xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวรถไฟฟ้าจิ๋วไร้คนขับ กำหนดตำแหน่งด้วยดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดตัวรถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับขนาดเล็ก กำหนดตำแหน่งด้วยดาวเทียม ตั้งเป้าต่อยอดนวัตกรรมใช้งานได้จริง

เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2563 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ร่วมกับ AsiaTechnology Industry (ATI) , บริษัท Tokai Clarion จำกัด, บริษัท Kokusai Kogyo จำกัด , Asian Institute of Technology และมหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ ร่วมจัดสาธิตระบบขับขี่อัจฉริยะรถพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กด้วย micro EVs ซึ่งเป็นการขับขี่แบบอัตโนมัติ โดยใช้การกำหนดตำแหน่งจากดาวเทียมด้วยระบบดาวเทียม Quasi-Zenith Satellite System (QZSS) ของประเทศญี่ปุ่น ณ อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ ( SKP) อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี

นายพรเทพ นวกิจกนก รักษาการผู้อำนวยการสำนักพัฒนาอุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศของจิสด้ากล่าวว่า ระบบขับขี่อัจฉริยะด้วยรถพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก micro EVs คันนี้ มีการขับขี่แบบอัตโนมัติเกิดจากการควบคุมด้วยการกำหนดตำแหน่งจากดาวเทียม QZSS ซึ่งเป็นดาวเทียมที่ระบุพิกัดตำแหน่งบนพื้นโลกแม่นยำสูงถึงระดับ 10 เซนติเมตรหรือน้อยกว่า นับว่ามีความแม่นยำมากที่สุดในโลกมีประสิทธิภาพสูงครอบคลุมพื้นที่เอเซียและโอเชียเนีย

"วันนี้นับเป็นโอกาสที่ดีที่ได้รับความร่วมมือจากทางหน่วยงานพันธมิตรต่างๆที่เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมในด้านอุตสาหกรรมคมนาคมขนส่ง จับมือกันผลักดันให้รถพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กสามารถขับขี่ได้จริงแบบอัตโนมัติ นอกจากจะก่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศแล้วยังเป็นการเปิดโอกาสในการสำรวจ โอกาสทางธุรกิจในกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในเชิงพานิชย์ เช่น อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี, ผู้ให้บริการ ผู้ใช้บริการของโครงการ R&D ที่ต้องการขับขี่แบบอิสระและปลอดภัยสูง"

สำหรับรถพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็กที่ใช้การกำหนดตำแหน่งแม่นยำสูง MADOCA PPP จะเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนางานวิจัยนวัตกรรมชั้นสูงอย่างเป็นรูปธรรม และเอื้อต่อการสร้างระบบนิเวศนวัตกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสามารถดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศให้เข้ามาลงทุนหรือมาลงหลักปักฐานในพื้นที่ EEC ได้ในอนาคต ประกอบกับสร้างความชัดเจนต่อการพัฒนาศักยภาพโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยอีกด้วย

"โครงการนี้ยังเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีของรัฐบาลญี่ปุ่นและรัฐบาลไทยที่ต้องการจะผลักดันเทคโนโลยีในด้านนี้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดและเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาขีดความสามารถในด้านต่างๆ ยกระดับสู่ภาคอุตสาหกรรมอวกาศในภูมิภาค และสร้างคุณค่าให้กับประเทศ รวมถึงสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการเติบโตของเทคโนโลยีอวกาศ การเปลี่ยนฐานะของประเทศไทยจากผู้ใช้บริการ มาเป็นผู้ผลิตคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ บนรากฐานของเทคโนโลยีอวกาศในอนาคต" นายพรเทพกล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น