xs
xsm
sm
md
lg

ลากเส้นจากฟ้าทวงคืนผืนป่าน่าน

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


น.ส.อรพรรณ เฉลิมศิลป์ (ซ้าย) และ นางธัญวรัตน์ อนันต์ (ขวา)
จังหวัดน่านได้นำร่องให้ชาวบ้านในท้องถิ่นเป็นผู้นำข้อมูลพื้นที่ทำกินของตัวเองเข้าสู่ระบบภูมิสารสนเทศด้วยตนเอง ข้อมูลเหล่านี้จะนำไปสู่การบริหารจัดการและป้องกันการเปลี่ยนมือไปสู่นายทุน รวมถึงช่วยปกป้องผืนป่าและทวงคืนได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินรังวัดเป็น 100 ปี

ย้อนกลับไปเมื่อปี พ.ศ.2507 จ.น่านมีพื้นที่ป่าสงวนตาม พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ 2507 จำนวน 6,435,792 ไร่ หรือคิดเป็น 85% ของพื้นที่ทั้งจังหวัด แต่เมื่อปี พ.ศ.2559 พื้นที่ป่าเหลือ 4,564,996 ไร่ โดยระหว่างปี พ.ศ.2555-2558 มีพื้นที่ป่าหายไปถึง 252,567 ไร่ ทว่าแนวทางการทวงคืนผืนป่าของ จ.น่าน ไม่ใช่การขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่ หากแต่ยังคงให้สิทธิทำกินในพื้นที่ป่า

หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทช่วยให้การรักษาป่าต้นน้ำของ จ.น่าน เป็นไปได้คือสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) ซึ่งช่วยในเรื่องการทำชุดข้อมูลและแผนที่ อันจะนำไปสู่การบริหารจัดการวางแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ และอาจจะช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นโดยใช้พื้นที่ทำกินน้อยลง

นางธัญวรัตน์ อนันต์ หัวหน้าฝ่ายผลิตชั้นข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (จิสด้า) เล่าว่า จิสด้าได้ร่วมงาน ในโครงการรักษ์ป่าน่าน ติดตามการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินในจังหวัดน่าน กระทั่งนายบัณฑูร ล่ำซ่ำ ประธานกรรมการธนาคารกสิกรไทย เห็นว่าต้องมีการดำเนินงานเป็นพิเศษ จึงเกิดการทดลองปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดินเชิงพื้นที่ หรือ น่านแซนด์บ๊อกซ์ (NAN Sandbox)

“การแก้ปัญหาที่ดินต้องมีการสำรวจที่ดินรายแปลง ต้องรู้ว่าใครทำกินอยู่ตรงไหน ซึ่งเป็นการตั้งต้นป้องกันการรุกป่าได้ โดยจำแนกให้เห็นชัดว่าตรงไหนป่าชุมชน ตรงไหนป่าทิ้งร้าง” นางธัญวรัตน์ระบุ และบอกว่าจิสด้าในฐานะตัวแทนคณะทำงานของหนึ่งในหน่วยงานที่ช่วยแก้ปัญหาด้านที่ดิน ป่าไม้และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่จังหวัดน่าน ได้ออกแบบการจัดเก็บข้อมูลภูมิสารสนเทศ ที่รวบรวมกว่า 60 ข้อมูล เช่น ข้อมูลพื้นที่ ข้อมูลเศรษฐกิจ ข้อมูลหนี้ และรายได้ โดยบันทึกข้อมูลซ้อนทับลงบนภาพถ่ายทางอากาศและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อยืนยันการทำกินของชาวบ้านว่าอยู่ในพื้นที่เหมาะสม หรือไม่เหมาะสม

น.ส.อรพรรณ เฉลิมศิลป์ นักภูมิสารสนเทศ จิสด้า เล่าถึงขั้นตอนการทำงานว่า หลังจากจิสด้าออกแบบวิธีนำเข้าข้อมูลสู่ฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ สำหรับการสำรวจข้อมูลทำกินรายแปลงแล้ว ได้ลงพื้นที่เก็บข้อมูลในพื้นที่ โดยให้ชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของที่ทำกินเป็นผู้ให้ข้อมูล และให้เจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ที่อาสาเข้าร่วมโครงการ ทำหน้าที่บันทึกข้อมูล โดยการเก็บข้อมูลที่ทำกินกว่า 120,000 แปลงนั้นใช้เวลาประมาณ 1 ปี แต่หากใช้เจ้าหน้าที่ี่เดินสำรวจรังวัดต้องใช้เวลานานเป็นร้อยปี

“ขอบเขตการทำกินช่วยให้เห็นข้อมูลในเชิงบริหารจัดการ” นางธัญวรัตน์กล่าวและอธิบายถึงการบริหารจัดการว่า ข้อมูลภูมิสารสนเทศนี้จะช่วยให้ทราบว่าการใช้ที่ดินนั้นมีประสิทธิภาพหรือไม่ และอาจเป็นข้อมูลนำสู่การส่งเสริมอาชีพเพื่อสร้างร้ายได้ให้เพียงพอต่อการเลี้ยงตัวและจัดการหนี้ โดยใช้ที่ดินทำกินน้อยลง และนำไปสู่การทวงคืนพื้นที่ป่าได้ อีกทั้งข้อมูลขอบแปลงยังช่วยให้การทำกินในพื้นที่ป่าเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ผู้ทำกินไม่ได้เอกสารสิทธิ์บนที่ดินนั้น ซึ่งนำไปสู่การจัดการบริหารที่ทำกินในเขตป่าอย่างถูกกฎหมาย

นางธัญวรัตน์ยังให้ข้อมูลว่า ที่ดินทำกินอย่างถูกกฎหมายใน จ.น่านนั้นมีเพียง 10% เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ป่า โดยมีพื้นที่ทำกินที่บุกรุกป่าสงวนถึง 28% และมีแนวโน้มว่าจะบุกรุกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จึงต้องหยุด ซึ่งในจำนวนพื้นที่ป่า 100% จ.น่านมีเป้าหมายบริหารจัดการพื้นที่เขตป่าสงวน เพื่อให้สิทธิเกษตรกรทำกินโดยชอบด้วยกฎหมายเกษตรกร โดย 72% ของพื้นที่ป่าสงวนยังรักษาให้เป็นป่าต้นน้ำ, 18% ของพื้นที่ทำกินในเขตป่าที่เกษตรกรยินดีฟื้นฟูให้กลับมาเป็นป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ แต่ยังอนุญาตให้ปลูกพืชเศรษฐกิจใต้ต้นไม้ใหญ่ในส่วนนี้ได้ และอีก 10% ที่เป็นพื้นที่ป่านั้นจัดสรรให้ปลูกพืชเศรษฐกิจได้อย่างเต็มที่แต่ยังคงเป็นป่าสงวนฯ ตามกฎหมาย

ส่วนหนึ่งของข้อมูลขอบแปลง


กำลังโหลดความคิดเห็น