xs
xsm
sm
md
lg

“ไวรัสอู่ฮั่น” ไม่ได้แพร่มาจากงูกินค้างคาว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ชายสวมหน้ากากป้องกันการระบาดของไวรัสอู่ฮั่น อยู่นอกพระราชวังต้องห้าม (NICOLAS ASFOURI / AFPX)
ยังคงมีความเข้าใจว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” เกิดจากงูที่กินค้างคาวมีเชื้อโรค แต่ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า เป็นคลาดเคลื่อนในการแปรผลวิจัย ขณะเดียวกันมีงานวิจัย ที่บ่งชี้ว่า ไวรัสโคโรนาที่พบมีพันธุกรรมใกล้เคียงกับที่พบในค้างคาว

เพจ “Bats of Thailand ค้างคาวเมืองไทย” ได้เผยข้อมูลที่แสดงว่า nCov2019 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่พบในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหู่เป่ย สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือที่เรียกกันว่า “ไวรัสอู่ฮั่น” นั้น เป็นไวรัสโคโรนาจากค้างคาว โดยมีจีโนมคล้ายคลึงค้างคาวมงกุฎเทาแดง (Rhinolophus affinis) ที่พบในจีนถึง 96%

จากงานวิจัยที่เพจค้างคาวเมืองไทยอ้างถึงยังระบุด้วยว่า จีโนมของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์นี้คล้ายคลึงกับซาร์ (SARS) หรือโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันร้ายแรงที่ระบาดเมื่อ 18 ปีก่อน

ส่วนข้อมูลที่แชร์กันว่าเชื้อไวรัสนี้มาจากงูนั้นทางเพจค้างคาวเมืองไทยระบุว่า มาจากงานวิจัยที่มีการแปรผลคลาดเคลื่อน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากได้วิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์จนมั่นใจได้ว่า งูไม่ใช่แหล่งรังโรคของเชื้อไวรัสโคโรนาชนิดนี้ พร้อมทั้งเผยแพร่บทวิจารณ์ที่อธิบายว่างูไม่น่าจะเป็นแหล่งรังโรคของไวรัสอู่ฮั่น

คริสเตียน แอนเดอร์สัน (Kristian Andersen) ได้โต้แย้งงานวิจัยที่สรุปว่างูเป็นแหล่งโรคของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ โดยระบุว่าข้อสรุปดังกล่าวน่าจะผิดพลาด เขาคำนวณและไม่พบหลักฐานว่างูคือแหล่งรังโรคของไวรัส nCov2019 แต่ยังไม่ตัดความเป็นไปได้ ผลการคำนวณของเขายังพบด้วยว่า เห็ดราอาจเป็นแหล่งรังโรคได้ ทว่ายังไม่ทราบชัดเจนว่าแหล่งรังโรคที่แท้จริงคือสัตว์ชนิดใด และเชื้อไวรัสแพร่กระจายได้อย่างไร แม้ว่าค้างคาวจะมีความเป็นไปได้สูงแต่ก็ยังสรุปไม่ได้

ขณะที่ทางเพจค้างคาวเมืองไทยยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า เราทราบมานานแล้วว่าค้างคาวมีเชื้อไวรัสโคโรนา และก็ทราบมานานแล้วว่าคนจีนกินค้างคาว แต่เหตุใดจึงเพิ่งเกิดการอุบัติของโรคในช่วงนี้ และตั้งคำถามว่า นอกจากตัวค้างคาวที่เป็นแหล่งรังโรคแล้ว เป็นไปได้หรือไม่ที่เห็บค้างคาวจะเป็นแหล่งแพร่เชื้อ

ติดตามเรื่องราวค้างคาวเมืองไทยที่น่าสนใจได้ที่ Bats of Thailand ค้างคาวเมืองไทย


กำลังโหลดความคิดเห็น