xs
xsm
sm
md
lg

เส้นทางวิบากสู่ “แอนตาร์กติกา” ของนักวิทย์ยูเครนในยุคโควิด-19

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ทีมวิจัยยูเครนระหว่างมุ่งหน้าสู่แอนตาร์กติกา (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)
ในขณะที่นาซาส่งมนุษย์อวกาศขึ้นสู่วงโคจรได้ฉลุย แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ยูเครนที่มีกำหนดเดินทางสู่แอนตาร์กติกากลับเผชิญอุปสรรคมากมายกว่าจะไปถึงเป้าหมาย เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางแสนวิบากยิ่งลำบากมากขึ้น

การเดินทางสู่แอนตาร์กติกาครั้งล่าสุดของ ยูริย์ โอรูบา (Yuriy Otruba) นักวิทยาศาสตร์ยูเครนวัย 34 ปี นับเป็นการเดินทางครั้งที่ 6 แล้ว แต่การเดินทางครั้งนี้ลำบากยิ่งกว่าเดิม เพราะระหว่างที่เขาเตรียมตัวมุ่งสู่ขั้วโลกใต้นั้น โควิด-19 ก็ระบาดหนักแล้ว จนทำให้หลายประเทศต้องปิดพรมแดน สายการบินยุติการบิน และเข้าสู่การปิดเมือง ซึ่งหนึ่งในนั้นมีประเทศที่เป็นทางผ่านไปสู่ปลายทาง

ปกติแล้วการเดินทางจากเมืองเคียฟเมืองหลวงของยูเครน สู่ฐานวิจัยอะกาเดมิก เฟอร์นัดสกี (Akademik Vernadsky research base) ที่ตั้งอยู่บนเกาะกาลินเดซ (Galindez Island) ในทวีปแอนตาร์กติกานั้นจะใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์

โอทรูบามีภารกิจเดินทางสู่สถานีวิจัยที่แอนตาร์กติกามาตั้งแต่ปี ค.ศ.2009 แต่สถานการณ์ปีนี้ทำให้เขาหวั่นใจว่า อาจจะเดินทางไปทำวิจัยไม่ได้ เพราะหลายประเทศมีมาตรการปิดเมืองที่ค่อนข้างเข้มงวดเนื่องจากการระบาดของโควิด-19 และครั้งนี้เขาพร้อมทีมวิจัยร่วม 10 ชีวิต ต้องเริ่มต้นเดินทางใหม่หลายครั้ง และต้องใช้เวลาเดินทางมากกว่า 4 สัปดาห์ เพราะต้องเดินทางผ่านหลายทวีป รวมถึงต้องผ่านมาตรการจำกัดคนเข้าออกเมืองที่เข้มงวดอีกหลายครั้ง กว่าจะไปถึงปลายทาง

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่าโอกาสของเราลดลงๆ ลดลงเรื่อยๆ” โอทรูบา ซึ่งเป็นนักธรณีฟิสิกส์และได้รับหน้าที่เป็นหัวหน้าทีมวิจัยเป็นครั้งแรกในการเดินทางครั้งนี้ พร้อมทั้งบรรยายผ่านการโทรศัพท์ทางไกลจากแอนตาร์กาไปถึงผู้สื่อข่าวว่า แอนตาร์กติกานั้นเป็นสถานที่สวยงามแค่ไหน ซึ่งที่ฐานวิจัยของยูเครนนั้นรายล้อมไปด้วยภูเขาที่ปกคลุมด้วยหิมะ ซึ่งเป็นลักษณะทางกายภาพของแอนตาร์กติกาที่สะอาดและบริสุทธิ์

“เมื่อคุณมาถึงที่นี่ครั้งแรก คุณเหมือนตกอยู่ในมนต์สะกด” โอทรูบากล่าว

ทางด้าน เยฟเกน ดีคืย (Yevgen Dykyi) หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์แอนตาร์กติกาแห่งยูเครน (National Antarctic Scientific Center) กล่าวว่า การระบาดของโคโรนาไวรัสปีนี้เป็นอุปสรรคที่แตกต่างจากปกติมากๆ และการเดินทางสู่ฐานวิจัยในปีนี้ก็เป็นการเดินทางที่ยาวนานและยากลำบากที่สุดในรอบหลายๆ ปี

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ยูเครนจะประจำอยู่ที่ฐานวิจัยเป็นเวลาไม่เกิน 1 ปี โดยจะมีทีมใหม่เข้าไปผลัดเปลี่ยนในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งฐานวิจัยที่พวกเขาประจำอยู่นั้นเป็นฐานวิจัยเดิมของอังกฤษที่ชื่อสถานีฟาราเดย์ (Faraday station) ที่ก่อตั้งเมื่อปี ค.ศ.1947 และเมื่อปี ค.ศ.1996 อังกฤษได้มอบสถานีวิจัยให้แก่เคียฟที่ภายหลังเปลี่ยนชื่อสถานีเป็นชื่อปัจจุบัน เพื่อเชิดชู โวโลดีมีร์ เฟอร์นัดสกี (Volodymyr Vernadsky) นักวิทยาศาสตร์ชาวยูเครน

แผนการเดินทางเดิมคือนำทีมวิจัยใหม่ไปยังแอนตาร์กติกาผ่านทางชิลีหรืออาร์เจนตินา จากนั้นโดยสารทางเรือไปยังฐานวิจัย ซึ่งปกติจะใช้เวลา 1 สัปดาห์ และในวันที่ 16 มี.ค.คณะเดินทางที่ 25 ของยูเครน ซึ่งประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ 6 คน และทีมงานสนับสนุนอีก 5 คน เป็นผู้ชาย 10 คน และผู้หญิง 1 คน เลือกเดินทางไปยังประเทศที่ปลอดจากการระบาดของไวรัส โดยไปลงปลายทางที่อิสตันบูลของตุรกี แต่พวกเขาไม่สามารถเดินทางไปยังโคลอมเบีย เพื่อต่อไปยังชิลีได้ เนื่องจากทั้งสองประเทศประกาศปิดพรมแดน

การเดินทางครั้งนั้นล้มเหลวทั้งหมดจึงเดินทางกลับยูเครนเพื่อกักกันตัวเอง และหาเส้นทางอื่นๆ ซึ่งคราวนี้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากนักการทูตยูเคน แต่ความพยายามต่อมาอีกหลายครั้งก็ล้มเหลว เนื่องจากการยกเลิกของเที่ยวบิน 2 ครั้งต่อมา สุดท้ายกระทรวงการต่างประเทศของยูเครนจึงเลือกทำสิ่งที่ไม่น่าจะเป็นไปได้ นั่นคือการ “เช่าเหมาลำ” แล้วจัดการขออนุญาตเพื่อเข้าประเทศที่มีพรมแดนเชื่อมต่อสู่ชิลี และทีมวิจัยได้ออกเดินทางอีกครั้งช่วงปลายเดือน มี.ค. โดยออกจากเคียฟไปยังกาตาร์ บราซิลและจบลงที่ชิลี

โอทรูบาเล่าวว่า มีหลายขั้นตอนมากกว่าจะไปถึงชิลี ซึ่งได้ประกาศปิดเมืองเมื่อพวกเขาเดินทางไปถึงพอดี โดยเที่ยวบินจากกาตาร์และบราซิลนั้นอัดแน่นเป็นปลากระป๋อง อีกทัง้มีบางคนบนเที่ยวนั้น ต้องสงสัยว่าอาจจะติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ทั้งคณะต้องสงสัยว่าอาจจะติดโรค ดังนั้นเมื่อไปถึงตอนใต้ของชิลี ทีมวิจัยยูเครนต้องกักตัวที่โรงแรมเป็นเวลา 2 สัปดาห์ ก่อนที่จะโดยสารทางเรือ ที่บรรทุกอาหาร เชื้อเพลิงและอุปกรณ์วิจัยมุ่งสู่แอนตาร์กติกา และทีมวิจัยก็ไปถึงปลายทางเมื่อ 21 เม.ย.ที่ผ่านมา

เพื่อป้องกันไว้ก่อนทีมวิจัยยูเครนได้นำถังออกซิเจนและอุปกรณ์ให้ออกซิเจนทางการแพทย์ไปด้วย เผื่อไว้ในใช้ในกรณีที่สมาชิกทีมมีอาการของโรคจากการติดเชื้อไวรัส และยังมีอาคารของสถานีวิจัยที่ใช้เป็นสถานีที่กักตัวได้ในกรณีเลวร้ายที่สุด และเมื่อทิ้งปัญหาการระบาดของโรคไว้เบื้องหลังแล้ว ตอนนี้ทีมสำรวจซึ่งประกอบด้วยนักชีววิทยา นักฟิสิกส์ และนักอุตุนิยมวิทยาอีก 3 คน ก็ใส่ใจกับงานวิจัยและสภาพแวดล้อมได้อย่างเต็มที่

“ที่นี่เรามีแมวน้ำ ทั้งแมวน้ำกินปู แมวน้ำเสือดาว และระหว่างที่เราล่องเรือมายังสถานีวิจัย ก็ยังมีวาฬอีกจำนวนมาก มีคนจำนวนน้อยที่จะได้เห็นเพนกวินหรือวาฬตัวเป็นๆ ในธรรมชาติ มันเหมือนมนต์สะกด” โอทรูบาเล่า

ทิวทัศน์ของแอนตาร์กติกาก่อนถึงสถานีวิจัยยูเครน (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)

 เพนกวินใกล้ๆ สถานีวิจัยของยูเครน (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)

เส้นทางสู่แอนตาร์กติกา (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)

ทีมวิจัยยูเครนระหว่างมุ่งหน้าสู่แอนตาร์กติกา (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)

 สถานีวิจัยของยูเครน (Yevgen Prokopchuk / 25th Ukrainian Antarctic Expedition / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น