xs
xsm
sm
md
lg

นำร่องที่พะเยาจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมแก้โจทย์ชุมชน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เอ็นไอเอนำร่องจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคมที่ จ.พะเยา เฟ้นหานวัตกรรมเพื่อสังคมสำหรับชุมชนในภาคเหนือ หนุนงบ 4.5 ล้านบาท สร้าง 15 นวัตกรรมตอบโจทย์แก้ไขปัญหาชุมชน

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผอ.สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA เปิดเผยว่า NIA ดำเนินโครงการนวัตกรรมเพื่อสังคมมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการสร้างและต่อยอดนวัตกรรมเพื่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ หรือกระบวนการดำเนินงานแบบใหม่ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสังคมในเชิงบวกได้ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของชุมชน และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความทั่วถึงและเท่าเทียมกัน

"หน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม เป็นอีกหนึ่งฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่ โดยจะมีการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยตามภูมิภาคต่างๆ ของประเทศ เพื่อช่วยพัฒนานวัตกรรมที่ตอบโจทย์ปัญหาทางสังคมหรือตามความต้องการของชุมชนในพื้นที่นั้นๆ และสนับสนุนการนำผลงานดังกล่าวไปใช้แก้ปัญหาในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม"

ผอ.สำนักงานนวัตกรรมฯ กล่าวต่อว่า ล่าสุด NIA ร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยา จัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนนวัตกรรมเพื่อสังคม ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 2 เพื่อสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อสังคมที่ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาของชุมชนและพื้นที่ภาคเหนือตอนบนโดยเฉพาะ ทั้งนี้ มีผลงานเข้าร่วมนำเสนอทั้งสิ้น 20 ผลงาน โดยมีนวัตกรรมที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นด้านการเกษตร การจัดการขยะ การจัดการปัญหาหมอกควัน การส่งเสริมสุขภาพ การให้คำปรึกษาด้านอาชีพ และด้านสวัสดิการสังคม

สำหรับการคัดเลือกนี้ จะมีคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทั้งจาก NIA ม.พะเยา และตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ ผ่านเกณฑ์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.ความเป็นนวัตกรรมของผลงาน 2.ผลกระทบเชิงสังคม และ 3.ความยั่งยืนของโครงการ ทั้งนี้มีผลงานที่มีศักยภาพผ่านเกณฑ์การคัดเลือกทั้งสิ้น 15 ผลงาน คิดเป็นมูลค่าการสนับสนุนรวม 4.5 ล้านบาท

“ตัวอย่างผลงานที่ได้รับการคัดเลือก ได้แก่ Caring Guide: แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชน ซึ่งประกอบไปด้วย 3 เครื่องมือ ดังนี้ 1. Self-Care: ระบบประเมินตนเองออนไลน์เพื่อให้ผู้สูงอายุและผู้ติดตามดูแลสุขภาพได้เข้าใจสภาวะสุขภาพของตนเอง 2. I’m Care: ระบบประมวลผลการประเมินให้ออกมาเป็น Care Plan แผนดูแลสุขภาพผู้สูงอายุเฉพาะบุคคล และ 3. Professional Care: ระบบให้การดูแลด้านสุขภาพโดยผู้เชี่ยวชาญ ทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ อาทิ Chat bot ให้คำปรึกษา การจำหน่ายสินค้าและบริการ และกองทุนสำหรับผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสในชุมชน มีสิทธิ"

"แอปพลิเคชันรวมสวัสดิการสำหรับแรงงานนอกระบบ พัฒนาขึ้นมาเพื่อรวบรวมข้อมูลสิทธิและสวัสดิการ ทั้งของรัฐ ชุมชน และภาคเอกชน สำหรับกลุ่มแรงงานที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ซึ่งได้แก่ กลุ่มพ่อค้าแม่ค้า และกลุ่มแรงงานรับจ้าง ให้สามารถเข้าถึงข้อมูลสวัสดิการเหล่านั้นได้อย่างเท่าเทียมกัน โดยข้อมูลจะถูกจัดหมวดหมู่ให้ง่ายต่อการใช้งาน และยังมีระบบประมวลผล และแนะนำสวัสดิการแบบรายบุคคลให้แก่ผู้ใช้บริการอีกด้วย"

"เครื่องอัดวัสดุชีวมวลแบบเคลื่อนที่เพื่อลดการเผาป่าและหมอกควัน เนื่องจากพื้นที่บริเวณบ่อสิบสองและวัดห้วยผาเกียง จังหวัดพะเยา มีลักษณะเป็นป่าชุมชนที่มีความหนาแน่นของใบไม้เชื้อเพลิงค่อนข้างสูง ทำให้เกิดปัญหาการเผาป่าเพื่อกำจัดใบไม้ และเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุของหมอกควัน โครงการนี้จึงเกิดขึ้นโดยการนำเศษใบไม้เหล่านั้นมาอัดแท่งเป็นเชื้อเพลิงชีวมวล โดยใช้เครื่องอัดเชื้อเพลิงแท่งแบบเคลื่อนที่ และนำไปจำหน่ายให้กับโรงไฟฟ้าชีวมวล เป็นการสร้างรายได้ให้กับชุมชน และหยุดการเผาป่าได้” ดร.พันธุ์อาจกล่าว

นอกจากหน่วยขับเคลื่อนฯ ในจ.พะเยาแล้ว NIA ยังได้ดำเนินการจัดตั้งหน่วยขับเคลื่อนฯ อีก 7 หน่วยทั่วทุกภูมิภาค ได้แก่ 1.หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนบน 1 ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ 2.หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคเหนือตอนล่าง ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวร 3.หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนกลาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ 4.หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ร่วมกับมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี 5.หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคกลาง ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคใต้ฝั่งอ่าวไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยทักษิณ และ 7. หน่วยขับเคลื่อนฯ ประจำพื้นที่ภาคใต้ชายแดน ร่วมกับมหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์








กำลังโหลดความคิดเห็น