xs
xsm
sm
md
lg

คางคกสาวช่างเลือก เล็งผสมตัวผู้พันธุ์ดีแม้ต่างสปีชีส์

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์




ปกติสิ่งมีชีวิตทั่วไปจะผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์ไม่ได้ แต่ก็มีบ้างที่มีการผสมข้ามพันธุ์อย่างม้าและลาที่ผสมกันออกได้ “ล่อ” ที่เป็นหมัน แต่สำหรับคางคกสาวบางชนิดกลับเลือกที่ผสมพันธุ์กับคางคกต่างสปีชีส์ เพื่อการันตีว่าลูกๆ จะมีโอกาสอยู่รอดมากขึ้น


คาริน เฟนนิก (Karin Pfennig) นักชีววิทยาวิวัฒนาการ จากมหาวิทยาลัยนอร์ธคาโรไลนา (University of North Carolina) ที่คาเปลฮิลล์ ใช้เวลาอยู่หลายปีศึกษาพฤติกรรมที่แปลกประหลาดของคางคกเท้าพลั่วธรรมดา (plains spadefoot toads) ตัวเมีย ที่เพิกเฉยต่อตัวผู้สปีชีส์เดียวกัน แล้วเลือกจับคู่ผสมพันธุ์กับคางคกเท้าพลั่วเม็กซิกัน (Mexican spadefoot toad) ตัวผู้ ซึ่งเป็นญาติใกล้ชิดกัน


ทว่า ผลการผสมข้ามสปีชีส์ของคางคกเท้าพลั่วธรรมดากับคางคกเท้าพลั่วเม็กซิกันกลับไม่ได้ลูกที่เป็นหมัน เหมือนการผสมข้ามสปีชีส์ของสัตว์ชนิดอื่นๆ โดย แคเธอรีน เฉิน (Catherine Chen) นักนิเวศวิทยาพฤติกรรม ผู้ทำงานในห้องปฏิบัติการของเฟนนิก ระบุถึงผลลัพธ์ที่ต่างไปจากปกติ


ลูกอ๊อดของคางคกเท้าพลั่วธรรมดาจะเจริญเติบโตอยู่ในแอ่งน้ำชั่วคราว เมื่อแอ่งน้ำเริ่มแห้งขอด คางคกตัวเมียจะเลือกผสมพันธุ์กับคางคกเท้าพลั่วเม็กซิกันตัวผู้ ซึ่งเฉินระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวดูเหมือนจะเป็นการเพิ่มโอกาสให้ลูกอ๊อดทั้งหลายมีโอกาสอยู่รอดได้มากขึ้น


“ลูกอ๊อดพันธุ์ผสมเจริญเติบโตได้รวดเร็วมากกว่า ซึ่งมีแนวโน้มว่าจะเจริญเติบโตสู่ตัวเต็มวัยก่อนที่หนองน้ำจะแห้งเหือด” เฉินกล่าว


นอกจากนี้เฉินและเฟนนิกยังพบด้วยว่า คางคกเท้าพลั่วตัวเมียไม่เพียงแต่สุ่มเลือกผสมพันธุ์กับตัวผู้ต่างสปีชีส์ ทว่าจะค้นหาสัญญาณที่บ่งบอกพวกเธอได้พ่อพันธุ์ที่ดี ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่พวกเขาได้พบการเลือกผสมข้ามสปีชีส์เช่นนี้ในสัตว์ และงานศึกษาครั้งนี้ได้ตีพิมพ์ลงวารวารไซน์ (Science)


ในการศึกษาก่อนหน้านี้ นักวิจัยได้ค้นพบว่า คางคกลูกผสมที่พ่อมีความเร็วของ “เสียงเรียกหาคู่” (mating call) ในอัตราช้าๆ นั้นจะเจริญเติบโตได้ดีกว่าลูกคางคกที่มีพ่อส่งเสียงเรียกหาคู่ที่เร็วกว่า ทำให้นักวิจัยสงสัยว่า คางคกตัวเมียใส่ใจต่อเสียงร้องเหล่านี้หรือไม่ แล้วเสียงร้องเหล่านี้บอกถึงความแตกต่างระหว่างตัวผู้คุณภาพสูงกับตัวผู้คุณภาพต่ำได้หรือไม่


จากข้อสงสัยดังกล่าว นักวิจัยจึงทดลองนำคางคกเท้าพลั่วธรรมดาตัวเมียไปใส่ในบึงจำลองภายในห้องปฏิบัติการ และเปิดเสียงคางคกเท้าพลั่วเม็กซิกันตัวผู้ ที่มีเสียงร้องหาคู่ในอัตราความเร็วแตกต่างกัน และพบว่าคางคกตัวเมียพึงพอใจที่จะค้นหาตัวผู้ที่มีอัตราเสียงเรียกหาคู่ที่ช้าๆ


เฉินระบุว่า พวกเขายังไม่แน่ใจว่าทำไมคางคกตัวผู้ที่มีอัตราเสียงเรียกหาคู่ช้าๆ จึงเป็นคุ่ผสมพันธุ์ที่ดีกว่าสำหรับคางคกเท้าพลั่วธรรมดาเพศเมีย และได้สันนิษฐานว่า เสียงเรียกหาคู่อัตราช้าๆ นั้น อาจเชื่อมโยงกับลักษณะที่ดีกว่าหรือเชื่อมโยงกับยีนที่สัมพันธ์กับความแข็งแกร่ง แต่ก็ยังไม่ชี้ได้ชัดๆ ส่วนวิธีเลือกคู่ของคางคกเท้าพลั่วเม็กซิกันตัวเมียต่างออกไป พวกเธอจะเลือกตัวผู้ที่เปล่งเสียงหลายๆ ครั้งได้ในเวลาอันสั้น ซึ่งนั่นอาจเป็นเพราะเป็นพฤติกรรมที่ต้องใช้พลังงานมาก และเป็นสิ่งชี้วัดถึงสุขภาพที่ดี


สำหรับลูกคางคกลูกผสมที่เป็นผลจากการผสมพันธุ์ข้ามสปีชีส์ อาจจะดูแตกต่างจากคางคกสายพันธุ์บริสุทธิ์ แต่เฉินระบุว่า คางคกเหล่านั้นไม่จัดอยู่ในกระบวนการกลายเป็นสปีชีส์ใหม่ ขณะที่คางคกลูกผสมตัวผู้เป็นหมัน แต่คางคกลูกผสมตัวเมียยังสามารถผสมพันธุ์กับสปีชีส์เดิมของพ่อหรือแม่ได้อยู่ แต่ยังวิจัยยังไม่ทราบว่า ลูกผสมตัวเมียเหล่านั้นจะเลือกแบบไหน


ด้าน มาร์ลีน ซุก (Marlene Zuk) นักชีววิทยาวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตา (University of Minnesota) ในเซนต์พอล ระบุว่า เรื่องใหม่ที่งานวิจัยนี้ค้นพบ คือวิธีเลือกคู่ของคางคกเพศเมียที่มองหาตัวผู้ต่างสปีชีส์ โดยใช้วิธีที่แตกต่างไปจากตัวเมียของอีกสปีชีส์นั้น


เฉินระบุว่า งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นถึงผลของการผสมข้ามพันธุ์ที่อาจความสำคัญต่อการพัฒนาสปีชีส์มากกว่าที่นักชีววิทยาจำนวนมากคิด โดยเรามักจะมองการผสมข้ามสปีชีส์ว่าเป็นเรื่องสุ่มหรืออาจเป็นเรื่องแย่ แต่จริงๆ แล้วอาจเป็นเรื่องสำคัญต่อวิวัฒนาการหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าที่คิด





กำลังโหลดความคิดเห็น