xs
xsm
sm
md
lg

ไทย-ลาวจับมือสู้พยาธิใบไม้ตับ-มะเร็งท่อน้ำดี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


รศ.ดร.ณรงค์ ขันตีแก้ว อาจารย์สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น

“โรคพยาธิใบไม้ตับ” และ “โรคมะเร็งท่อน้ำดี” นับเป็นอีกหนึ่งโรคภัยที่ยังคงอยู่ในประเทศไทย แม้จะมีผลงานวิจัยต่างๆ ทั้งในด้านวิธีการรักษาที่ดีขึ้น ด้านการตรวจวินิจฉัยที่รวดเร็วขึ้น แต่ก็ยังไม่สามารถลดจำนวนผู้ป่วยในแต่ละปีลงได้ โดยในแต่ละปีมีมีผู้ป่วยที่ต้องเสียชีวิตจากโรคนี้ถึง 2 หมื่นคน และตัวเลขนี้ยังคงไม่ลดลงตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา



ด้วยความเป็นห่วงในสุขภาพของคนไทย รศ.ดร.ณรงค์ ขันตีแก้ว อาจารย์สังกัดภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) จึงค้นคว้าวิธีที่จะทำให้โรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีหมดไปจากประเทศไทย โดยสาเหตุของโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี มาจากพยาธิใบไม้ในตับ ในธรรมชาติพยาธิชนิดนี้จะอาศัยอยู่ในเกร็ดของปลา หากกินปลามีเกร็ดโดยไม่ปรุงสุกก็จะทำให้พยาธิเข้าสู่ร่างกายได้ และจะเข้าไปอาศัยอยู่ในบริเวณตับและท่อน้ำดี จนทำให้เกิดการอักเสบจนเป็นมะเร็ง ซึ่งพยาธิสามารถมีอายุได้ถึง 20 ปีในตัวเรา


ปัจจุบันแม้จะมีวิธีการวินิจฉัยและการรักษาโรคที่รวดเร็วขึ้น เช่น การอัลตราซาวนด์เพื่อวินิจฉัยพยาธิในช่องท้อง การตรวจหาสารคัดหลั่งของพยาธิในปัสสาวะ ซึ่งหากมีการพบพยาธิอยู่ในร่างกายก็จะทำการจ่ายยาเพื่อรักษา แต่ก็มีข้อจำกัดคือยามีราคาสูง ทำให้ผู้มีรายได้น้อยเข้าถึงยาก นอกจากการรักษาด้วยยาแล้ว และหากตรวจพบว่าอยู่ในระยะการป่วยเป็นมะเร็งในท่อน้ำดีแล้ว ก็จะมีการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด แต่ทั้งหมดนี้ก็เป็นการแก้ไขที่ปลายเหตุ เพราะแม้จะมีการรักษาที่ถูกวิธีและหายแล้ว หากผู้ป่วยยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการกินสุกๆ ดิบๆ ก็ยังมีความเสี่ยงที่จะรับพยาธิเข้ามาในร่างกายอีกครั้งและเกิดโรคซ้ำได้


“การรักษาโรคเป็นเพียงแค่หนึ่งวิธีในการต่อสู้กับโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี ยังมีปัจจัยหลายอย่างที่จะช่วยแก้ไขปัญหาในด้านนี้ หนึ่งในวิธีที่น่าจะได้ผลมากที่สุดคือการสร้างความเข้าใจให้ประชาชน โดยเฉพาะในเขตลุ่มแม่น้ำโขง บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ที่มีการแพร่ระบาดของโรคนี้อยู่มาก เนื่องจากมีวิถีชีวิตดั้งเดิมคือการกินปลาแบบปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งความเข้าใจในเรื่องการกินนี้เป็นอะไรที่แก้ยากมาก ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิด “โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี” หรือ "CASCAP” (Cholangiocarcinoma Screening and Care Program) ขึ้นมา เพื่อทำให้นักวิจัยและประชาชนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น และเรียนรู้วิธีการป้องกันไปพร้อมๆ กัน ถึงอันตรายของโรคนี้” รศ.ดร.ณรงค์ กล่าวอธิบาย


โครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี เป็นโครงการกิจกรรมเจ้าหน้าที่สัญจรที่ดำเนินการด้วยสถาบันมะเร็งท่อน้ำดี มข. โดยจะทำการลงพื้นที่ไปยังพื้นที่ที่มีพื้นที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค ด้วยการจัดค่าย 3 วัน 2 คืน เพื่อทำการตรวจคัดกรองชาวบ้านที่เป็นกลุ่มเสี่ยงด้วยวิธีอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อหาผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีระยะเริ่มต้น พร้อมกับทำการรักษา นอกจากนี้ยังมีการร่วมมือกับหน่วยงานในพื้นที่ เช่น อนามัยหมู่บ้าน ครู อาสาชุมชน และคนในชุมชน เพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจของสาเหตุการเกิดโรค ไปพร้อมๆ กับการรักษาโรค โดยโครงการนี้ได้มีการดำเนินงานมาแล้ว 6 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2555


หนึ่งในพื้นที่นำร่องของโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี คือ พื้นที่อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมี นายสุทธินันท์ บุญมี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ประธานเขตสุขภาพเพื่อชุมชน เขต 7 ผู้เป็นตัวเชื่อมระหว่างนักวิจัยและชาวบ้าน กล่าวว่า อำเภอโกสุมพิสัย เป็นอีกหนึ่งอำเภอที่มีการแพร่ระบาดของโรค เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับแม่น้ำชี และด้วยวิถีชีวิตดั่งเดิมของชาวบ้านที่กินปลาส้ม ปราร้า คั่วปลา ซึ่งเป็นการปรุงอาหารที่ไม่สุก จึงทำให้ชาวบ้านในพื้นที่ป่วยเป็นโรคนี้กันมาก แม้จะมีความพยายามในการสร้างความรู้ความเข้าใจของสาเหตุการเกิดโรค ก็ยังไม่ช่วยให้ปริมาณผู้ป่วยลดลง


“การจัดกิจกรรมเจ้าหน้าที่สัญจร แก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็ง ของมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้ดี เพราะทำให้นักวิจัยได้มาพบกับชาวบ้านโดยตรง มีกิจรรมร่วมกัน ตลอดการเข้าค่าย 3 วัน 2 คืน โดยนักวิจัยจะตรวจด้วยวิธีอัลตราซาวนด์ ทำให้ผู้ป่วยและผู้ที่เข้าค่ายได้เห็นพยาธิใบไม้ต้นเหตุของการเกิดโรค และยังได้เห็นอวัยวะที่กำลังถูกพยาธิทำลาย ทำให้เกิดความรู้สึกกลัว” นายสุทธินันท์เล่าถึงการดำเนินงาน


ทางนักวิจัยยังแนะนำวิธีการทำอาหารให้ปลอดภัยแก่แม่ค้าส้มตำที่มาร่วมอบรม เช่น การหมักปลาร้าให้เกิน 2 เดือน เพราะความเค็มจะทำร้ายพยาธิได้ ตลอดจนชาวบ้านหรือเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่นๆ ก็จะได้รับการอบรมในเรื่องการวินิจฉัยและการเฝ้าสังเกตอาการของโรค เพื่อที่จะได้ไปรักษาตัวอย่างรวดเร็วก่อนจะสายเกินแก้ ซึ่งโครงการนี้ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี เพราะข้อมูลของผู้ป่วยในพื้นที่มีจำนวนลดลง อีกทั้งโกลออนไลน์ยังทำให้การสื่อสารข้อมูลง่ายขึ้น ทำให้หน่วยงานที่ได้รับการอบรม สามารถติดต่อขอคำแนะนำเพิ่มเติมกับทางมูลนิธิฯ ได้รวดเร็วและสะดวกขึ้น


จากความสำเร็จของโครงการที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยลดลง และด้วยการมองการไกลของ รศ.ดร.ณรงค์ ที่ได้กล่าวว่า ประเทศไทยเพียงประเทศเดียวไม่สามารถทำให้โรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีหายไปได้ เพราะเพื่อนบ้านของเรา เช่น ประเทศลาว กัมพูชา ก็มีวิถีชีวิตการกินคล้ายๆ กับเรา ทำให้มีการแพร่ระบาดมาก ทางสถาบันฯ จึงได้ร่วมมือกับประเทศลาว นำโครงการดังกล่าวข้ามฝั่งแม่น้ำโขง ไปขยายผลต่อที่ประเทศลาว เพื่อที่จะให้ภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงปลอดภัยจากโรคนี้ โดยส่วนหนึ่งของการดำเนินงานคือการจัดงานประชุมวิชาการด้านมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 2 (Asean Cholangiocarcinoma Conference) เมื่อช่วงกลางเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแลนด์มาร์คนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว


ดร.แสงจันทร์ กุนนาวงศ์ หัวหน้าสถาบันสาธารณะสุขศาสตร์และการแพทบ์เขตร้อน กระทรวงสาธารณะสุข ประเทศลาว กล่าวว่า โรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่มีการแพร่ระบาดมากในประเทศลาว โดยเฉพาะประชาชนในภาคกลาง พื้นที่แขวงคำม่วน และภาคใต้ พื้นที่จำปาศักดิ์ คิดเป็นเป็น 80% ของประชากรของประเทศลาว จากจำนวนทั้งหมด 6 ล้านคน ซึ่งถือว่าเป็นอัตราที่สูงมาก แม้จะทำงานวิจัยเช่นเดียวกับไทย แต่ก็ไม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้ จึงได้ร่วมมือกับทางมูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี ของประเทศไทย และได้นำโครงการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดีมาดำเนินการที่ประเทศลาว


“โครงการดังกล่าวทำให้ทางประเทศลาว ได้เริ่มดำเนินการเมื่อเดือนเมษายน 2562 ที่เมืองปากงึม แขวงกำแพงนครเวียงจันทน์ เป็นแห่งแรก เพราะเป็นชุมชนที่มีพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำ คือเขื่อนปากงึม และประชาชนนิยมบริโภคปลา ด้วยการสร้างความรู้ความเข้าใจถึงต้นเหตุในการเกิดโรค ทำให้คนในชุมชนตระหนักถึงอันตรายของการกินอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ซึ่งผลรับที่ได้อาจจะยังไม่เห็นผล แต่ก็เป็นการเริ่มต้นที่ดี และยังได้จัดตั้งศูนย์รักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีขึ้นที่นครเวียงจันทร์ โดยเป็นจุดรักษาเฉพาะทาง ทำให้ผู้ป่วยชาวลาวได้รู้ว่าหากป่วยเล้วควรมารักษาที่นี่ ไม่ต้องข้ามไปรักษาฝั่งประเทศไทย นอกจากนี้ยังได้ส่งบุคลากรไปอบรมและเรียนรู้วิธีการรักษาโรคและการวินิจฉัยโรค เพื่อที่จะได้เป็นบุคลากรต้นเบบในการกระจายความรู้ไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ของประเทศลาวในอนาคต” ดร.แสงจันทร์กล่าว


ตัวอย่าง พยาธิใบไม้ตับ ตับและปลาที่พยาธิอาศัยอยู่

การอัลตร้าซาวด์ช่องท้องเพื่อหาผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี

บรรยากาศงานประชุมวิชาการด้านมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 2 (Asean Cholangiocarcinoma Conference)  เมื่อวันที่ 12-14 ธ.ค.ที่ผ่านมา ณ โรงแรมแลนด์มาร์คนครหลวงเวียงจันทน์

นายสุทธินันท์ บุญมี อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดอำนาจเจริญ ประธานเขตสุขภาพเพื่อชุมชน เขต 7

ดร.แสงจันทร์ กุนนาวงศ์ หัวหน้าสถาบันสาธารณสุขศาสตร์และการแพทย์เขตร้อน กระทรวงสาธารณะสุข ประเทศลาว

หน้าตาของพยาธิใบไม้ ต้นเหตุของ โรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี

เมนูอาหารที่ที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี

การตรวจหาสารคัดหลั่งของพยาธิในปัสสาวะ


กำลังโหลดความคิดเห็น