เอเจนซีส์ – กลายเป็นปัญหาภาวะโลกร้อนไปแล้วเมื่อพบว่าทางตะวันตกของนอร์เวย์ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนตั้งแต่ต้นเดือนมกราคมส่งผลทำให้สภาพอากาศฤดูหนาวแต่เดิมที่ต้องต่ำกว่าจุดเยือกแข็งในแถบสแกนดิเนเวียกลับพุ่งอยู่ที่ 19 องศาเซลเซียส ทำลายสถิติสูงสุดของเดือนมกราคมเท่าที่เคยมีการจดบันทึกมา
บีบีซีสื่ออังกฤษรายงานเมื่อวานนี้(2 ม.ค)ว่า ระดับอุณหภูมิ 19 องศาเซลเซียสหรือราว 66 องศาฟาเรนไฮต์ นั้นพบว่าถูกวัดได้ที่หมู่บ้านซุนน์ดาลโซรา( Sunndalsora) ทางตะวันตกของนอร์เวย์สูงกว่าโดยเฉลี่ยของเดือนกว่า 25 องศาเซลเซียส
และส่งผลทำให้กลายเป็นเดือนมกราคมที่มีอากาศอบอุ่นมากที่สุดเท่าที่เคยมีการจดบันทึกมาของนอร์เวย์ที่ติดกับขั้วโลกเหนือ ซึ่งในขณะที่คนจำนวนมากอาจจะมีความสุขกับอากาศที่อบอุ่น แต่ยังมีจำนวนมากที่วิตกถึงสภาพการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศของโลก
ด้าน Yvonne Wold นายกเทศมนตรีเมือง Rauma ที่ได้มีโอกาสแหวกว่ายในทะเลในช่วงต้นของวันให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า “ถือเป็นการจดบันทึกสภาพอากาศอบอุ่นครั้งใหม่ที่นี่...ผู้คนได้ออกไปตามท้องถนนในสภาพเสื้อยืดตัวเดียวในวันนี้” และเสริมต่อว่า “คนจำนวนมากในช่วงเวลานี้จะเล่นสกี แต่ไม่มากเท่าใดของวันนั้น”
ในขณะที่สภาพอากาศร้อนถือเป็นเรื่องใหม่ แต่นายกเทศมนตรีหญิงนอร์เวย์ชี้ว่า มีการวิตกถึงวิกฤตทางสภาวะอากาศที่มีอุณหภูมิเพิ่มขึ้น โดยนักอุตุนิยมวิทยาประจำบีบีซีชี้ว่า อุณหภูมิสูงสุดในเดือนมกราคมปีที่แล้วที่หมู่บ้านซุนน์ดาลโซราถูกวัดได้ที่ 17.4 องศาเซลเซียส และยังเป็นการทำลายสถิติเท่าที่เคยมีมาของเดือนในฤดูหนาวของแถบสแกนดิเนเวียทั้งหมด (ตั้งแต่ธันวาคม-กุมภาพันธ์)
ระหว่างที่อุณหภูมิอบอุ่นขึ้นในเดือนธันวาคมในแถบสแกนดิเนเวีย แต่กลับพบว่าที่หมู่บ้านแห่งนี้มีอุณหภูมิที่อบอุ่นเป็นพิเศษ โดยมีตัวการคือลมร้อนที่เรียกว่า "ลมโฟเอห์น" หรือ Foehn wind ที่เกิดขึ้นในแถบภูเขาที่ลมพัดผ่าน และพื้นที่ยังมีอุณหภูมิเดือนธันวาคมอยู่ที่ 18.3 องศาเซลเซียส และเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 18.9 องศาเซลเซียส เป็นสถิติสูงสุดของนอร์เวย์
บีบีซีรายงานก่อนหน้าว่า ปรากฎการณ์ลมร้อนดังกล่าวสร้างความกังวลในหมู่นักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาขั้วโลกใต้และทวีปแอนตาร์กติกาว่า ชั้นน้ำแข็งสำคัญที่อยู่ทางตะวันออกของคาบสมุทรแอนตาร์กติก เช่นชั้นน้ำแข็งลาร์เซน ซี ซึ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งกว่า 5,000 ตารางกิโลเมตรกำลังใกล้จะแตกออกและหลุดลอยสู่มหาสมุทร จะยิ่งได้รับผลกระทบจนเกิดการละลายตัวและพังทลายเร็วยิ่งขึ้น