ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - วัดเชียงใหม่โดนพิษโควิด-19 ด้วย ต้องงดออกบิณฑบาตลดเสี่ยงป้องกันเชื้อ พลิกวิกฤตเป็นโอกาสปรับพื้นที่ว่างบริเวณวัดและรอบโบสถ์วิหารเป็นแปลงปลูกพืชผักสวนครัวให้ญาติโยมปรุงถวายเป็นภัตตาหาร แถมเหลือแบ่งปันชุมชนโดยรอบ
รายงานจากจังหวัดเชียงใหม่แจ้งว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 นั้นไม่ได้ส่งผลกระทบแต่เพียงประชาชนและภาคธุรกิจในจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ขณะเดียวกันยังส่งผลกระทบต่อพระสงฆ์และสามเณรตามวัดต่างๆ ด้วย อย่างเช่นที่วัดทรายมูลเมือง ตำบลพระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งทางวัดได้ให้พระสงฆ์และสามเณรงดการออกบิณฑบาตเพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงในการรับหรือแพร่เชื้อมานานนับเดือน อย่างไรก็ตาม ทางวัดได้มีการเตรียมการมาก่อนหน้านี้แล้วตั้งแต่ที่เริ่มมีการระบาดในต่างประเทศและปรับตัวเพื่อรับมือสถานการณ์ด้วยการพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าในวัด รวมทั้งพื้นที่รอบโบสถ์วิหารที่เคยปลูกไม้ดอกไม้ประดับ จัดทำปรับเปลี่ยนเป็นแปลงปลูกผักสวนครัวชนิดต่างๆ ทั้งปลูกลงดินและในกระถาง โดยผลผลิตที่เริ่มเก็บเกี่ยวได้แล้วนั้น ได้นำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการให้ญาติโยมปรุงอาหารถวายเป็นภัตตาหารเช้าและเพลแด่พระสงฆ์และสามเณรของวัด ขณะที่ส่วนที่เหลือแบ่งปันให้ชุมชนรอบข้างวัดด้วย
ทั้งนี้ พระครูสังฆรักษ์สุทัศน์ สุวฑฺฒโน เจ้าอาวาสวัดทรายมูลเมือง เปิดเผยว่า ในช่วงที่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติศาสนกิจของพระสงฆ์สามเณรพอสมควร รวมทั้งการบิณฑบาตด้วย ซึ่งทางวัดต้องงดการบิณฑบาตไปจนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติเพื่อความปลอดภัยของทุกฝ่าย อย่างไรก็ตาม ได้ใช้โอกาสนี้ในการพัฒนาวัดและปรับตัวรับสถานการณ์ด้วยการให้พระสงฆ์สามเณรร่วมกันปรับพื้นที่ว่างเปล่ารอบบริเวณวัดเป็นแปลงปลูกผักสวนครัว รวมทั้งพื้นที่รอบโบสถ์วิหารที่มีกระถางไม้ดอกไม้ประดับก็ปรับเปลี่ยนเป็นปลูกพืชผักที่กินได้แทน ซึ่งที่จริงแล้วเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงประมาณเดือน ม.ค. 63 แล้ว แต่เมื่อประสบปัญหาในช่วงนี้จึงมีการขยายพื้นที่และทำอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อเป็นแหล่งอาหารสำหรับพระสงฆ์สามเณรของวัด
โดยพืชผักสวนครัวที่ปลูกในวัดนั้น ได้แก่ คะน้า, ผักบุ้งจีน, ผักกาดขาว, กะหล่ำปลี, มะเขือเทศ, มะเขือเปราะ, พริก, ชะอม, กะเพรา, สะระแหน่, ตะไคร้, โหระพา, ผักชี, ผักชีฝรั่ง และมะนาว เป็นต้น ซึ่งเมล็ดพันธุ์ต่างๆ นั้นทางวัดจัดหามาเองโดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์จากกองทุนของวัดที่ศรัทธาญาติโยมร่วมกันบริจาค ทำการปลูกด้วยวิธีการธรรมชาติไม่มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชและปลอดสารพิษ ปัจจุบันพืชผักที่ปลูกไว้สามารถเก็บเกี่ยวได้แล้วหลายอย่าง เช่น คะน้า, ผักกาดขาว, กะเพรา และโหระพา เป็นต้น ใช้เป็นวัตถุดิบให้เด็กวัดหรือญาติโยมปรุงอาหารที่โรงครัวของวัดถวายเป็นภัตตาหารแด่พระสงฆ์และสามเณรของวัด ซึ่งการปลูกผักของวัดนั้นนอกจากจะเป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืนสำหรับพระเณรและเหลือแบ่งปันให้ชุมชนรอบข้างได้แล้ว ยังสร้างความงามและความร่มรื่นให้บริเวณรอบๆ วัดได้ไม่น้อยไปกว่าไม้ดอกไม้ประดับอีกด้วย