คอลัมน์นี้ต่อจากสองสัปดาห์ก่อน จากที่ทำความรู้จักกับประเภทของวัตถุท้องฟ้าแต่ละประเภทกันแล้ว สิ่งที่เราควรทราบสำหรับการถ่ายภาพ Deep Sky Objects ต่อไปก็คือ การเตรียมการถ่ายภาพวัตถุ ซึ่งประกอบด้วยการเลือกวัตถุที่ต้องการถ่ายภาพ การหามุมรับภาพที่เหมาะสม การตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์ การหาข้อมูลสภาพอากาศบริเวณที่เราจะใช้เป็นจุดถ่ายภาพ และการเรียนรู้กระบวนการประมวลผลภาพถ่าย ทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่นักถ่ายภาพ Deep Sky Objects ควรทราบก่อนออกไปถ่ายภาพกันครับ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การเลือกวัตถุท้องฟ้าที่สามารถถ่ายภาพได้
2. การหามุมรับภาพ
หลังจากที่เราเลือกวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการและสามารถถ่ายภาพได้แล้ว ควรตรวจเช็คมุมรับภาพก่อนเสมอ เพื่อความแน่นอนในการเลือกอุปกรณ์ (เลนส์ หรือ กล้องโทรทรรศน์) ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพให้สามารถเก็บรายละเอียดของวัตถุได้ครบทั้งหมด โดยรายละเอียดสามารถอ่านต่อได้ตามลิงก์ : shorturl.at/mDE09
3. ตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์
นอกจากการเลือกวัตถุและการเช็คมุมรับภาพของวัตถุท้องฟ้าที่ต้องการถ่ายภาพแล้ว อย่าลืมตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์ คือ การขึ้น-ตก ของดวงจันทร์ในแต่ละวันด้วย เนื่องจากแสงสว่างจากดวงจันทร์ทำให้เราไม่สามารถถ่ายภาพวัตถุท้องฟ้าซึ่งมีความสว่างน้อยๆได้เลย ดังนั้น ก่อนออกไปถ่ายภาพต้องตรวจสอบปฏิทินดวงจันทร์ก่อนเสมอ
4. การหาข้อมูลสภาพอากาศบริเวณที่เราเลือกเป็นจุดถ่ายภาพ
เมื่อได้สถานที่ถ่ายภาพ Deep Sky Objects แล้ว ควรตรวจสอบว่าบริเวณดังกล่าวมีสภาพอากาศอย่างไร มีความชื้นสูงหรือไม่ ซึ่งกรณีที่จุดถ่ายภาพอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำก็อาจมีความชื้นในอากาศสูงในช่วงที่เราถ่ายภาพ ซึ่งต้องใช้เวลาในการถ่ายภาพหลายชั่วโมง ดังนั้นเราอาจติดตั้งอุปกรณ์แถบความร้อนกันความชื้นกับกล้องถ่ายภาพไว้ก่อนก็ถือเป็นอีกสิ่งที่จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพ Deep Sky Objects
รายละเอียดการสร้างแถบความร้อนกันความชื้น อ่านต่อได้ตามลิงก์ : shorturl.at/lGJKN
5. การเรียนรู้กระบวนการโปรเซสภาพถ่าย (Image Processing)
อีกสิ่งสุดท้ายสำหรับพื้นฐานก่อนออกไปถ่ายภาพ Deep Sky Objects ก็คือการทำความเข้าใจกับกระบวนการโปรเซสภาพถ่าย โดยภาพที่จำเป็นสำหรับการโปรเซสภาพ เบื้องต้นจะต้องประกอบด้วยภาพ 1. Light Frame (ภาพถ่ายวัตถุท้องฟ้า) 2. Dark Frame 3. Flat Frame 4. Bias Frame อ่านรายละเอียดการถ่ายภาพ Deep Sky Objects เพิ่มเติมตามลิงก์ : shorturl.at/dhx09
โปรแกรมที่นักดาราศาสตร์สมัครเล่นนิยมใช้ เช่น โปรแกรม DeepSkyStacker ซึ่งเป็นฟรีแวร์ที่สามารถทดลองดาวน์โหลดมาใช้งานได้ ตามลิงก์ : http://deepskystacker.free.fr/english/index.html
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน