ปัจจุบันมีกล้องจุลทรรศน์ที่สามารถมองเห็นรูปร่างของเซลล์ต่างๆ แต่การวัดจำนวนของเซลล์ต่างๆ นั้นก็ยังทำได้ยาก ต้องอาศัยการคาดคะเนของตัวอย่างเซลล์จากผู้ที่เชี่ยวชาญ หรือใช้เทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง จึงทำให้การทำงานของนักวิจัยที่ใช้ต้องกล้องจุลทรรศน์ในการนับจำนวน เกิดความล่าช้า และสร้างความเมื่อยล้าแก่ผู้ปฏิบัติงานได้
จากปัญหานี้ นายปิยวัฒน์ อุบล พร้อมด้วย นายณัทกร เกษมสำราญ และนายภูเบศวร์ พอดี นิสิตจากภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้รวมทีมประดิษฐ์ อุปกรณ์ “ไมโครซิสดีซีเอ็น” (MicrosisDCN) อุปกรณ์สำหรับวินิจฉัยเซลล์อย่างชาญฉลาด อุปกรณ์เสริมสำหรับกล้องจุลทรรศน์ที่ช่วยให้นักวิจัยที่ทำงานในด้านนี้ สามารถทำงานได้รวดเร็วและแม่นยำในการคัดแยกเซลล์ต่างๆ และช่วยลดระยะเวลาในการทำงาน และความเมื่อยล้าที่เกิดจากการส่องกล้องเป็นเวลาต่อเนื่อง
นายปิยวัฒน์ อุบล กล่าวว่า ในเลือดเพียงหนึ่งหยดก็ประกอบไปด้วยเซลล์ต่างๆ เช่น เซลล์เม็ดเลือดแดง เซลล์เม็ดเลือดขาว และเซลล์จุลชีพอื่นๆ ในยามที่เราป่วยไข้เลือดเพียงหนึ่งหยดก็สามารถบอกได้ว่าเราป่วยเป็นโรคอะไร ด้วยการวินิจฉัยจากการคาดคะเนจำนวนของเซลล์ต่างๆ ด้วยกล้องจุลทรรศน์ แต่ต้องการคาดคะเนต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้และความชำนาญ เพราะรูปลักษณะของเซลล์บางชนิดนั้นก็มีความคล้ายคลึงกัน หากไม่เชี่ยวชาญก็อาจจะเกิดผลที่คลาดเคลื่อนได้ และในการคาดคะเนแต่ละครั้งก็ต้องนับจำนวนเซลล์ด้วยตา ซึ่งใช้เวลาและทำให้ล่าช้า อีกทั้งในแต่ละวันนักวิจัยที่ทำงานด้านนี้ต้องนับตัวอย่างเซลล์จำนวนมาก ทำให้เกิดความเมื่อยล้าจากการส่องกล้องจุลทรรศน์เป็นเวลานานได้
นายปิยวัฒน์ กล่าวอธิบายว่า "ไมโครซิสดีซีเอ็น" เป็นอุปกรณ์สำหรับวินิจฉัยเซลล์ มีลักษณะเป็นกล่องสี่เหลี่ยมที่ใช้สวมเข้ากับท่อเลนส์ใกล้ตาของกล้องจุลทรรศน์ อุปกรณ์จะวินิจฉัยเซลล์ตัวอย่างที่อยู่บนแผ่นสไลด์ เช่น แบคทีเรีย เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เซลล์จุลชีพขนาดเล็กอื่นๆ ด้วยระบบ “Neural network” โมเดลทางคอมพิวเตอร์สำหรับประมวลผล จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งไปยังโปรแกรมที่ติดตั้งไว้ในในระบบคอมพิวเตอร์ และแสดงผลการวินิจฉัยบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ทราบถึงจำนวนของเซลล์ชนิดต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทำให้นักวิจัยไม่ต้องมานั่งเพ่งสายตาส่องกล้องจุลทรรศน์ ประหยัดเวลาในการคาดคะเนจำนวนเซลล์และลดความเมื่อยล้าของผู้ปฏิบัติงานได้
นายปิยวัฒน์ กล่าวเสริมว่าอุปกรณ์ไมโครซิสดีซีเอ็น ยังสามารถเรียนรู้และจดจำลักษณะของเซลล์ต่างๆ ได้ สามารถวินิจฉัยได้ทั้งเซลล์ของมนุษย์และสัตว์ สามารถใช้ได้กับกล้องจุลทรรศน์ทุกรุ่นทุกยี่ห้อ ปัจจุบันได้นำไปทดลองใช้ที่ คณะสัตวแพทย์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และได้รับผลตอบรับที่ดี เพราะช่วยวินิจฉัยตัวอย่างเซลล์ได้อย่างแม่นยำและช่วยประหยัดเวลา และกำลังมีการดำเนินการเพื่อใช้กับตัวอย่างเซลล์มนุษย์ อีกทั้งในอนาคตก็จะมีการพัฒนาให้ตัวอุปกรณ์สามารถวินิจฉัยเซลล์ได้หลากหลายชนิดมากขึ้น อีกทั้งจะมีการสร้างกลุ่มชุดข้อมูลอัจฉริยะ สำหรับใช้ในเชิงวิจัยและคาดการแนวโน้มการเกิดโรคระบาดในอนาคตอีกด้วย
ด้วยความก้าวล้ำในเทคโนโลยีของอุปกรณ์ ที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคต ในการเป็นตัวช่วยของนักวิจัยในการวินิจฉัยและนับจำนวนเซลล์ อุปกรณ์ไมโครซิสดีซีเอ็น จึงได้เป็น 1 ใน 12 ผลงาน ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันธุรกิจด้านเทคโนโลยีในโครงการ Young Technopreneur 2019 ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)