วช. และ สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี ยกระดับร่วมมือ สปป.ลาว แก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นำเสนอผลงานวิจัย และหารือแนวทางในการแก้ไขร่วมกันอย่างบูรณาการ
สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น พร้อมภาคีเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สถาบันมะเร็งแห่งชาติ ชมรมศัลยแพทย์ตับ ตับอ่อน ทางเดินน้ำดีแห่งประเทศไทย มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดี สถาบันสาธารณสุขศาสตร์และการแพทย์เขตร้อน สปป.ลาว (Lao Tropical and Public Health Institute) กระทรวงสาธารณสุข สปป.ลาว และโรงพยาบาลมโหสถ สปป.ลาว (Mahosot Hospital, Lao PDR) จัดงานประชุมวิชาการด้านมะเร็งท่อน้ำดี ครั้งที่ 2 (Asean Cholangiocarcinoma Conference) ในหัวข้อ การต่อต้านมะเร็งท่อน้ำดีในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Combating Cholangiocarcinoma in Southeast Asia) ระหว่างวันที่ 12-14 ธ.ค.62 ณ โรงแรมแลนด์มาร์คนครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เพื่สปป.ลาว หารือแนวทางในการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภูมิภาคเอเชียร่วมกันอย่างบูรณาการ
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2559 สภาวิจัยแห่งชาติได้สนับสนุนการดำเนินงานโครงการท้าทายไทย (Thailand Grand Challenge) ซึ่งมุ่งเน้นโครงการวิจัยที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลและวาระแห่งชาติ โดยมีเป้าหมายในการค้นหาทางออกของปัญหาที่สำคัญที่สุดที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน หนึ่งใน หนึ่งในโครงการท้ทายไทย คือ "โครงการท้าทายไทย ประเทศไทยไร้พยาธิใบไม้ตับ" ดำเนินโครงการโดย รศ.ดร.ณรงค์ ขันตีแก้ว จากสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ มีผลงานวิจัยและต่อยอดงานวิจัยช่วยแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นายแพทย์สุทธิพร กล่าวต่อว่า โครงการนี้จะช่วยแก้ปัญหาการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีได้อย่างรวดเร็ว โครงการนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อกำจัดการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทยและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนวิจัยจากมูลนิธิการกุศลกาดูรี (The Kadoorie Charitable Foundation) ประเทศฮ่องกง ผ่านมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ประเทศสหราชอาณาจักร ให้ดำเนินโครงการวิจัยต้านมะเร็งท่อน้ำดี ใน สปป.ลาว เป็นเวลา 3 ปี โดยมุ่งพัฒนาขีดความสามารถการวิจัยสู่การแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศลาว ไทย และประเทศในภูมิภาค มุ่งพัฒนาความร่วมมือของนักวิจัยใน ลาว ไทย สหราชอาณาจักรและสวิตเซอร์แลนด์ มุ่งให้เกิดความร่วมมือในระดับประเทศลาวและไทย (MOU) ทั้งในด้านการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณสุขในทั้ง 2 ประเทศ และรวมไปถึงภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศในเขตอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง
สถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่นได้ดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในประเทศลาว ร่วมกับสถาบันสาธารณสุขศาสตร์และการแพทย์เขตร้อน สปป.ลาว (Lao TPHI) มาเป็นระยะเวลา 1 ปี โดยโครงการได้ดำเนินการพัฒนาระบบ Lao GMS Cohort ขึ้นมาเพื่อใช้ลงทะเบียนและเก็บข้อมูลกลุ่มเสี่ยง และได้ทำการลงทะเบียนกลุ่มเสี่ยง พร้อมตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีที่เมืองปากงึม นครหลวงเวียงจันทน์ไปแล้ว จำนวนกว่า 1,243 ราย พร้อมกันนี้ได้มีการฝึกอบรมบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีทั้งแพทย์และพยาบาล สปป.ลาว จำนวนทั้งสิ้น 61 คน
จากความสำเร็จในการดำเนินงานโครงการในประเทศไทย ทางโครงการได้แสวงหาโอกาสที่จะดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาให้กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงที่ ซึ่งมีปัญหาคล้ายกันเกิดขึ้นโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จจากประเทศไทย โดยสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นประเทศแรกที่ได้ร่วมงาน เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยผ่านการทำงานร่วมกันในรูปแบบต่างๆ สิ่งสำคัญคือการมีส่วนร่วมของชุมชนต่อผลลัพธ์ที่ยั่งยืน
งานประชุมวิชาการครั้งนี้ ตลอดทั้ง 3 วัน ผู้เข้าร่วมประชุมได้เข้านำเสนอผลงานทางวิชาการทั้งหมด 67 หัวข้อ มีผู้เข้าร่วมประชุม บรรยาย และนำเสนอผลงานทางวิชาการ จำนวนทั้งหมดกว่า 200 คน ประกอบไปด้วยทั้งแพทย์ พยาบาล อาจารย์ผู้สอน นักวิจัย นักศึกษาปริญญาโท-เอก จากไทยและ สปป.ลาว และนักวิจัยจากแถบประเทศเอเชียและยุโรป จำนวนกว่า 8 ประเทศ รวมถึงบุคลากรของหน่วยงานภาคีเครือข่ายจากทั้งไทยและ สปป.ลาว
เนื้อหาการบรรยายจะว่าด้วยเรื่องการดำเนินงานด้านการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อาทิ การนำเสนอสถานการณ์ระบาดของพยาธิใบไม้ตับในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การตรวจคัดกรองผู้ป่วยพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เทคโนโลยีและวีธีการผ่าตัดรักษามะเร็งท่อน้ำดี การส่องกล้องเพื่อวินิจฉัยและรักษา แนวทางการรักษามะเร็งท่อน้ำดีโดยการแพทย์แบบแม่นยำ BioMarker การสร้างเครือข่ายการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี และการสร้างภูมิต้านทานป้องกันแก้ไขพยาธิใบไม้ตับด้วยหลักสูตรการเรียนการสอนในโรงเรียน