จุฬาฯ ร่วมกับ ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี พัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิในกล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะ เพื่อควบคุมคุณภาพของโลหิตระหว่างการขนส่ง ตอบโจทย์การรักษาผู้ป่วยที่ต้องการเลือดในโรงพยาบาล สามารถตรวจสอบผ่านโทรศัพท์มือถือได้
ศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ และศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ผนึกความร่วมมือ และเพิ่งลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อเร็วๆ นี้ กับบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) โดยมี ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร และ รศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ ผศ.นพ.ดร.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ดร.นัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ร่วมด้วย ดร.อมร จิรเสรีอมรกุล หัวหน้าวิศวกรวิจัยของบริษัทฯ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว
ความร่วมมือดังกล่าวเป็นการวิจัยและพัฒนาเซนเซอร์และระบบวงจรตรวจวัดอุณหภูมิที่ติดตั้งเข้ากับกล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะ เพื่อตรวจสอบอุณหภูมิของถุงโลหิตภายในกล่องตลอดระยะเวลาการขนส่ง โดยเซนเซอร์และระบบวงจรตรวจวัดอุณหภูมิดังกล่าวสามารถแจ้งเตือนได้ หากระบบตรวจพบว่าอุณหภูมิของถุงโลหิตอยู่นอกเกณฑ์ปกติที่ได้กำหนดไว้ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์และบุคลากรของสถานพยาบาลในการจัดการกับโลหิตภายหลังการขนส่ง รวมทั้งต่อยอดองค์ความรู้ในการผลิตกล่องขนส่งโลหิตอัจฉริยะที่สามารถควบคุมอุณหภูมิระหว่างการขนส่งให้โลหิตมีคุณภาพดี ซึ่งจะช่วยชีวิตผู้ป่วยที่ต้องการเลือดในการรักษาได้
ศ.ดร.ปราโมช รังสรรค์วิจิตร และ รศ.ดร.หทัยกานต์ มนัสปิยะ ผู้อำนวยการและรองผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีปิโตรเคมีและวัสดุ (PETROMAT) กล่าวว่า เซนเซอร์ตรวจวัดอุณหภูมิ ในกล่องขนส่งโลหิต เป็นโครงการแรกภายใต้ความร่วมมือระหว่าง PETROMAT กับบริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด ด้วยการสนับสนุนจากศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดและประเทศ โดย PETROMAT มีความเชี่ยวชาญเรื่องวัสดุเก็บความเย็น จึงออกแบบกล่องขนส่งโลหิตให้มีลักษณะเบาและเก็บความเย็นได้มากขึ้น ทั้งนี้ภายในปีนี้จะจัดทำผลิตภัณฑ์ต้นแบบจำนวน 150 ชิ้น เพื่อให้โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ทดลองใช้ต่อไป
ทางด้าน ดร.อมรพันธุ์ เสรีมาศพันธุ์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ กล่าวว่า อุณหภูมิที่เปลี่ยนไปไม่ว่าจะร้อนหรือเย็นเกินไปมีผลต่อจำนวนเม็ดเลือดและคุณภาพของเลือด อุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเลือดเพื่อส่งต่อให้ผู้ป่วยควรอยู่ระหว่าง 1 – 10 องศาเซลเซียส อุปกรณ์ที่พัฒนาขึ้นนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เพียงแต่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทยและโรงพยาบาลอื่นๆ ได้ด้วย ซึ่งอุปกรณ์นี้จะช่วยในการตรวจติดตามเลือดที่อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม ทดแทนวิธีการในปัจจุบันที่ใช้คนนำเลือดไปส่งถึงผู้ป่วยโดยบรรจุถุงเลือดในกระติกน้ำแข็ง
ส่วน ดร.นัยวุฒิ วงษ์โคเมท ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) และ ดร.อมร จิรเสรีอมรกุล หัวหน้าวิศวกรวิจัย กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้พัฒนาเทคโนโลยี NFC ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งนำมาประยุกต์ใช้กับเซนเซอร์เพื่อตรวจวัดอุณหภูมิ การตรวจโรคและสารเคมีต่างๆ
"โครงการความร่วมมือกับจุฬาฯ ในครั้งนี้สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเก็บและขนส่งเลือดเพื่อส่งต่อไปให้ผู้ป่วยเพื่อให้คุณภาพเลือดอยู่ในมาตรฐานสากลซึ่งจะต้องมีการบันทึกข้อมูลอุณหภูมิไว้ตลอดเวลา โดยได้ออกแบบตัววัดอุณหภูมิ ทำการบันทึกไว้ในชิป โดยเชื่อมต่อผ่านเทคโนโลยี NFC ในโทรศัพท์มือถือ ทำให้ทราบว่าตลอดระยะเวลาในการขนส่งเลือด อุณหภูมิของเลือดมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร" ตัวแทนจากซิลิคอน คราฟท์ เทคโนโลยี ระบุ