xs
xsm
sm
md
lg

วว.นำร่องวิจัยผลิตผักไร้ดินที่กาฬสินธุ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผักไร้ดิน
วว.นำร่องจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นพื้นที่ต้นแบบดำเนินการ โดยวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีผลิตผักไร้ดิน ในระบบเกษตรปลอดภัย มุ่งพัฒนาเป็นพื้นที่ต้นแบบ สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการ ตลอดห่วงโซ่อุปทานการผลิต

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว. โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้าไปดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตผักไร้ดินหรือไฮโดรโปนิกส์ (hydroponics) ในระบบเกษตรปลอดภัย โดยนำร่องโครงการในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งมีความพร้อมในการเป็นพื้นที่ต้นแบบการยกระดับพื้นฐานของเกษตรกร และเป็นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์

“ระยะเวลาดำเนินงาน 12 เดือน ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป เพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มให้เป็นพื้นที่ต้นแบบปลูกพืชผักในระบบเกษตรปลอดภัย สร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการตั้งแต่ระดับต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายให้ได้ผลผลิตผักไร้ดินที่ปลูกในระบบปลอดภัยที่มีคุณภาพผ่านเกณฑ์มาตรฐานระบบเกษตรปลอดภัย รวมทั้งได้ผลผลิตผักไร้ดินในระบบเกษตรปลอดภัย เพื่อการบริโภค และจำหน่าย จำนวน 350 กิโลกรัม ต่อเดือน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เฉลี่ยมากกว่ากลุ่มละ 10,500 บาทต่อเดือน จากการจำหน่ายผลผลิตผักปลอดภัยในระบบไฮโดรโปนิกส์” ดร.ชุติมากล่าว

ด้าน ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า ผักไร้ดินเป็นผักที่มีคุณค่าทางอาหารสูง และไม่มีสารเคมีที่เป็นพิษต่อร่างกาย มีความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูง เนื่องจากการปลูกผักไร้ดินเป็นการนำสารละลายธาตุอาหารมาปลูกเลี้ยง โดยใช้ธาตุอาหารที่เหมาะสมกับความต้องการของพืช ผู้บริโภคจึงได้รับประทานผักสดสะอาดที่มีความปลอดภัยสูง

“ข้อดีของการบริโภคผักไร้ดิน คือ การคงคุณค่าทางโภชนาการและคุณประโยชน์ที่โดดเด่นสูงสุดของผักเอาไว้ได้อย่างเต็มที่ เช่น กากใยอาหาร ที่เป็นตัวช่วยในการล้างผนังลำไส้และเป็นตัวช่วยในระบบการขับถ่าย และมีผลการรับรองว่าพืชผักไร้ดินจะมีปริมาณแร่ธาตุที่เป็นประโยชน์เท่ากับพืชผักที่ปลูกบนดินหรือสูงกว่าเล็กน้อย และพืชผักไร้ดินจะมีกลิ่นที่มาจากน้ำมันหอมระเหยและมีรสชาติน่าชวนชิมมากกว่าพืชผักที่ปลูกบนดิน” ดร.อนันต์กล่าว

สำหรับผักไร้ดินที่นิยมส่วนใหญ่จะเป็นผักสลัดที่นำมารับประทานสด เช่น ผักกรีนคอส (Green Cos) เป็นผักที่อุดมไปด้วยธาตุเหล็กที่ช่วยป้องกันโรคโลหิตจาง นอกจากจะใช้เป็นส่วนประกอบในสลัดแล้ว ยังนิยมนำไปผัดน้ำมันอีกด้วย สำหรับผักกรีนโอ๊ค (Green Oak) หรือ ผักเรดโอ๊ค (Red Oak) เป็นผักที่อุดมไปด้วยวิตามินเอ วิตามินซี โฟเลท และธาตุเหล็ก ส่วนผักเรดคอรัล (Red Coral) เป็นผักที่อุดมไปด้วยใยอาหาร โฟเลท สารต้านอนุมูลอิสระ รวมไปถึงเบต้าแคโรทีน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผักบัตเตอร์เฮด (Butterhead) เป็นผักที่อุดมไปด้วยโฟเลทและสารต้านอนุมูลอิสระ

นอกจากนี้ ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ ยังได้กล่าวถึงความปลอดภัยของผักไร้ดินว่า การปลูกพืชแบบไร้ดินหรือปลูกพืชในดิน พืชจะต้องดูดใช้อาหารในรูปของประจุของแร่ธาตุ ซึ่งก็เรียกว่าเป็น เคมี เช่นกัน โดยพืชจะนำเอาแร่ธาตุต่างๆ ไปใช้ในการสร้างสารประกอบอินทรีย์โมเลกุลใหญ่อื่นๆ ได้แก่ โปรตีน แป้ง ไขมัน หรือวิตามินต่างๆ ส่วนการสะสมของไนเตรทที่เป็นอนุมูลของไนโตรเจนนั้น พืชต้องการนำไปใช้มากในช่วงการพัฒนาด้านลำต้น กิ่ง หรือใบ ซึ่งถ้ามีปริมาณการสะสมไม่เกิน 2,500-3,000 มิลลิกรัมต่อหนึ่งกิโลกรัมน้ำหนักสดของผัก ก็ถือว่าเป็นผักที่ปลอดภัย

สำหรับพื้นที่การปลูกเลี้ยงในประเทศไทยมีแสงแดดค่อนข้างจัด พืชจึงมีการสังเคราะห์แสงแดดค่อนข้างสูง ทำให้อัตราการเปลี่ยนแปลงไนเตรทในต้นพืชกลายเป็นกรดอะมิโนกลูตาเมทเกิดขึ้นค่อนข้างเร็ว ส่งผลให้มีปริมาณของไนเตรทลดลง อีกทั้งการปลูกผักไร้ดินยังสามารถลดปริมาณไนเตรทก่อนการเก็บเกี่ยวได้ง่าย โดยการงดให้ธาตุอาหารหรือเลี้ยงพืชในอัตรา EC ต่ำกว่า 1.0 ประมาณ 1-3 วัน ก่อนการเก็บเกี่ยวพืชก็จะสามารถช่วยลดปริมาณของไนเตรทได้

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือขอรับคำแนะนำปรึกษาด้านการปลูกผักไร้ดิน ติดต่อได้ที่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ วว. (ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ) โทร. 0 2577 9000 อีเมล tistr@tistr.or.th

 ผักไร้ดิน

ผักไร้ดิน

ผักไร้ดิน

ผักไร้ดิน

โรงเรือนผลิตผักไร้ดิน

ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต

ดร.อนันต์ พิริยะภัทรกิจ


กำลังโหลดความคิดเห็น