ชาวบุรีรัมย์ทำธนาคารอาหารสู้ภัยโควิด-19 แนะภาคเกษตรต้องปรับตัวตลอดห่วงโซ่
สกสว.เผยชาวบ้านลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ร่วมกันพลิกฟื้นที่ดินว่างเปล่าหันมาปลูกผักปลอดสารพิษเพื่อเป็นธนาคารอาหารของหมู่บ้านสู้ภัยโควิด-19 ในช่วงกักตัวปิดหมู่บ้าน ขณะที่นักวิชาการด้านสหกรณ์แนะหลังเปิดเมือง ภาคเกษตรต้องปรับตัวสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงจากเกษตรกรสู่ผู้บริโภค พัฒนามาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ภายใต้มาตรฐานสุขอนามัย
ผศ.อุทิศ ทาหอม หัวหน้าโครงการรูปแบบการพัฒนาศักยภาพทุนทางวัฒนธรรม เพื่อรองรับการท่องเที่ยวชุมชนอย่างยั่งยืนบ้านห้วยหวายพัฒนา ตำบลโคกสะอาด อำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ ซึ่งได้รับการสนับสนุนการจากฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า เขาและคณะวิจัยชาวบ้านได้ร่วมกันพัฒนาพื้นที่แหล่งน้ำหนองโดนให้เป็นพื้นที่ “กินได้ เที่ยวได้ ขายได้” เมื่อมีปัญหาวิกฤตโควิ-19 ชาวบ้านจึงร่วมกันปลูกพืชผักสวนครัวไว้รับประทานสำหรับเป็นธนาคารอาหาร (Food Bank)
หลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางการได้สั่งปิดการเข้าออกหมู่บ้าน ชาวชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนาต้องกักตัว กักตุนอาหาร เว้นห่างระยะ เขาจึงขยายผลงานวิจัยด้วยการชักชวนชาวบ้านร่วมกันพลิกฟื้นพื้นที่ว่างเปล่าของชุมชนบ้านห้วยหวายพัฒนา รอบคูสระหนองโดน จำนวน 15 ไร่ ที่ทิ้งไว้เฉยๆ ให้เกิดประโยชน์ ทำแปลงผักปลอดสารพิษจำนวน 51 แปลง กลายเป็นพื้นที่ทำกินของชุมชนและสร้างฐานอาหารรับมือวิกฤตโควิด-19
“แปลงผักปลอดสารพิษที่ชาวชุมชนได้ร่วมกันปลูก เมื่อได้ผลผลิตแล้วก็แบ่งกันทั้งชุมชน นอกจากการบริโภคในครัวเรือนแล้วยังนำไปขายในตลาดอำเภอลำปลายมาศ และมีพ่อค้าแม่ค้ามารับซื้อในชุมชน กลายเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ ทำให้ชาวบ้านไม่ต้องออกไปซื้อหาอาหารภายนอกซึ่งเสี่ยงต่อการติดโรค และช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ การที่ชุมชนได้ยกระดับฐานทรัพยากร พื้นที่และแหล่งน้ำสาธารณะ มาทำให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม จึงนับเป็นผลลัพธ์ของกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นของชุมชนที่สามารถทำให้เกิดการเตรียมตัวรับมือต่อสภาวการณ์ที่เปลี่ยงแปลงได้เป็นอย่างดี”
ขณะที่ รศ.จุฑาทิพย์ ภัทราวาท ผู้อำนวยการสถาบันวิชาการ ด้านสหกรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในนักวิจัยที่รับทุนจาก สกสว. ระบุถึงมาตรการช่วยเหลือภาคการเกษตรหลังยกเลิกล็อกดาวน์ ว่าการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากที่ใช้นวัตกรรม ภาคการเกษตรมีแนวทางที่จะทำให้อยู่ร่วมกันได้และปลอดภัย โดยภาคเกษตรหลายแห่งมีผู้ประกอบการอยู่ในห่วงโซ่คุณค่า (value chain) อยู่แล้ว หากรัฐบาลจะเปิดสถานที่ต่าง ๆ ก็มองว่าสิ่งที่น่าจะทำได้ ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือผู้ว่าราชการจังหวัดน่าจะใช้ระบบเครือข่ายหรือห่วงโซ่คุณค่า ที่มีฉากทัศน์และกระบวนทัศน์ในการเชื่อมโยงผลผลิตจากเกษตรกรไปสู่บริโภคได้อย่างไร
“เราจำเป็นจะต้องปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ในการพัฒนาภาคการเกษตร เช่น ข้าวเคมีเปลี่ยนเป็นข้าวที่ปลอดภัยได้มาตรฐานตามระบบจัดการคุณภาพ (GAP) ส่งเสริมการจัดทำแผนธุรกิจ เช่น ในระยะแรกของการเปิดเมืองอาจจะขายให้สมาชิกสหกรณ์ในพื้นที่แทนที่จะส่งออกไปต่างประเทศ ถ้ามองการพัฒนาเศรษฐกิจและสุขภาวะไปด้วยกัน ก็น่าจะชวนผู้ประกอบการมาคุยฉากทัศน์ในระยะยาว ถึงการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร ตลาดเป้าหมายจะเป็นอย่างไร พัฒนามาตรฐานสินค้าผลิตภัณฑ์ภายใต้มาตรฐานสุขอนามัย"
ด้าน นายศิริชัย จันทร์นาค ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตรบ้านลาด จำกัด จังหวัดเพชรบุรี กล่าวว่า ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 การเคลื่อนย้านสินค้าเกษตรทำได้ยากขึ้น ตัวแทนเกษตรกรปิดตลาดไปเป็นจำนวนมาก โดยตนเห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีวิธีการผ่อนปรนคน 3 กลุ่ม ที่ไล่จากความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงกลาง และความเสี่ยงสูง อย่างไรก็ตาม คำสั่งเรื่องการขนส่งผลผลิตสินค้าเกษตรน่าจะเป็นของส่วนกลาง เพื่อให้แต่ละจังหวัดได้นำไปปฏิบัติและแก้ปัญหาเรื่องการขนส่งได้
"ทั้งนี้ จะต้องวางแผนกันว่าเกษตรกรจะปลูกอะไร ปลูกแล้วจะขายได้หรือไม่ เมื่อหยุดการผลิตในช่วงนี้เราก็ต้องวางแผนข้างหน้า การส่งออกยังพอทำได้ก็ทำ แต่ตลาดในประเทศถ้าขนส่งไม่ได้ก็ระบายผลผลิตภายในชุมชน สิ่งที่หน่วยงานรัฐควรทำคือการประสานกับหน่วยงานเกษตรกรในพื้นที่"