เทคโนโลยีล้ำสมัย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการค้นหาสิ่งมีชีวิตบอกดาวดวงอื่นๆ ในจักรวาล จากปัจจัยอื่นๆ ทั้งด้านระยะห่างระหว่างดวงดาวที่แสนไกล ที่ต้องใช้ระยะเวลาในการเดินทางไปนานแสนนาน แม้จะมีข้อมูลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่ช่วยยืนยันว่าสิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นได้ไม่ยาก เมื่อดาวเคราะห์เย็นตัวลงและมีเกิดปฏิกิริยาทางชีวะเคมีก็ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้นได้ แต่สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นนั้นจะมีสติปัญญาเหมือนมนุษย์เราหรือไม่ ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญ
เหมือนดั่งที่ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ได้กล่าวว่า จากคำตอบที่ว่า “สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาบนโลกได้ไม่ยาก” ก็ยังมีคำถามต่อว่า แม้บนดาวดวงอื่นๆ จะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต แต่บนดาวจะมีสิ่งมีชีวิตที่สามารถวิวัฒนาการให้มีสติปัญญาเหมือนกับมนุษย์หรือไม่ สิ่งนี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คำถามว่า “จะมีสิ่งมีชีวิต นอกจากบนโลกหรือไม่” ยังคงอยู่ เพราะเรายังไม่สามารถค้นพบได้ การพัฒนาเทคโนโลยีให้ล้ำสมัยจึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญ เพื่อที่จะทำให้เราได้ค้นพบหรือสื่อสารกับสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นๆ ได้รวดเร็วขึ้น โดยไม่กังวลปัจจัยเรื่องระยะห่างระหว่างดวงดาว
ในเรื่องเทคโนโลยีการค้นหาสิ่งมีชีวิตในอวกาศนั้น ดร.แอนดริว ซีเมียน (Dr.Andrew Siemion) ผู้อำนวยการสถาบันด้านการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่รู้จักกันในชื่อ เซติ (SETI – the Search for Extra-Terrestrial Intelligence) ได้กล่าวไว้ว่า ถ้าเราถามนักดาราศาสตร์ว่าจะค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้อย่างไร ก็จะได้คำตอบ 2 ข้อ คือวิธีที่หนึ่งคือ การส่งยานอวกาศออกไปสำรวจเพื่อไปเก็บตัวอย่างบนดาวจริง ดูหลักฐานว่ามีสิ่งมีชีวิตหรือเปล่า และวิธีที่สอง คือการใช้กล้องโทรทัศน์บนพื้นโลกหรือดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลก ส่องดาวต่างๆ ในห้วงอวกาศ และวิเคราะห์ถึงปัจจัยว่ามีความสมดุลหรือกิจกรรมทางชีวเคมีหรือไม่ ที่จะเอื้อในการกำเนิดสิ่งมีชีวิต
“หากเราส่งยานสำรวจออกไปค้นหาสิ่งมีชีวิตในอวกาศนั้น มันเป็นเรื่องที่น่าสนใจและใครๆ ก็คาดหวังที่จะพบเจอ แต่ในวิธีนี้มีความจำกัด เพราะเราทำได้แค่เพียงในระบบสุริยะของเรา หากส่งไปยังดาวอื่นๆ นั้นยากมากเพราะระยะห่างระหว่างดวงดาวนั้นไกลมากๆ แม้ระบบสุริยะที่ใกล้ที่สุด คือระบบของดาวเคราะห์พร็อกซิมา เซนทอรี บี (Proxima Centauri B) ก็ยังมีระยะห่างถึง 4 ปีแสง ถ้าจะใช้เวลาแบบความเร็วแสงก็ต้องใช้เวลาถึง 4.5 ปี ยิ่งถ้าเป็นดาวอื่นๆ ก็ยังต้องใช้เวลาเป็นสิบปี หรืออาจจะร้อยปี แต่วัตถุที่เดินทางแบบความเร็วแสงเรายังทำไม่ได้” ดร.แอนดริว กล่าวเสริม
เพราะฉะนั้นวิธีที่สอง การใช้กล้องโทรทรรศน์จึงเป็นทางเลือกที่ดี โดยเฉพาะ “กล้องโทรทรรศน์วิทยุ” ที่สามารถมองหาการเกิดสิ่งมีชีวิตในอวกาศ และร่องรอยอารยธรรมที่เกิดขึ้นบนดาวเคราะห์ต่างๆ ได้อย่างกว้างไกล อีกทั้งในปัจจุบันคลื่นวิทยุที่ทรงพลังที่สุดสามารถค้นหาได้ในระยะ 1 หมื่นปีแสง โดยในระยะนี้ มีดาวฤกษ์และดาวเคราะห์มากมายให้ได้สำรวจ แม้ว่าการค้นหาสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้เหมือนเรานั้น จะยากกว่าสิ่งมีชีวิตพื้นระดับเบื้องต้นด้วยการใช้เทคโนโลยีแบบกล้องโทรทัศน์วิทยุนี้ ก็จะมีความเป็นไปได้ที่จะพบกับสิ่งมีชีวิตต่างๆ ได้มากกว่าการส่งยานอวกาศไปเก็บตัวอย่าง
ในกล้องโทรทรรศน์วิทยุมีองค์ประกอบหลักๆ 4 ส่วน ได้แก่ จานสะท้อน (Reflector) ตัวรับสัญญาณ(Antenna) ตัวขยายสัญญาณ (Amplifier) และตัวบันทึก (Recorder) การทำงานของกล้องนั้น จะมีจานสะท้อนทำหน้าที่รับคลื่นวิทยุแล้วสะท้อนมันไปยังจุดโฟกัสเหมือนกับกระจกในกล้องโทรทรรศน์แบบใช้แสง แต่เนื่องจากคลื่นวิทยุมีความยาวคลื่นมากกว่าแสงมาก ดังนั้นจานสะท้อนจึงไม่จำเป็นต้องเรียบอย่างกระจก แต่จานสะท้อนต้องมีขนาดใหญ่มาก และจุดโฟกัสจะมีตัวรับสัญญาณเล็กๆ อยู่ ซึ่งทำหน้าที่ไม่ต่างจากเสารับสัญญาณ คล้ายๆ หนวดกุ้งของโทรทัศน์ ทำหน้าที่รับสัญญาณวิทยุที่ถูกรวมเป็นจุดเดียว จากนั้นมันจะส่งสัญญาณไปยังส่วนขยายสัญญาณ ตัวขยายสัญญาณจะขยายสัญญาณแล้วส่งข้อมูลไปยังตัวบันทึกในระบบคอมพิวเตอร์ที่จะแปลงสัญญาณวิทยุที่ตรวจจับออกมาเป็นข้อมูล ให้ได้วิเคราะห์
ปัจจุบันกล้องโทรทรรศน์วิทยุบนโลกนี้ มีอยู่หลายเครื่องและหลายขนาด กล้องที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีความกว้างถึง 500 เมตร มีชื่อว่า “กล้องโทรทรรศน์วิทยุฟาสต์” ตั้งอยู่ที่ประเทศจีน และในประเทศไทยก็กำลังมีการก่อสร้างกล้องโทรทรรศน์วิทยุด้วยเช่นกัน โดยตั้งอยู่ที่ บริเวณศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ในพระราชดำริ อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ มีขนาด 40 เมตร เป็นกล้องโทรทรรศน์วิทยุที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กล้องโทรทรรศน์วิทยุจึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่ช่วยตอบโจทย์ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตในอวกาศ และนับเป็นผลพลอยได้จากความอยากรู้อยากเห็นในเรื่องนี้ ที่ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีไม่มีวันหยุดนิ่ง และจะมีการพัฒนาต่อไปเพื่อที่จะตอบคำถามและยืนยันได้ว่า “มีสิ่งมีชีวิตในดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ในอวกาศ นอกจากโลกของเรา”