ราชบัณฑิตด้านวิทยาศาสตร์ร่วมเผยความจริงเกี่ยวกับโรคปอดบวม จาก ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่ระบาดในอู่ฮั่น และ 6 เหตุผลที่ "ไวรัสอู่ฮั่น" ระบาดในไทย
สำนักงานราชบัณฑิตยสภาให้ความรู้เรื่อง “สถานการณ์ปัจจุบันของโรคไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 และแนวทางป้องกันและรักษา” เมื่อวันที่ 29 ม.ค.63 ณ กองวิทยาศาสตร์ สำนักงานราชบัณฑิตยสภา โดยมี ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นพ.สุรพล อิสรไกรศีล นายกราชบัณฑิตยสภา เป็นประธานแถลงข่าว พร้อมด้วย ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร. นสพ.ณรงค์ศักดิ์ ชัยบุตร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ศาสตราจารย์ นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต ศาสตราจารย์ ดร. นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ภาคีสมาชิก และ นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมให้ข้อมูล
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต กล่าวว่า ไวรัสโคโรนา พบได้ทั้งในคนและสัตว์จำนวนมาก เดิมไวรัสโคโรนาที่เกิดในคนมี 6 สายพันธุ์ ซึ่งเป็นสายพันธุ์ที่พบดั้งเดิม ทำให้เกิดโรคหวัดและทางเดินหายใจ ส่วนโรคปอดบวมอู่ฮั่น อุบัติใหม่ที่เมืองอู่ฮั่น ตั้งแต่เดือน ธันวาคม 2019 เป็นต้นมา และวินิจฉัยได้หลังปีใหม่ ถอดรหัสพันธุกรรมสำเร็จ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2020 ซึ่งรหัสพันธุกรรมของไวรัสโคโรนานี้ มีลักษณะคล้ายพันธุกรรมของค้างคาว อาการแรกเริ่มของโรคที่พบในผู้ป่วยนั้น จะมีอาการ เป็นไข้ อ่อนเพลีย ระบบทางเดินหายใจติดขัด ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว ไตทำงานไม่ดี จนกระทั่งเสียชีวิต จำนวนการเพิ่มขึ้นของการตรวจได้เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด
"ขณะนี้พบผู้ติดเชื้อโคโรนานี้ นอกประเทศจีนเกือบ 100 ราย แต่ยังไม่มีผู้เสียชีวิต อัตราการแพร่เชื้อ 2 ต่อ 1 เท่า เปรียบเทียบง่ายๆว่า วันนี้มีผู้ป่วย 2,000 ราย ในอีก 1.7 วัน จะมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า และทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เด็กอายุน้อยสุดที่พบว่าติดเชื้ออายุเพียง 9 เดือน ส่วนวัยผู้ใหญ่ที่อายุน้อยสุดอยู่ที่วัย 30 กว่า ในส่วนของผู้ป่วยที่ติดเชื้อและเสียชีวิตพบว่ามีโรคประจำตัวเช่นโรคปอด หัวใจ สมอง อาการที่ต้องสงสัยและต้องเฝ้าระวังคือ ผู้ที่มาจากแหล่งระบาดของโรค ร่วมกับอาการไข้และอาการระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก ในรายที่ติดเชื้อรุนแรง จะมีปอดอักเสบหรือปอดบวมเกิดขึ้น และทำให้ระบบหายใจล้มเหลวถึงกับเสียชีวิตได้ แต่ส่วนมากอาการไม่รุนแรงเหมือนไข้หวัดใหญ่"
โรคปอดอักเสบอู่ฮั่น โคโรนาไวรัส เป็นโรคที่ติดโดยการสัมผัสฝอยละอองผ่านการไอ การจาม เมื่อเป็นโรคใหม่ ทุกคนไม่มีภูมิต้านทาน จึงมีสิทธิ์ที่จะติดเชื้อเท่ากัน ส่วนตัวเลขที่ชัดเจนในวันที่ 29 มกราคม 2563 พบผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อโคโรนาพบแล้วรวม 6000 คน
สาเหตุที่เชื่อว่าโรคนี้จะระบาด เกิดขึ้นในประเทศไทย ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1.การระบาดในจีนเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว การที่เรารู้ว่ามีผู้ป่วยปอดบวมพร้อมกันถึง 41 คน ในขณะนั้นการระบาดเป็นการรับช่ว จากผุ้ป่วยส่งต่อกันมาถึง 4 ขั้น (Generation) ผู้ป่วยคนแรกไม่น่าจะมาจากตลาดขายของสดในช่วงเวลาขณะนั้น เพราะมีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งไม่ได้สัมผัสตลาดนี้เลย
2.ความรุนแรงของโรคนี้น้อย เมื่อเปรียบเทียบกับ SARS และ MERS อัตราการตายของโรคนี้ ถ้าดูจำนวนเปอร์เซ็นต์แล้วมีแนวโน้มลดลงขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าน่าจะน้อยกว่า 1% หรือ 1 ในพันจากผู้ป่วยที่เป็นนอกประเทศจีน ร่วม 100 คนไม่มีผู้เสียชีวิตเลย เพราะการวินิจฉัยจะทำได้ดีและรวดเร็วขึ้น และยอดผู้ป่วยที่แท้จริง จะมีมากกว่าผู้ป่วยที่รายงานมาก ตัวเลขอัตราการตาย ก็จะค่อยๆลดลงเหมือนการระบาดไข้หวัดใหญ่ ในปี 2009
3.การนับจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิต จะเพิ่มขึ้น และเชื่อว่า อีก 1-2 เดือนต่อไป ก็จะไม่มีการนับจำนวนแล้วเช่นเดียวกับการระบาดไข้หวัดใหญ่เมื่อ 10 ปีก่อน พอไปถึงระยะเวลานึงก็จะเลิกนับจำนวน
4.เมื่อโรคมีความรุนแรงน้อย จึงมีผู้ป่วยจำนวนมากที่ไม่ได้รับการวินิจฉัน และยังแพร่กระจายโรคได้ มีการเดินทาง จึงทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคได้อย่างรวดเร็ว
5.ขณะนี้ มีผู้ป่วยที่ไม่ได้ไปสัมผัสในประเทศจีน เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น เวียดนาม ญี่ปุ่น และเยอรมัน ดังนั้น ก็จะพบได้ในอีกหลายประเทศต่อไป รวมทั้งอาจเกิดในประเทศไทยได้
6.ความรุนแรงเหมือนไข้หวัดใหญ่ การระบาดจึงเหมือนไข้หวัดใหญ่ ที่พร้อมจะกระจายข้ามทวีปและกระจายไปทั่วโลก อย่างเช่นไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ซึ่งใช้เวลาไม่ถึง 6 เดือนก็กระจายไปทั่วโลก
ด้านนายแพทย์ปรีชา เปรมปรี รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้ เมื่อเราเจอคนไข้จากจีน เราสามารถยืนยันโรคได้เร็ว เพราะเรามีรูปแบบตัวดีเอ็นเอโรค โดยได้นำมาตั้งค่าที่ห้องทดลอง และนำมาใช้ในศูนย์ปฏิบัติการการตรวจเชื้อ พร้อมทั้งคัดกรองผู้ป่วยที่มีอาการไข้หวัดเบื้องต้น ทั้งที่สนามบินที่เป็นสายการบินนานาชาติต่างๆ
"ตอนนี้พบผู้ป่วยที่มีการติดเชื้อจากจีนแน่นอนแล้ว 14 ราย จึงอยากขอความร่วมมือกับภาคประชาชนและประกาศให้มีช่องทางในการสื่อสารช่อทางเดียวเพื่อป้องกันข่าวเฟคนิวส์ เพื่อไม่ให้เกิดความสับสน”
ในส่วนของ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ทาง อว.ได้จัดการข้อมูลที่แน่ชัดเพื่อการทราบข้อมูลที่ถูกต้องของประชาชน แม่นยำและการเผยแพร่ที่ชัดเจน และการสร้างความเข้าใจเรื่องการตรวจเชื้อ พฤติกรรมของเชื้อ การศึกษา ติดตามการเปลี่ยนแปลงของตัวเชื้อ รวมถึงให้ทุนวิจัย พัฒนาการวินิจฉัยและตรวจได้แม่นยำ มีวิธีการรักษาที่มีความเหมาะสม ยาที่มีอยู่แล้ว ยาใหม่ และจุดควบคุมพิเศษ ตลอดจนการสนับสนุนทุนวิจัยระยะกลางไปจนถึงระยะยาวในอนาคต
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ณรงศักดิ์ ชัยบุตร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ กล่าวว่า เราไม่ควรตื่นตระหนก ทุกคนจะต้องช่วยป้องกันและลดการแพร่กระจายให้ช้าที่สุด เพื่อลดความสูญเสียให้น้อยที่สุด ต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับตัวโรคที่ถูกต้อง ตอนนี้เราทำได้แค่รักษาผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายในเบื้องต้น ให้ยาตามอาการและรักษาให้หาย