร ปลูกดอกไม้อะไรในสวนและกินอะไร แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าที่ทอด้วยใยอะไร จัดทำพิธีศพอย่างไรและมีพิธีแต่งงานอย่างไร ฯลฯ ข้อมูลเหล่านี้อาจจะรู้ได้จากการวิเคราะห์เอกสารในคัมภีร์ ซึ่งได้มีการกล่าวถึงประปราย เช่น Adam กับ Eve ในสวน Eden ได้กินแอปเปิล พระเยซูทรงเนรมิตน้ำธรรมดาเป็นเหล้าองุ่น และทรงแบ่งขนมปังให้บรรดาสานุศิษย์กิน เหล่านี้คือข้อมูลด้านอาหารในสมัยพระเยซู
Tova Dickstein เป็นนักประวัติศาสตร์ที่สนใจชีวิตผู้คนในอิสราเอล เมื่อ 2,000 ปีก่อนมาก เขาได้จัดสร้างสวน Neot Kedumim บนพื้นที่ 250 เฮกตาร์ ให้เป็นปลูกพืชสมุนไพร ต้นไม้ ดอกไม้ และธัญพืชต่างๆตามที่มีการกล่าวถึงในคัมภีร์ไบเบิล ตำราอาหารในคัมภีร์ Mishana ของชาวยิว ก็มีการกล่าวถึงการใช้มะกอก มะเดื่อ อินทผลัม องุ่น ข้าวบาร์เลย์ ฯลฯ ในการปรุงอาหาร และใช้ถั่วแดง lentil บดผสมกับงา sesame เป็นพระยาหารโปรดของกษัตริย์ Solomon ด้วย
ด้านชาวบ้านนั้นไม่นิยมกินเนื้อ เพราะไม่มีการเลี้ยงสัตว์ฝูงใหญ่ และศาสนายิวห้ามการกินเนื้อสัตว์ ส่วนอาหารหลักของชาวบ้าน คือ ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ถั่ว lentil เนยแข็งและผลไม้ สำหรับเหล้าองุ่นนั้นนิยมดื่มในเวลาเช้า สำหรับอาหารเย็น นิยมกินถั่ว ผักกับขนมปัง และชาวบ้านกินอาหารวันละ 2 มื้อ คือ มื้อแรกระหว่างเวลาทำงานก่อนเที่ยงกับมื้อที่สองในเวลาบ่ายจัด โดยภรรยาจะปรุงอาหารให้สามี การวิเคราะห์อาหารที่บริโภค แสดงให้เห็นว่า ผู้คนได้อาหารวันละ 1,800-2,000 แคลอรี ซึ่งนับว่ามีคุณค่าพอๆกับที่ชาวตะวันตกได้ในปัจจุบัน นอกจากนี้ก็ยังดื่มนมและใช้นมทำเนยแข็ง และทำขนมปังจากเมล็ดข้าวบาร์เลย์ โดยนำมาบดเป็นแป้งแล้วนำไปหมักเป็น dough ให้ฟู จากนั้นก็นำไปเผาจนได้ขนมปัง
ในส่วนของประวัติการทำขนมปัง Amai Arrnaz Otaegui แห่งมหาวิทยาลัย Copenhagen ในเดนมาร์กได้รายงานการวิเคราะห์เศษซากขนมปังที่พบ ณ เมือง Shibayqa ในจอร์แดนว่า ผู้คนในถิ่นนั้นได้พบวิธีทำขนมปังตั้งแต่ 14,000 ปีก่อน รายงานนี้ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences ในปี 2018
เหล่านี้คือวิทยาการด้านโบราณคดียุคใหม่
ไม่ทราบว่า ภาชนะบ้านเชียง จะมีเศษซากอาหารหลงเหลือให้เรารู้ว่า เมื่อ 3,000 ปีก่อน คนแถบนั้นกินอะไร หรือไม่
อ่านเพิ่มเติมจาก Biomolecular Archaeology : An Introduction โดย T.A. Brown และ K.A. Brown ซึ่งจัดพิมพ์ โดย Malden : Wiley – Blackwell ปี 2011
สุทัศน์ ยกส้าน
ประวัติการทำงาน-ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ สาขาฟิสิกส์และดาราศาสตร์ และ ศาสตราจารย์ ระดับ 11 ภาควิชาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, นักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ สาขากายภาพและคณิตศาสตร์ ประวัติการศึกษา-ปริญญาตรีและโทจากมหาวิทยาลัยลอนดอน, ปริญญาเอกจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย
อ่านบทความ "โลกวิทยาการ" จาก "ศ.ดร.สุทัศน์ ยกส้าน" ได้ทุกวันศุกร์