อยู่รอดท่วมกลางวิกฤต ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง
“คือมันก็ไม่ถึงเรียกว่ากักตุน แต่มันก็คือข้อดี เนื่องจากว่าแบบเรามีอยู่แล้ว คือสิ่งที่เราทำมันก็มีอยู่แล้ว สามารถลดทอนค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว แล้วพอมีวิกฤตพวกนี้ขึ้นมาความเดือดร้อน หรือความลำบากมันอาจจะลดน้อยกว่าคนอื่นบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของอาหารการกิน เพราะว่ามันมีอยู่แล้วในสวน”
เจ๋ง-อรรถกานนท์ พิมพ์วงศ์ ชายวัย 53 ปี เกษตรกลางกรุง “สวนในศีล” พร้อมทั้งเป็นอดีตโปรดิวเซอร์มือทอง รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ช่อง 3 ที่ผันตัวเองลาออกจากงาน สร้างกิจกรรมให้ลูกชายด้วยการทำเกษตรพอเพียง
ย่านพหลโยธิน 52 บนพื้นที่ 1 ไร่ ใจกลางกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นพื้นที่ของ “สวนในศีล” ที่มีทั้งบ้านอยู่อาศัย ทั้งแปลงผัก เลี้ยงไก่ และ บ่อกุ้ง ที่ลงทุนลงแรงปลูก และเลี้ยงด้วยตัวเอง อย่างปลอดสารเคมี
ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ที่ชาวโลกต้องเผชิญกันอย่างต่อเนื่อง ยิ่งในยามที่ประเทศไทยกำลังเผชิญกับวิกฤตเรื่องของราคาไก่ไข่ที่แพงขึ้น หาซื้อกันแทบไม่ได้ ครอบครัวนี้ไม่จำเป็นต้องกักตุนอาหารเลย เพราะผักก็ปลูกเอง ไก่ก็เลี้ยงเอง
ขณะเดียวกัน นอกจากไม่ต้องกักตุนอาหารแล้ว ยังสามารถเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัวได้อีก เพราะผักปลอดสาร และไข่ไก่ของที่นี่เป็นที่ต้องการของลูกค้า ขายแทบไม่ทันจนต้องจองคิวซื้อ
“พอเราปลูกผักแล้ว เลี้ยงกุ้งแล้ว ก็อยากจะมีไก่ไข่ไว้ทานบ้าง จนกระทั่งเมื่อประมาณกลางปีที่แล้ว ออกจากงาน พอออกปุ๊บสิ่งแรกที่ทำเลยคือเลี้ยงไก่ เพราะว่าเป็นสิ่งที่อยากจะทำตั้งนานแล้ว ก็เลยเริ่มเลี้ยง เริ่มหาความรู้ไปเรื่อยๆ
ไก่ที่นี่โชคดี เลี้ยงประคบประหงมมากครับ ก็ได้ผลผลิตที่ดี นอกจากให้อาหารเช้าเย็น กลางวันเราก็จะให้ผัก ผลไม้ แล้วก็ผสมสมุนไพร ฟ้าทะลายโจร บอระเพ็ด ขมิ้นชัน ทั้งผสมอาหารด้วย ผสมน้ำด้วย แล้วก็เลี้ยงแบบเขามีความสุขครับ อันนี้มันก็เหมือนกับสิ่งที่เราทำให้ไก่มันก็อาจจะไปสะสมอยู่ในไข่ เป็นอาหารที่เราต้องกินต่อไป
พอหลายๆ คนรู้วิธีการที่เราทำแบบนี้ ก็เลยอยากจะชิมบ้าง ตอนนี้ก็เลย นอกจากเลี้ยงไว้ทานเอง ก็มีรอต่อคิวซื้อ ที่เราเลี้ยงเราใช้ชื่อว่าไข่อารมณ์เย็น คือ ที่อารมณ์เย็น คนซื้อต้องอารมณ์เย็นรอนิดหนึ่ง เพราะว่าไก่ไม่ได้เลี้ยงเยอะ ก็ต้องอารมณ์เย็น ใจเย็นรอนิดหนึ่ง
ก็เนื่องจากอาจจะเป็น หนึ่ง คือ เราเลี้ยงน้อย ก็อาจจะมีเวลาดูแลได้ทั่วถึง กับ สอง ก็คือ มันเป็นความตั้งใจของเราที่แบบว่าอยากเลี้ยง แล้วก็เราเลี้ยงไว้กินเอง เลี้ยงแบบมันมีคุณภาพมากหน่อย”
ไม่ว่าสถานการณ์จะวิกฤตแค่ไหน อดีตโปรดิวเซอร์มือทองก็เชื่อว่า “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นอีกทางรอดอย่างแท้จริง และยังเชื่ออีกว่าเศรษฐกิจพอเพียงยังสามารถทำให้รวยได้อีกด้วย
“บางคนก็คิดว่าเศรษฐกิจพอเพียงต้องจนนะ ถึงต้องไปทำเกษตร แต่จริงๆ แล้วเศรษฐกิจพอเพียงมันก็คือความพอดีครับ ไม่ว่าจะทำอาชีพอะไร ไม่ใช่เฉพาะเกษตรนะครับ จะทำอาชีพอะไร เป็นพนักงานออฟฟิศ พนักงานบริษัทอาชีพอะไรก็แล้วแต่ เอาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ได้หมด นำไปปรับใช้ได้ เพราะว่ามันก็คือความพอดีครับ แต่จริงๆ เศรษฐกิจพอเพียงก็รวยได้ ก็มีเงินได้ แต่ว่าทำให้มันอยู่ในความพอดี ไม่เบียดเบียนคนอื่น และก็ไม่เบียดเบียนตัวเอง จนมันทำไปแล้วไม่มีความสุข”
อย่างเช่นที่เราทำ คือ มันเป็นความพอเพียง พอเอามาปรับใช้แล้วมันเห็นผลได้ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องของการประหยัดค่าใช้จ่าย ในเรื่องของความสุขในครอบครัว ในเรื่องของกิจกรรม
เรียกได้ว่าอยู่รอดท่ามกลางวิกฤตแล้ว ที่สำคัญเลย คือ ได้ทำกิจกรรมกับลูก ช่วยให้มีพัฒนาการที่ดี เพราะลูกชายก็มีส่วนช่วยเยอะ
“เศรษฐกิจพอเพียงในมุมของครอบครัวของเรา ก็คือ อย่างน้อยก็ได้เห็นผลชัดเจน คือ เราก็ไม่มีค่าใช้จ่าย แล้วเราก็มีความสุขในสิ่งที่เราทำ มีกิจกรรมที่เราทำ ครอบครัวโดยเฉพาะลูกชายครับ ก็ลดทอนการใช้เทคโนโลยี การติดเกมติดมือถือไปได้
เพราะว่าเขาก็เหมือนกับว่า มีกิจกรรมกลางแจ้ง มี activity ทำ แล้วเขาก็ชอบในสิ่งที่เขาทำ ในมุมของผมคิดว่าเอาเศรษฐกิจพอเพียงมาปรับใช้แล้วมีประโยชน์กับเราในมุมนี้”
ไม่จำเป็นว่าแค่คนต่างจังหวัดเท่านั้นที่จะทำเกษตรได้ คนในเมืองสามารถนำมาปรับใช้ได้เหมือนกัน แม้บางครั้งอาจจะไม่สามารถตีค่าเป็นเงินตราได้ แต่เกษตรกลางกรุงผู้นี้ก็เชื่อว่ามีคุณค่าด้านจิตใจแน่นอน หากได้เฝ้ามองดูผลผลิตของตัวเอง
“หลายคนคิดว่าต้องไปหาซื้อที่ต่างจังหวัด แต่จริงๆ แล้วเกษตรเราในความหมายของผมคิดว่าอะไรก็ได้ที่เราสามารถปรับใช้กับพื้นที่ได้ครับ แล้วก็สามารถช่วยให้ชีวิตประจำวันของเราอาจจะลดทอนค่าใช้จ่ายบ้าง
บางทีมันอาจจะวัดด้วยเงิน ด้วยราคา ตีค่าเป็นเงินไม่ได้ แต่มันมีความสุขใจ อย่างเช่น มีพื้นที่นิดหน่อย ปลูกที่ระเบียง อย่างอยู่คอนโด ปลูกที่ระเบียง แล้วก็เอาผักสลด หรือผักอะไรลงสักสามสี่กระถาง
ซึ่งแบบจริงๆ แล้วมันอาจจะตีค่าเป็นเงิน มันไม่ได้กำไรเยอะ หรือว่ามันไม่ได้ลดค่าใช้จ่ายอะไรหรอก แต่สิ่งที่ได้มา ผมว่ามันได้ความสุขใจ มันปลื้มปิติ เวลาเห็นสิ่งที่เราทำมันได้ผลออกมา ผมคิดว่าอันนี้มันมีคุณค่ามากอีกด้านหนึ่ง
พอทำจริงๆ แล้วมันก็จะติด และก็ไม่อยากจะไปไหน พอมันเห็นผลที่เราทำแล้วอย่างน้อยมันก็มีกำลังใจ แล้วก็มีความปลื้มปิติในสิ่งที่เราทำ”
จุดเริ่มต้นความพอเพียง
“เริ่มที่จะคิดทำสวนก็คือพอมีลูก ตอนนั้นพอเขาอายุ 1 ขวบ ก็เลยกลัวเขาจะติดโทรศัพท์มือถือ ติดทีวี หรือติดเทคโนโลยีก็เลยทดลองทำแปลงผักขึ้นมาสัก 2 แปลง จริงๆ ก็คือ ไม่ได้ตั้งใจจะปลูกผัก ตั้งใจจะให้มีที่เล่น เขาจะได้เล่นดิน เล่นทราย เล่นกิจกรรมกลางแจ้ง พอทำไปทำมาเขาก็เกิดชอบ”
เจ้าของเกษตรพอเพียง “สวนในศีล” เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการทำเกษตรบนพื้นที่ 1 ไร่ โดยเริ่มมาจาก น้องโอโซน-เด็กชายในศีล พิมพ์วงศ์ ที่ตอนนั้นอายุประมาณ 1 ขวบ กลัวว่าจะติดเกม ติดทีวี ติดเทคโนโลยี
ซึ่งเดิมทีพื้นที่แห่งนี้เป็นที่ส่งต่อมาจากสมัยบรรพบุรุษ หลังจากแต่งงานเมื่อ 10 ปีก่อน จึงย้ายมาออกมาอยู่
“ที่ที่ีอยู่นี่เป็นที่ดั้งเดิมของคุณตาคุณยาย ตั้งแต่รุ่นสมัยบรรพบุรุษ พอแต่งงานก็เลยมาอยู่ที่นี่ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดอะไร เพราะมันเป็นที่ดั้งเดิม เป็นสวนมะม่วง สวนขนุน กล้วย ก็ปลูกๆ ทิ้งไว้ในสวน
ก็เริ่มต้นเมื่อก่อนพอมีลูกประมาณสักขวบหนึ่งครับ ก็เลยกลัวเขาจะติดเกม ติดทีวี แล้วก็ติดเทคโนโลยี เขาก็มาช่วยทำ มาช่วยเล่นด้วย มาขย้ำดิน ขย้ำทรายแบบไม่กลัวสกปรก ก็นั่งเล่นไป เวลาฝนตกเขาก็เคยลุยโคลนมาแล้ว ก็เลยเออดีเหมือนกันเนอะ เขาก็ชอบ กลายเป็นกิจกรรมกลางแจ้งที่เด็กๆ ชอบครับ แล้วก็คือทำให้เขาลดกิจกรรมเรื่องของเทคโนโลยีไป”
นอกจากนี้ น้องโอโซนเองก็เล่าว่า ช่วยคุณพ่อทำทุกอย่าง สนุก และมีความสุขทุกครั้งที่ได้ปลูกผัก เลี้ยงไก่ เลี้ยงกุ้ง
“ผมว่าพื้นฐานของเด็กๆ ทุกคนเขาชอบมีกิจกรรมกลางแจ้งได้เล่น ได้ออกแรง ได้มี activity กลางแจ้งมากกว่า แต่โอกาสเขา เด็กๆ บางคนอาจจะไม่มี หรือว่าบางทีอาจจะเป็นไลฟ์สไตล์ของพ่อแม่ที่ไม่ค่อยชอบให้เล่นกิจกรรมกลางแจ้งอะไรอย่างนี้ด้วย
แต่ทีนี้พอทดลองทำแล้ว ปรากฏว่า เด็กๆ เขาชอบ หรืออย่างเพื่อนๆ ลูกมา ตอนแรกมาเขาก็อาจจะเดี๋ยวเปรอะนะอะไรอย่างนี้ แต่เด็กพอเขาได้ลองเล่นทีนี้อยู่นานเลย
นอกจากสังเกตจากลูกชายแล้ว เพื่อนๆ ลูก หรือเพื่อนๆ ของเพื่อนมาเล่นที่บ้าน ก็คือ ตอนแรกบางทีอาจจะกลัวเปรอะ แต่พอเขาได้เล่นจริงๆ ปรากฏว่า เขาชอบ เล่นได้เป็นชั่วโมงสองชั่วโมง
อย่างนี้คือ แสดงให้เห็นว่า เด็กๆ จริงๆ เขาก็ชอบมีกิจกรรมกลางแจ้ง มี activity แต่เขาอาจจะขาดโอกาส หรือบางทีไลฟ์สไตล์ของผู้ปกครองอาจจะไม่ได้มีกิจกรรมกลางแจ้งเยอะ”
ไม่มีความรู้ด้านการเกษตร หน้าที่การงานที่ทำก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปลูกผัก หรือเลี้ยงสัตว์ แต่ในช่วงที่คนไทยพบกับความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต
ด้วยหน้าที่การงานด้านสื่อสารมวลชนก็ได้มีโอกาสได้รับรู้ และถ่ายทอดเรื่องราว เศรษฐกิจพอเพียง ผ่านสารคดีอย่างลึกซึ้ง จึงเป็นที่มาให้เริ่มสนใจ และลงมือทำสวนเกษตรอย่างจริงจัง
“จากที่เริ่มเล่นกับลูกเล็กๆ แล้วก็ปลูกขึ้นมา ขยายจากแปลงสองแปลง สามแปลง แต่ตอนนั้นปลูกแบบไม่ได้มีความรู้อะไร ก็คือเอาเล่นกับลูกเป็นหลัก แล้วก็คือเอาเมล็ดผักมาลงก็โต ก็เก็บได้บ้าง เสียบ้าง มีเวลาก็ทำ เพราะว่าช่วงนั้นทำงานด้วย คือ ถ้าไม่มีเวลาบางทีแปลงก็ปล่อยรกบ้าง
จนกระทั่งมาถึงช่วงที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ก็เลยมีโอกาส เพราะตอนนั้นทำรายการอยู่ด้วย ก็เลยมีโอกาสไปทำสารคดี ทำข่าว ทำรายการเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ หรือเศรษฐกิจพอเพียง
ซึ่งต้องออกไปพบกับบรรดาปราชญ์เศรษฐกิจที่เขานำทฤษฎีในหลวงมาใช้แล้วประสบความสำเร็จ คือ โชคดีที่ได้เจอกับคนเก่งๆ ในระดับประเทศ เราได้เจอหลายๆ ท่าน เพราะว่าเราต้องทำสารคดีพวกนี้ครับ ก็เลยได้ความรู้ และก็ได้แรงบันดาลใจมาจากท่านเหล่านี้”
แม้จุดเริ่มต้นแรกจะมาจากเพียงอยากสร้างกิจกรรมให้ลูก เมื่อปลูกแล้วได้ผลดี ทำให้มีกำลังใจ อยากทำอย่างจริงจังมากขึ้น แต่ทำจริงจังก็ยังไม่มีความรู้ที่แท้จริง จนกระทั่งในหลวงรัชกาลที่ ๙ สวรรคต ได้เจอปราชญ์เกษตร จึงได้ความรู้ แรงบันดาลใจ แนวคิด มาปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเอง
“ตอนแรกก็เล่นๆ กับลูก แต่พอปลูกแล้วได้ผลมันก็เหมือนกับมีกำลังใจ แล้วก็ทำจริงจังมากขึ้น แต่ทำจริงจังในที่นี่ก็คือยังไม่มีความรู้ที่แท้จริง กระทั่งได้เจอปราชญ์เกษตรก็เลยได้ความรู้ และก็ได้แรงบันดาลใจ ได้แนวคิด ได้ไอเดีย
ความรู้ 80% ได้จากเหล่าบรรดาปราชญ์เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือปราชญ์เกษตรที่นำแนวทางของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาใช้ แล้วเราก็มาปรับใช้ให้เข้ากับพื้นที่เรา เนื่องจากบ้านเราอยู่ในเมือง ก็ปรับใช้ อย่างเช่น อุปกรณ์บางทีเราไม่สามารถหาอย่างในพื้นถิ่นได้ง่าย เราก็ปรับใช้สำหรับคนในเมือง”
กว่าจะประสบความสำเร็จมาถึงวันนี้ได้ ก็ลองผิดลองถูกมาเยอะ และนอกจากจะได้ความรู้จากปราชญ์ที่ไปพบเจอมาแล้ว ยังอยากสืบสานน้อมนำเศรษฐกิจพอเพียงให้คนรุ่นหลังได้รู้บ้าง
“ลองผิดลองถูกมาเยอะมาก เพราะว่าเนื่องจากไม่มีความรู้ด้านเกษตร จนกระทั่งนำมาปรับใช้ก็ได้ผลมาก โดยเฉพาะในเรื่องของการที่เราลดการใช้สารเคมี แล้วก็ทำยังไงให้ผลผลิตที่เราต้องการมันออกมาได้ดี โดยที่เราก็หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี
แล้วอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ อยากให้เป็นตัวอย่างสำหรับคนที่อยากทำเกษตร คือ บางคนพอทำเกษตรอาจจะทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือสมมติว่าปลูกมะนาวก็ปลูกมะนาว มีที่ 10 ไร่ ก็อยากจะปลูกมะนาวขายหมดเลย ปลูกมะม่วงก็ปลูกมะม่วงทั้งหมดเลย
แต่แนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ ก็คือ การปลูกพืชผสมผสานแบบหลากหลาย เพื่อหนึ่งก็คือเวลาเราเสียหายจากพืชอย่างหนึ่งเราก็มีพืช หรือมีอีกอย่างหนึ่งคอยสนับสนุน และก็สามารถมีวิถีชีวิตที่พึ่งพาตัวเองได้ในพื้นที่ของเราทั้งหมด
นอกจากนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน ใจจริงก็อยากจะเผยแพร่เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ท่านทำ ให้คนรุ่นหลังได้รู้บ้าง ก็เลยเอามาใช้ในสวนของตัวเอง”
ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มรายได้ แถมยังปลอดสารพิษ
“นอกจากขายได้แล้ว สิ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ มันลดค่าใช้จ่ายไปได้เยอะมากครับ เพราะว่าอย่างที่บอก ก็ดูจากตลาด หรือว่าดูจากรถกับข้าวว่าเราซื้ออะไร แล้วเราก็เอาที่เราซื้อ เอามาปลูกซะ นอกจากที่มันไม่ได้จริงๆ อย่างเช่น หมู”
หลักการง่ายๆ เริ่มจากสังเกตชีวิตประจำวัน ว่า ในแต่ละวันเรากินอะไรไปบ้าง ซื้ออะไรไปบ้าง และที่สำคัญปลูกสิ่งที่กิน กินสิ่งที่ปลูก ก็จะสามารถลดค่าใช้จ่าย แล้วก็เพิ่มรายได้
“เริ่มต้นที่ทำก็ดูจากการที่เราซื้อของจากที่ตลาดหรือรถกับข้าวก่อน แล้วก็ดูว่าเราซื้ออะไรจากรถกับข้าวบ้าง ซื้อตลาดบ้าง เอาที่เราซื้อมาปลูกให้หมด เพราะฉะนั้นเราลองดูไหมว่าไอ้สิ่งที่เราต้องซื้อจากตลาดเราก็มาปลูกซะเลย อยากกินอะไร เราก็กินที่เราปลูก เราปลูกที่เรากิน
อย่างน้อยคือ ลดค่าใช้จ่ายได้เยอะมากเลยในเรื่องของค่ากับข้าว ยกเว้นจริงๆ ที่เราปลูกไม่ได้จริงๆ หรือเราเลี้ยงไม่ได้จริงๆ
อย่างเช่น เนื้อหมู มะเขือเทศ หรือพริกหวานที่มันเป็นพืชที่มันต้องใช้ ต้องเลี้ยงในเฉพาะถิ่น หรือต้องใช้อุณหภูมิดูแลมากขึ้นเยอะหน่อย มันอาจจะทำให้เรา คือแทนที่เราจะทำอย่างมีความสุข เราก็ต้องประคบประหงมลำบากมากขึ้น
โดยส่วนใหญ่มันก็จะสามารถลดค่าใช้จ่ายได้หมด เราก็ปลูกหมด มีทั้งคะน้า ผักกาดขาว มีกวางตุ้ง มีผักสลัด ก็คือ อยากกินอะไรก็เอามาปลูกเลย เหลือก็แจกก่อน พอแจกแล้วก็ขาย”
หากถามถึงรายได้ตอบแทนว่าคุ้มไหม เจ้าของสวนในศีลก็ตอบว่า ไม่สามารถเป็นอาชีพหลักได้ เพราะสวนนี้ทำไว้เพื่อกินเป็นหลัก แต่ก็มีเกษตรพอเพียงรายอื่นที่หันมาทำแบบจริงจัง มีค่าตอบแทนที่สูงก็มีเช่นเดียวกัน และยังมีข้อดีที่หันมาทำเกษตรเองคือได้กินอาหารแบบปลอดสารพิษ
“ถ้าพูดถึงรายได้มันก็ไม่สามารถเป็นอาชีพหลักได้ เพราะว่าเราปลูกไว้เพื่อกินเป็นหลัก ปลูกไว้อย่างหลากหลาย แต่ว่ามันช่วยในเรื่องค่าใช้จ่าย แล้วก็รายได้เอามาเป็นช่วยค่าน้ำ ค่าต้นทุนที่เราทำ
เพราะว่าต้นทุนที่เราทำอาจจะสูงหน่อย เพราะว่าเราไม่ได้ใช้สารเคมี อย่างสารเคมีสมมติแมลงมาแล้วก็ซื้อยาฆ่าแมลงซองนึงไม่เท่าไหร่แล้วก็จบ แต่อย่างที่ไล่แมลงเราก็ใช้พริกขี้หนูกิโลหนึ่งตำแล้วก็ผสมเหล้าขาว ผสมยาฉุน พริกขี้หนูกิโลหนึ่งก็ 80 บาท เหล้าขาวก็ขวดหนึ่ง 100 บาท
แต่ว่ามันมีข้อดีก็คือเราได้ทานผักที่มันปลอดสารเคมี อาหารทุกวันนี้โดยส่วนใหญ่เราซื้อเราก็ไม่ค่อยรู้ที่มาหรอก อย่างไปตลาดเราซื้อมา ผักมันมาจากไหน ปลูกยังไง เขาใช้อะไรปลูก ในการดูแลรักษามันเป็นยังไงเราไม่รู้ แต่ว่าอันนี้เราปลูก แบบว่าสบายใจ เรารู้ที่มาว่าผักเราปลูกเองนะ ไม่มีสารเคมีนะ ไอ้สิ่งที่เราทำไปมันเป็นประโยชน์ยังไงบ้าง
พอได้ความรู้ก็เลยมาปลูก เริ่มจริงจังมากขึ้น นำความรู้มาใช้ ก็ได้ผลผลิตที่ดีขึ้น แล้วก็ไม่มีสารเคมี ในเรื่องของปุ๋ยเคมี ในเรื่องของสารเคมีก็ไม่ได้ใช้ เพราะว่านำความรู้ที่เราได้จากการที่เราตระเวนพบเจอกับปราชญ์เกษตรเอามาใช้”
เริ่มจากปลูกที่กิน กินที่ปลูก เหลือก็แจก เหลือจากแจกแล้วก็ขาย เป็นสิ่งที่เกษตรพอเพียงผู้นี้ยึดมั่นมาโดยตลอด
“เริ่มจากเราปลูกที่กิน กินที่ปลูก พอเหลือจากกินเราก็ไปแจก แจกเพื่อนบ้าง แจกเพื่อนที่ออฟฟิศ แล้วพอแจกเหลือเสร็จ พอคนรู้มากเข้า หรือว่าเพื่อนที่ได้รับแจกก็แบบมีอีกไหม ทีนี้ขอซื้อนะ ก็เลยกลายเป็นขายครับ”
ขณะเดียวกัน นอกจากจะลดค่าใช้จ่ายเรื่องค่าอาหารแล้วนั้น ตอนนี้ขายแทบไม่ทัน เพราะมีคนมาต่อคิวซื้อกันเอยะมาก
“ในความเป็นจริงที่ขายแทบไม่ทัน คือ เนื่องจากว่าพื้นที่เราไม่ได้มีเยอะ แล้วก็ปลูกหลากหลาย อย่างคะน้าเราก็มีแปลงหนึ่ง กวางตุ้งก็มีแปลงหนึ่ง ผักกาดขาวก็สองแปลง คือ เราปลูกเพื่อกินเองเป็นหลัก แล้วทีนี้ที่เหลือเราก็ขาย
ทีนี้เนื่องจากมันมีความหลากหลาย เราก็เลยไม่ได้มีผลผลิตที่ขายเป็นล่ำเป็นสัน แต่ว่าที่ทำไม่ทันเนื่องจากพอเขารู้ว่าเรามีกระบวนการการทำยังไง ความตั้งใจของเราเป็นยังไง ก็เลยมีคนอยากได้ ก็เลยทำก็เกือบจะไม่ทันครับ โดยเฉพาะเรื่องของไก่ไข่
ก็คือตอนนี้ก็มีเอาไปวางขายที่ร้านออร์แกนิก คือ เป็นร้านกาแฟแล้วก็เป็นร้านออร์แกนิก แล้วก็ร้านสุขภาพก็สองที่ แล้วก็มีคนมารับซื้อที่บ้านด้วยครับ
แล้วก็ส่งออนไลน์ด้วย แต่ว่าอย่างผักก็อาจจะส่งลำบากนิดหนึ่ง กับอีกอันหนึ่งค่าส่งมันอาจจะไม่คุ้มกับค่าผัก อย่างเช่น ซื้อผักสลัด 2 ต้น ค่าส่งมันก็อาจจะเยอะหน่อย แต่ว่าถ้าคนชอบจริงๆ เขาก็จะมารับถึงที่บ้าน หรือไม่ก็ไปซื้อที่ร้านที่เราไปฝากวางไว้”
เลี้ยงลูกแบบไม่คาดหวัง เน้นกิจกรรมเป็นหลัก
น้องโอโซน ลูกชายวัย 8 ขวบ เป็นหนึ่งแรงบันดาลใจที่ผู้เป็นพ่ออยากทำสวนเกษตร เพราะอย่างที่บอกไป คือ กลัวลูกติดเทคโนโลยีจึงสร้างกิจกรรมให้ลูกทำ
สำหรับการปลูกฝังลูกชายเพียงคนเดียวของครอบครัวนี้ ยอมรับว่าไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ มีดุบ้าง ตีบ้างตามวัยของเด็ก
“จริงๆ ก็ไม่ได้เลี้ยงลูกพิเศษอะไรมาก ไม่ได้เป็นทฤษฎีอะไรมาก ก็พัฒนาการตามวัยเขาครับ ก็มีดุบ้าง ตีบ้างนิดหน่อย แต่ว่าเขาได้มีกิจกรรมกลางแจ้ง มี activity ให้เขาทำ เขามีความสุข
ผมเชื่อว่า เด็กๆ ทุกคนก็น่าจะเป็นอย่างนี้นะครับ เพราะว่าเด็กๆ ทุกคนผมว่าเขาอยากจะมีกิจกรรมกลางแจ้ง มี activity ที่ทำ แต่เขาอาจจะไม่มีเวลา หรืออาจจะไม่มีโอกาส”
ตลอดระยะเวลา 7 ปี ที่ทำสวนในศีลขึ้นมา กิจกรรมปลูกผักที่สร้างขึ้นมาให้เขาได้ลงมือทำเอง ก็เห็นผลได้ชัดเจน คือ กลายเป็นเด็กอารมณ์ดี มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
“เขากลายเป็นเป็นเด็กที่อารมณ์ดี กลายเป็นเด็กสวนที่วิ่งตากแดด ตากลม สนุกสนานไป แล้วก็มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง มีอารมณ์ดีครับ
ก็คือ อาจจะโชคดีที่เขาไม่ค่อยมีปัญหาในเรื่องของการไม่เชื่อฟัง คือ เขาเป็นเด็กอารมณ์ดี แล้วก็เข้าใจเหตุผล อาจจะเป็นเพราะว่าหนึ่งเขาได้อยู่ท่ามกลางธรรมชาติ สองก็คือได้มีกิจกรรมกลางแจ้ง แล้วก็สามก็คือเราไมได้เลี้ยงแบบคาดหวังอะไร แบบที่ต้องบังคับเขามาก โดยเฉพาะเรื่องการเรียน การศึกษา”
การเรียนก็สำคัญ แต่ไม่ได้สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะนอกจากการเรียนในห้องสี่เหลี่ยมแล้ว เรื่องของการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตก็ยังเป็นสิ่งสำคัญ
“คือเราคิดว่า ต่อไป การเรียนมันไม่ คือ การเรียนไม่ต้องสอบได้ที่ 1 หรือสอบได้ดี คือชีวิตของคนในชีวิตต่อไป ชีวิตของเด็กมันมีหลายด้านมากเลย นอกจากของการเรียนแล้ว มันก็มีเรื่องของการใช้ชีวิต เรื่องของการใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เรื่องของการตัดสินใจ เรื่องของการ
ก็คือ ผมคิดว่าเรื่องของการเรียนอาจจะสำคัญ แต่ก็ไม่ได้สำคัญที่สุดในชีวิต เพราะเฉพาะนั้นก็ไม่ได้คิดว่าเขาจะต้องเรียนเก่ง แล้วก็ได้คะแนนดีๆ สอบได้ดีๆ
เพราะว่าจริงๆ แล้วต่อไปข้างหน้ามันมีส่วนประกอบหลายอย่างในการใช้ชีวิต ก็อยากจะให้เขานอกจากเรื่องของการเรียนก็อยากจะให้เขา หนึ่งเป็นคนที่มีอารมณ์ดี แล้วก็สองรู้จักตัดสินใจ แล้วก็สามนี่ก็คือรู้จักคิดเอง รู้จักเอง ตัดสินใจเอง ใช้ชีวิตเอง”
สอนแบบเน้นกิจกรรม ช่วยพัฒนาการทางด้านอารมณ์ ไม่ต้องเครียด ไม่ต้องเรียนพิเศษ ปล่อยให้ทำในสิ่งที่อยากทำ และไม่คาดหวัง เรียกได้ว่ายิ่งเลอะ ยิ่งเยอะประสบการณ์
“กิจกรรมผมคิดว่ามีส่วนช่วยนะครับ โดยเฉพาะในเรื่องพัฒนาการทางอารมณ์ เพราะว่าคือเขาไม่ได้เครียด พออย่างวันเสาร์-อาทิตย์ หลายๆ คนอาจจะต้องเรียนพิเศษกันตั้งแต่เช้ายันเย็น มันก็จะเครียดทั้งเด็กแล้วก็พ่อแม่ด้วย แต่ว่าอันนี้ก็จะปล่อยให้เขามีกิจกรรม มี activity แล้วก็ไม่ได้เรียนพิเศษ ปล่อยให้เขาทำในสิ่งที่เขาอยากทำ แล้วก็เขาอยากคิด อยากทำอะไรก็ปล่อยเขา
เขาอยู่โรงเรียนทางเลือกด้วยครับ โรงเรียนทางเลือกก็คือเขาก็จะเน้นเรื่องของการมีความสุขในการไปเรียน แล้ววันไหนไม่ได้ไปเรียน ก็จะอยากไปเรียนมาก เพราะว่าเด็กๆ ที่โรงเรียนนี้เขาเป็นโรงเรียนทางเลือก เขาก็จะมีความสุขในการอยากไปเรียน แล้วก็ไม่ได้เน้นวิชาการมาก แต่เน้นของเรื่องการตัดสินใจ การมีระเบียบวินัย แล้วก็การใช้ชีวิตมากกว่า”
ไม่เพียงเท่านี้ ยังยอมรับอีกว่า ทัศนคติในการเลี้ยงลูกก็เป็นสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรที่จะปลูกฟังตั้งแต่เด็ก และที่สำคัญคือ เรื่องการสอนให้รู้จักการใช้เหตุผล ยอมรับฟังผู้อื่น ไม่ใช่แค่เด็กเท่านั้น พ่อแม่เองก็ต้องยอมรับและฟังเหตุผลของลูกตัวเองด้วยเช่นกัน จึงจะเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูกได้
“ส่วนมากก็คือจะให้เขารู้จักเหตุผลมากกว่าครับ ก็คือ ไม่ค่อยได้ตีหรือดุอะไร คือเวลาจะทำอะไรก็บอก ก็ให้เขารู้จักเหตุผล ว่าเขาควรจะทำยังไง ต้องมีหน้าที่ยังไง แล้วก็มีระเบียบวินัยในการใช้ชีวิตประจำวัน
แต่ผมว่าสิ่งที่ได้ผล ที่ทำให้เขาไม่เครียด หรือว่ากลายเป็นคนอารมณ์ดีก็เพราะว่า เนื่องจากมี activity มีกิจกรรมกลางแจ้ง คือจริงๆ ไม่จำเป็นต้องมีที่ที่บ้านเยอะแยะอะไรนะครับ ผมก็คิดว่ามันน่าจะเป็นเรื่องของทัศนคติของเราในการเลี้ยงลูกมากกว่า”
เส้นทางอาชีพสื่อกว่า 30 ปี
นอกจากอาชีพเกษตร หลายคนก็รู้จักในนามอดีตโปรดิวเซอร์มือทอง รายการผู้หญิงถึงผู้หญิง จนเมื่อกลางปีที่แล้วตัดสินวางมือ ลาออกจากงานประจำ อยากพักเพื่อเติมแรงบันดาลใจ หันมาทำเกษตรพอเพียง
“ลาออกมา ก็ตัดสินใจว่าคือพักนิดหนึ่ง เพราะว่าคือเราทำมาเป็นเวลาหลายๆ ปีมาก มันก็เหมือนกับเราไม่ได้หยุดพัก ไม่ได้หยุดคิด ไม่ได้มีเวลาเติมแรงบันดาลใจ ต้องทำๆ ทุกวัน จนเราไม่ได้มีโอกาส ได้มองจากภายนอกเข้ามาข้างใน
แต่พอออกมา มันก็เหมือนกับว่าเราได้หยุดทุกอย่าง แล้วเราได้มีโอกาสมองเข้าไปในสิ่งที่เราทำ มันก็เหมือนได้เติมแบต ชาร์จแบต ได้ความรู้อะไรใหม่ๆ เข้าไป ทำให้มีไอเดีย มีแนวคิด มีพลังงานกลับไปทำใหม่”
นอกจากนี้ ยังได้เล่าย้อนเส้นทางอาชีพสื่อสารมวลชน ที่โลดโผนมานานกว่า 30 ปี ที่กว่าจะมาเป็นโปรดิวเซอร์คุมรายการใหญ่ๆ ก็ไม่ง่ายเช่นเดียวกัน
“คือจริงๆ ทำข่าวมา 30 ปีแล้วครับ เข้ามาก็ทำข่าวก็ทำรายการวงเวียนชีวิตอันแรกเลย แล้วก็มาทำข่าวเฉพาะกิจ เป็นข่าวแบบว่าเหมือนกึ่งสารคดี แล้วก็มาเป็นบรรณาธิการข่าวสังคม
ช่วงเช้า เขาเรียกว่าเป็นเวลาที่ไม่มีค่าเลย คนไม่สนใจ ทั้งสปอนเซอร์ ทั้งคนดู ทางช่องเขาก็เลยอยากให้พื้นที่ ช่วงเช้ามีค่าขึ้นมา ก็เลยเปิดช่วงรายการข่าวภาคเช้าขึ้นมา ตอนนั้นก็ทำรายการเช้านี้ที่ช่อง 3 ก็เป็นข่าวช่วงเช้า
แล้วก็พอตอนหลังๆ มันก็มีช่องโน่นช่องนี้ ก็เลยบูมๆ ขึ้นมา มาบูมจริงๆ ก็ตอนที่ สรยุทธ สุทัศนะจินดา มาทำเรื่องเล่าเช้านี้
รายการเวลาในช่วงเช้าเริ่มบูมขึ้นมา หลายช่องก็เริ่มมีรายการมากขึ้น คนก็เริ่มดูเยอะขึ้น เป็นพื้นที่ที่มีค่า มีราคามากขึ้น ทางช่องจึงมองเห็นว่าน่าจะมีรายการที่เกี่ยวกับผู้หญิงบ้าง
“กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้ชมทีวีจริงๆ ก็คือ กลุ่มผู้หญิง แต่เมื่อก่อนมันไม่มีรายการสำหรับผู้หญิงเลย รายการสำหรับผู้หญิงก็คือ ขายของกับทำกับข้าว ทีนี้ทางช่องก็มีนโยบายให้ทำรายการเกี่ยวกับผู้หญิงที่เป็นรายการเกี่ยวกับผู้หญิงจริงๆ ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิง ให้ความรู้ผู้หญิง
แต่เมื่อก่อนก็เป็นรายการผู้หญิงผู้หญิงก่อน แล้วก็ถึงมาเป็นรายการผู้หญิงถึงผู้หญิง ก็ทำมาเรื่อยๆ จนเป็นรายการผู้หญิงถึงผู้หญิงนี่ 4 เวอร์ชันแล้วมั้งครับ แต่ว่าคนรู้จักมากจะเป็นเวอร์ชันแรก ก็ทำมาเปลี่ยนพิธีกรมาเรื่อยๆ มา 4 รุ่นแล้วครับ”
ในขณะที่รายการผู้หญิงถึงผู้หญิงเปลี่ยนพิธีกรมาแล้วหลายรุ่น แต่อดีตโปรดิวเซอร์มือทอง ก็ยังนั่งคุมรายการอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อกลางปีที่แล้ว
“เปลี่ยนพิธีมากี่รุ่นก็ยังอยู่ครับ จนสุดท้ายมันเหมือนถึงจุดอิ่มตัวแล้ว พอดีมีการเปลี่ยนแปลงการบริหารในช่อง ก็เลยถือโอกาสตรงนี้ขอพักก่อน
ช่วงออกจากงานก็ไม่เคว้งคว้างอะไร เป็นเพราะเรามีเป้าหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ว่า สิ่งที่เราทำ มันทำมานานจนรู้สึกว่ามันคือชีวิต มันเป็นส่วนหนึ่งของเราไปแล้ว เราก็ยังเสียดายอยู่ งานสื่อสารมวลชน งานข่าว งานทำรายการ
แต่ว่าคือจริงๆ มันก็มีเป้าหมาย อย่างที่บอกอยากจะมาทำอันนี้ แต่ก็คิดว่าจะทำได้ดีไหม แล้วก็งานนี้มันก็เรารักอยู่ ก็เลยทำให้ตัดสินใจไม่ได้สักทีหนึ่ง แต่ทีนี้มันก็พอดี มันประจวบจังหวะหลายอย่างก็เลยได้ตัดสินใจมาทำ”
จากที่ตั้งใจลาออกจากงาน แต่เมื่อทุกอย่างลงตัว มีโอกาสกลับเข้าสู่วงการสื่อสารมวลชนอีกครั้ง ตอนนี้จึงได้ทำในสิ่งที่รักพร้อมกัน 2 อย่าง
“ก็คือลาออกมาประมาณกลางปีที่แล้ว ก็ตั้งใจจะมาทำสวนครับ แล้วพอดีทางบริษัท โพลีพลัส นะครับก็เลยชวนไปทำรายการข่าวก็เลยกลับไปทำอีก
แต่ว่ายังโชคดีที่ใจดี ยังให้เวลาช่วง มีช่วงเวลาที่เราทำกิจกรรม มี activity ของเรา โดยเฉพาะเรื่องของการทำสวนครับ ก็ทำงานประจำช่วงเช้า แล้วก็พอกลับมาปุ๊บก็ได้ทำสิ่งที่เราตั้งใจไว้
คือจริงๆ แล้วอยากจะออกเลย แล้วก็มาทำสิ่งที่เราตั้งใจ คือทำเหมือนกึ่งๆ ศูนย์การเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเกษตร แล้วก็อยากจะเผยแพร่แนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ ๙ อย่างมากๆ เลยครับ ก็เลยอยากจะทำ
แต่พอได้หยุดพัก แล้วมองกลับไปในสิ่งที่เราทำ ในงานที่เราทำ เพราะว่าจริงๆ งานสื่อมวลชน สื่อสารมวลชนเราก็รักอยู่ เพราะว่ามันทำมาตั้งแต่นานมากเลย ก็ถือว่าเป็นอยู่ในสายเลือด
พอได้เห็นจุดบกพร่องของเราในการทำงานเป็นยังไง แล้วก็กลับไปแก้ไข แล้วก็มีพลังเติมขึ้นใหม่ ตอนนี้ก็เลยได้ทำสิ่งที่เรารักพร้อมกัน 2 อย่างไปเลย”
อย่าทำเกษตรหลังเกษียณ อันนี้เป็นข้อคิดนิดหนึ่ง อย่าทำเกษตรหลังเกษตรเพราะมันจะไม่มีแรงทำ ถ้าอยากจะทำก็ทำเลย เพราะว่าหลายคนคิดว่าพอเกษียณแล้วไปทำเกษตร คืออาจจะเป็นเพราะว่าเราได้เห็นแต่คนที่ประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วคือถ้าอายุมากแล้วไปทำเกษตร มันเป็นงานที่หนัก คือถ้ามีเงินไปจ้างทำต่ออีกทีหนึ่ง หรือทำเป็นสเกลใหญ่ก็คือยาก หนึ่งก็คือเรี่ยวแรง สองก็คือถ้าทำปลูกไว้เล่นๆ ไว้กินก็โอเค คือถ้าทำเป็นอาชีพมันต้องมีการตลาด เรื่องของแรงงานเข้ามา ตอนนี้ทำเองได้เพราะยังมีเรี่ยวแรงอยู่ ขุดเองหมด ฝังเสาเอง ผูกร้านทำอะไรเองหมด พวกก่ออิฐก็ทำเองหมด แต่มันก็เกิดจากการค่อยๆ ทำ ค่อยๆ เป็น ไป ก็เคยพูดเล่นกับเพื่อน หรือคนรู้จักนะครับ อย่าทำเกษตรหลังเกษียณเพราะว่ามันจะไม่มีแรงทำ ให้ทำก่อนเกษียณเลย เตรียมตัวไว้ ที่ออกมาก็คือตั้งใจจะทำอันนี้ให้ดี มีเป้าหมาย 2 อย่างรวมกัน คือยากให้เป็นที่เรียนรู้ เป็นแรงบันดาลใจในการทำเกษตรในเมือง สองก็คือเผยแพร่เกษตรทฤษฎีใหม่ หรือสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทำไว้ ส่วนใครที่อยากเข้ามาชม ก็เข้ามาได้ แต่ว่าไม่ถึงกับเป็นศูนย์การเรียนรู้นะ เป็นแรงบันดาลใจ มาแลกเปลี่ยนความรู้ สิ่งที่เราทำแล้วประสบความสำเร็จก็มาถ่ายทอดกัน |
สัมภาษณ์ : ทีมข่าว MGR Live
เรื่อง: พัชรินทร์ ชัยสิงห์
ภาพ: กัมพล เสนสอน
คลิป: อิสสริยา อาชวานันทกุล
ภาพเคลื่อนไหว: ภูริฉัตร ปริยเมธานัยน์
ขอบคุณภาพ : เฟซบุ๊ก “สวนในศีล”
** มาตามติด ไลฟ์สไตล์บันดาลใจ+ประเด็นสดใหม่ ได้ที่นี่!! **