“สุวิทย์” ดึงไมโครซอฟท์ร่วมปฏิรูประบบมหาวิทยาลัย-พัฒนาคนด้านดิจิทัล
วันที่ 22 ม.ค. 63 ดร. สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิจัย วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยหลังเข้าร่วมหารือกับ นายแอนโทนี ซอลิซิโต้ รองประธานฝ่ายการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด ในระหว่างการประชุมสัมมนาด้านการศึกษาโลก (Education World Forum 2020) ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ว่าการหารือครั้งนี้ได้มีการแลกเปลี่ยนมุมมองถึงความสำคัญของการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา การพัฒนาระบบการศึกษาใหม่ และการพัฒนากำลังคนในการรองรับกับการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ 21
ดร.สุวิทย์ยังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการดำเนินนโยบายเร่งด่วนของ อว. ในขณะนี้ คือ การปฎิรูประบบมหาวิทยาลัย (Reinventing University) โดยเฉพาะ 1. ด้านสถาปัตยกรรมเชิงระบบของมหาวิทยาลัย (University Architecture) และ 2 ด้านพันธกิจของกลุ่มมหาวิทยาลัยใหม่ (Mission) ให้มีทิศทาง และเป้าหมายที่ชัดเจน โดยทางบริษัทไมโครซอฟท์ฯ มีมุมมองว่าการพัฒนาระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จะต้องมีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของมหาวิทยาลัย การเข้าถึงระบบคลาวด์ต่างๆ (Cloud Accessibility) มาเป็นโครงสร้างพื้นที่ฐานกลาง เพื่อสร้างความพร้อมให้กับมหาวิทยาลัยในการเรียน การสอน โดยมหาวิทยาลัยจะต้องเป็นศูนย์การถ่ายทอดความรู้ ทักษะ และการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมในการพื้นที่
หลังการแลกเปลี่ยนมุมมองดังกล่าว อว. และ บริษัท ไมโครซอฟท์ฯ จึงได้มีข้อตกลงในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายใต้ อว. และผู้เชี่ยวชาญของ บริษัท ไมโครซอฟท์ฯ ในการเข้ามาขับเคลื่อนงานใน 2 เรื่องหลัก คือ 1. การปฎิรูประบบมหาวิทยาลัย (Reinventing University) และ 2. การพัฒนาด้านกำลังคนด้านดิจิทัล (Reskill/Upskill) โดยจะเร่งขับเคลื่อนให้เกิดแนวทางที่มีความชัดเจนภายในเดือน มี.ค.63 นี้
ดร.สุวิทย์ฯ ยังได้ร่วมหารือกับนายกาวิน วิลเลียมสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการศึกษาแห่งสหราชอาณาจักรถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมด้านการศึกษาซึ่งเป็นอุตสาหกรรม S-curve อันดับที่ 12 และแนวทางความร่วมมือระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักรในด้านการศึกษา เช่น การพัฒนาด้านภาษาของสถาบันอุดมศึกษา การพัฒนาด้านการบริการโดยเฉพาะธุรกิจอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ร่วมถึงความร่วมมือด้านทุนวิจัย วิชาการ อาทิ นิวตันฟันส์ (Newton Fund) และโอกาสของการลงทุนด้านการศึกษาในประเทศไทยในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก