xs
xsm
sm
md
lg

ส่องเส้นทางเหยี่ยวหนีหนาวลงใต้ไปไกลถึง “ติมอร์”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


นักท่องเที่ยวต่างชาติจากออสเตรเลีย เดินทางมาสังเกตการอพยพของเหยี่ยว
ฤดูหนาวปีนี้นับว่ามีสีสันเพราะหลายพื้นที่มีโอกาสได้สัมผัสความหนาวและความเย็นสบาย แต่สำหรับ “เหยี่ยว” แล้วเมื่อความหนาวมาเยือน จำเป็นต้องอพยพไปหาพื้นที่อบอุ่นเพื่อหากิน

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในเส้นทางผ่านที่เหยี่ยวอพยพหนีหนาว โดยพื้นที่โดดเด่นและติดอันดับโลกในการศึกษาเส้นทางอพยพของเหยี่ยวคือ ศูนย์ศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 200-350 กิโลเมตร

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเดชะ นายกสมาคมอนุรักษ์และธรรมชาติแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เมื่อก่อนคนในพื้นที่ยังไม่เห็นความสำคัญของเหยี่ยว บางส่วนก็ล่าเป็นอาหาร แต่เมื่อปี พ.ศ.2545 ทางสมาคมฯ ได้ร่วมกับมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ และภาครัฐและเอกชน ส่งเสริมกิจกรรมชมเหยี่ยวอพยพ เพื่อให้ชาวบ้านเลิกล่าเหยี่ยวมากิน

“เขาดินสอกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวในการชมเหยี่ยวอพยพที่มีชื่อเสียงระดับโลก มีนักท่องเที่ยวจากสหรัฐฯ และยุโรป โดยเฉพาะกลุ่มสแกนดิเนเวีย ที่ตั้งใจมาชมเหยี่ยวที่เขาดินสอและพร้อมจ่ายเงินเพื่อกิจกรรมชมเหยี่ยวคนละไม่ต่ำกว่า 7,000 เหรียญสหรัฐฯ ประเทศไทยมีคนดูนกประมาณ 3,000 คน ส่วนคนที่ดูเหยี่ยวมีประมาณ 1,000 คน แต่ทั่วโลกมีคนนิยมดูเหยี่ยวนับแสนคน เมื่อนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาดูเหยี่ยวจะใช้เวลาท่องเที่ยวอยู่ใน จ.ชุมพร ประมาณ 7-10 วัน” นายสัตวแพทย์เกษตรกล่าว

ทั้งนี้ ในช่วง ส.ค.-ต.ค. สำหรับพื้นที่ จ.ชุมพรนั้น เป็นช่วงที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั่วไปน้อย แต่เป็นช่วงเวลาทองสำหรับการต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาดูเหยี่ยว ซึ่งช่วงที่เหยี่ยวอพยพผ่านเขาดินสอมากที่สุดคือช่วง 15 ต.ค.-15 พ.ย. โดยมีเหยี่ยวอพยพผ่านพื้นที่นับล้านตัว

นายสัตวแพทย์เกษตรให้ข้อมูลว่า ในประเทศไทยพบเหยี่ยวทั้งที่เป็นนกประจำถิ่นและนกอพยพ 57 ชนิด และมี 38 ชนิดที่พบในพื้นที่เขาดินสอ ซึ่งเขาและนายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ ได้ช่วยกันบุกเบิกให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำหรับนักดูเหยี่ยว ทว่าถึงแม้จะทราบชนิดและจำนวนของเหยี่ยวชนิดต่างๆ ว่าจะอพยพช่วงไหนบ้าง แต่สิ่งที่ไม่เคยทราบเลยคือเหยี่ยวอพยพแต่ละสายพันธุ์มาจากที่ไหนบ้าง

นายชูเกียรติให้ข้อมูลว่า บริเวณเขาดินสอมีพื้นที่ป่ากว่า 2,000 ไร่ ยังมีความเป็นธรรมชาติอยู่มาก จึงติดอันดับพื้นที่ดูเหยี่ยวที่ดีที่สุด 1 ใน 5ของโลก โดยพบกลุ่มเหยี่ยวนกเขามากที่สุดในโลกถึง 6 ชนิด โดยตั้งแต่กลางเดือน ส.ค.เริ่มพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น ตามมาด้วยเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน และเหยี่ยวผึ้ง และพบหนาแน่นขึ้นตั้งแต่ปลายเดือน ก.ย.-ต้นเดือน ต.ค. และพบเหยี่ยวกิ้งก่าอพยพผ่านเขาดินสอหลายหมื่นตัวในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน ต.ค. โดยเห็นได้มากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และนักท่องเที่ยวพบเหยี่ยวได้ระยะไม่เกิน 10-15 เมตร

ด้าน นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ (Mr.Andrew J.Pierce) ผู้เชี่ยวชาญสังกัดห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ระบุว่า การศึกษาลักษณะพื้นที่อาศัยช่วงฤดูผสมพันธุ์และฤดูหนาว รวมถึงเส้นทางอพยพและจุดแวะพักระหว่างทาง เป็นสิ่งสำคัญต่อการอนุรักษ์เหยี่ยว ที่จัดเป็นผู้ล่าชั้นสูงสุดบนห่วงโซ่อาหาร จึงถือเป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญของคุณภาพสิ่งแวดล้อม แต่ปัจจุบันเหยี่ยวหลายชนิดกำลังคุกคามจากเปลี่ยนแปลงพื้นที่อาศัย

ในช่วงฤดูหนาวเหยี่ยวอพยพจะหนีหนาวจากพื้นที่ผสมพันธุ์ (breeding grounds) ในรัสเซียและจีน มายังพื้นที่อาศัยช่วงฤดูหนาว (wintering grounds) ช่วงเดือน ส.ค.-พ.ย. ในเขตร้อนทางตอนใต้ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีเส้นทางอพยพ 2 เส้นทาง

เส้นทางแรก คือ เส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกผ่านมหาสมุทร (The East Asian Oceanic Flyway) เริ่มจากทางตะวันออกเฉียงเหนือของไซบีเรีย ลงมาตามแนวฝั่งตะวันออกของจีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ จนถึงอินโดนีเซีย และเส้นทางเอเชียตะวันออกผ่านแผ่นดินใหญ่ (East Asian Continental Flyway) เริ่มจากเขตไซบีเรีย จีน ลงมาตามแผ่นดินใหญ่ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านคาบสมุทรไทย-มาเลเซีย และหมู่เกาะอินโดนีเซีย

ทว่าเส้นทางอพยพเอเชียตะวันออกนั้นเป็นเส้นทางอพยพของเหยี่ยวที่มีข้อมูลการศึกษาน้อยที่สุด ทีมวิจัยจากห้องปฏิบัติการนิเวศวิทยาการอนุรักษ์ มจธ. นำโดย นายเจ เพียร์ซ จึงร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย และมูลนิธิธรรมชาติเขาดินสอ ใช้เทคโนโลยีดาวเทียมศึกษาเส้นทางของเหยี่ยวและนกอพยพ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

ทีมวิจัยได้ศึกษาเส้นทางอพยพและจุดแวะพักที่สำคัญของเหยี่ยวนกเขา 2 ชนิด คือเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน (Chinese Sparrowhawk) และเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่น (Japanese Sparrowhawk) ที่อพยพผ่านบริเวณเขาดินสอ โดยได้ใช้ตาข่ายแบบพรางตาดักจับเหยี่ยวทั้งสองชนิดๆ ละ 4 ตัว เพื่อตัดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ที่มีลักษณะสะพายหลังและมีน้ำหนักไม่เกิน 4% ของน้ำหนักตัวเหยี่ยว

จากการติดตามพบว่า เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนจะอพยพลงไปบริเวณเกาะสุมาตรา ฝั่งตะวันออกของเกาะนูซาเติงการา (Nusa Tenggara) ของอินโดนีเซีย และประเทศติมอร์-เลสเต โดยใช้เวลาอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว 70-80 วัน เมื่อถึงช่วงเดือน ก.พ.-พ.ค.จะอพยพกลับไปผสมพันธุ์ทางตอนใต้ของจีน โดยมีเหยี่ยวชนิดนี้ 2 ตัวที่นักวิจัยสามารถจับสัญญาณได้ว่าอพยพผ่านเขาดินสออีกครั้ง และทำให้ทราบระยะทางอพยพทั้งสิ้น 14,532 กิโลเมตร หรือมากกว่าเส้นผ่านศูนย์กลางโลก และ 9,710 กิโลเมตร

ส่วนเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้นพบว่าอพยพลงไปถึงเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียว และอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาว 130-170 วัน ก่อนอพยพกลับขึ้นเหนือ แต่นักวิจัยสามารถรับสัญญาณของเหยี่ยวชนิดนี้ในช่วงอพยพกลับได้เพียง 1 ตัวเท่านั้น โดยพบว่าเดินทางออกจากเกาะบังกา อินโดนีเซีย กลับไปยังพื้นที่ผสมพันธุ์ในเขตอามูร์ ทางตะวันออกของรัสเซีย ก่อนสัญญาณจะขาดหายไป โดยรวมระยะทางอพยพทั้งหมด 7,699 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางประมาณ 50 วัน

ด้านนายสัตวแพทย์เกษตรระบุเพิ่มเติมว่า จากการติดตามเหยี่ยวด้วยเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมนี้ ทำให้ทราบว่าเหยี่ยวนกเขาพันธุ์ญี่ปุ่นนั้นไม่ได้อพยพมาจากญี่ปุ่น ซึ่งความคลาดเคลื่อนของการตั้งชื่อนี้เกิดขึ้นจากความเข้าใจผิดของนักปักษีวิทยาเมื่อ 100 กว่าปีมาแล้ว เนื่องจากลักษณะของนกที่ใกล้เคียงกัน และยังเสริมด้วยว่าเขาดินสอเป็นจุดสังเกตการอพยพของเหยี่ยวที่ดีที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง เพราะอยู่บนิเวณคอคอดกระซึ่งเป็นบริเวณพื้นที่แคบที่สุดของเส้นทางอพยพลงใต้ของนก จึงมีนกนับล้านตัวบินผ่านบริเวณนี้

ทว่านักวิจัยยังพบประเด็นที่น่าห่วงคือ บริเวณที่เหยี่ยวอาศัยอยู่ในช่วงฤดูหนาวหรือจุดหยุดพักที่สำคัญของเหยี่ยวทั้งสองชนิดนี้ กำลังถูกรุกล้ำเข้าใช้ประโยชน์โดยมนุษย์ และเปลี่ยนแปลงป่าดั้งเดิมให้กลายเป็นพื้นที่เกษตร เช่น ปลูกปาล์มน้ำมัน ยางพารา และพืชสกุลอะเคเซีย (Acacia) ซึ่งเป็นพืชตระกูลถั่วชนิดหนึ่ง ซึ่งข้อมูลเส้นทางเหยี่ยวนี้จะช่วยในการนำไปจัดการและอนุรักษ์ เพื่อป้องกันการถูกคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงถิ่นอาศัยได้

นักท่องเที่ยวต่างชาติจากออสเตรเลีย เดินทางมาสังเกตการอพยพของเหยี่ยว



นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ คลี่ตาข่ายพรางตาสำหรับดักจับนก

นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ ม้วนเก็บตาข่ายพรางตาสำหรับดักจับนก

นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ กับตาข่ายพรางตาที่ออกแบบมาให้ไม่เป็นอันตรายต่อนก

วัดขนาดส่วนต่างๆ ของเหยี่ยว



ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์ให้เหยี่ยว

เหยี่ยวที่ถูกติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์

ทีมวิจัยบันทึกข้อมูล

นายแอนดรูว์ เจ เพียร์ซ และเหยี่ยวที่ถูกติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณดาวเทียมพลังงานแสงอาทิตย์

ฝูงเหยี่ยวอพยพเห็นเป็นจุดดำๆ บนท้องฟ้า

ฝูงเหยี่ยวอพยพเห็นเป็นจุดดำๆ บนท้องฟ้า

นายสัตวแพทย์เกษตร สุเดชะ นายกสมาคมอนุรักษ์และธรรมชาติแห่งประเทศไทย

นายชูเกียรติ นวลศรี ประธานมูลนิธิศึกษาธรรมชาติเขาดินสอ

ทิวทัศน์บนเขาดินสอจากจุดชมวิว


กำลังโหลดความคิดเห็น