xs
xsm
sm
md
lg

อาจมี “สิ่งมีชีวิตนอกโลก” แต่เราไม่เจอ เพราะช่วงเวลาชีวิตไม่ตรงกัน-เทคโนโลยีไม่เอื้อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ดร.แอนดริว ซีเมียน ผู้อำนวยการสถาบันด้านการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่รู้จักกันในชื่อ เซติ
“จะมีสิ่งมีชีวิต นอกจากบนโลกหรือไม่” เป็นถามที่หลายคนสงสัย เมื่อได้มองดูตัวเราที่เกิดขึ้นมาบนโลกใบนี้ได้ แล้วทำไมจะมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เกิดขึ้นบนดาวดวงอื่นๆ ไม่ได้ ด้วยคำถามนี้จึงทำให้เหล่านักวิทยาศาสตร์ที่สนใจในเรื่องนี้ ได้พยายามคิดค้นนวัตกรรมและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อที่จะสำรวจอวกาศอันกว้างใหญ่

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์กรมหาชน) หรือ สดร. กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หยิบคำถามนี้ขึ้นมาถกอีกครั้งในระหว่างการเสวนา “Are we alone in the Universe? ไขปริศนา ... สิ่งมีชีวิตนอกโลก” ที่จัดขึ้นทั้งที่กรุงเทพฯ และเชียงใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ เพื่อที่จะพูดคุยถึงเรื่องราวสิ่งมีชีวิตนอกโลกว่ามีอยู่จริงหรือไม่

“อวกาศนั้นกว้างใหญ่มากจนเราไม่สามารถกำหนดขนาดที่แท้จริงได้ได้แต่เพียงทำการคาดคะเน สิ่งที่เรามนุษย์เรามองเห็นได้จากบนโลกนั้น เป็นแค่เพียงพื้นที่น้อยนิดในห้วงอวกาศ”

ดร.แอนดริว ซีเมียน (Dr. Andrew Siemion) ผู้อำนวยการสถาบันด้านการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกที่รู้จักกันในชื่อ เซติ (SETI – the Search for Extra-Terrestrial Intelligence) ได้กล่าวว่า หลักจากที่มนุษย์ได้พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถสำรวจอวกาศได้ ก็ทำให้ได้รู้ว่า ในความเป็นจริงแล้วช่องว่างระหว่างดวงดาวที่ส่องแสงที่เป็นพื้นสีดำอันมืดมิดนั้นมีกาแล็กซีอยู่มากมาย

ในแต่ละกาแล็กซียังมีดาวฤกษ์อีกเป็นแสนล้านดวง และในทุกๆ ดาวฤกษ์ก็มีดาวเคราะห์โคจรรอบอยู่ คล้ายๆ ระบบสุริยะของเรา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในกาแล็กซี่ และไม่ใช่ข้อยกเว้นที่เกิดขึ้นแค่ในระบบสุริยะของเรา เพราะฉะนั้นในทุกๆ ดาวฤกษ์จะมีดาวเคราะห์ไม่มากก็น้อยโคจรรอบอยู่ และ 1 ใน 5 หรือประมาณ 20 % ของดาวฤกษ์ทั้งหมดในกาแล็กซี จะมีดาวเคราะห์ที่มีสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิต

“จากการศึกษาหาข้อมูลได้พบว่า สิ่งมีชีวิตนั้นเกิดขึ้นเร็วมากๆ แบคทีเรียสามารถเกิดขึ้นได้ทันทีหลังจากที่โลกเย็นตัวลง โดยการเย็นตัวลงของโลกนั้นทำให้เกิดปฏิกิริยาทางชีวเคมีที่ทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตขึ้น และการศึกษาก็ยังทำให้รู้ว่า สิ่งมีชีวิตบางชนิดยังสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในภูมิประเทศสุดขั้ว และยังมีวิวัฒนาการที่ซับซ้อนมากมาย จึงทำให้เกิดความคิดว่า บนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ นอกจากโลกของเรานั้น ก็สามารถมีสิ่งมีชีวิตได้ด้วยเช่นกัน” ดร.แอนดริวอธิบาย

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้กล่าวว่า จากคำตอบที่ว่า “สิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นมาบนโลกได้ไม่ยาก” ก็ยังมีคำถามต่อว่า แม้บนดาวดวงอื่นๆ จะมีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการเกิดสิ่งมีชีวิต แต่บนดาวจะมีสิ่งมีชีวิตที่สามารถวิวัฒนาการให้มีสติปัญญาเหมือนกับมนุษย์หรือไม่ และสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญานั้นจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีในการศึกษาข้อมูลนอกดวงดาวได้อีกหรือไม่

"สิ่งนี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้คำถามว่า “จะมีสิ่งมีชีวิต นอกจากบนโลกหรือไม่” ยังคงอยู่ เพราะเรายังไม่สามารถค้นพบได้ หากมีสิ่งมีชีวิตบนดาวดวงอื่นที่มีสติปัญญาเหมือนกับมนุษย์จริงๆ แล้ว ก็คงจะสามารถรับรู้ได้แล้วว่า บนโลกของเรามีสิ่งมีชีวิตที่พยายามติดต่อกับพวกเขาอยู่ เพราะดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุดที่ถูกค้นพบว่าอยู่ห่างออกไปแค่ 4 ปีแสงเท่านั้นเอง" ดร.ศรัณย์กล่าว

สำหรับดาวเคราะห์ดังกล่าวคือ ดาวเคราะห์พร็อกซิมา เซนทอรี บี (Proxima Centauri B) ซึ่งเป็นดาวบริวารของดาวฤกษ์พร็อกซิมา (Proxima Centauri) แต่ ดร.ศรัณย์ระบุว่า เราไม่สามารถรู้ได้ว่าบนดาวเคราะห์ดังกล่าวจะมีสภาวะเอื้ออำนวยต่อการกำเนิดสิ่งมีชีวิตเหมือนบนโลกหรือไม่ หรือถ้ามีก็ไม่สามารถทราบได้ว่า สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นจะสามารถพัฒนาเทคโนโลยีได้หรือไม่

"เนื่องจากในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์เราเพิ่งจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อติดต่อสื่อสารขึ้น เมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมานี่เอง และมนุษย์ก็เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาเมื่อประมาณ 5หมื่นปีที่แล้ว ซึ่งโลกของเรานั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วง 4 พันกว่าล้านปีก่อน ช่วงชีวิตของมนุษย์และการกำเนิดเทคโนโลยีจึงเป็นแค่เศษเสี้ยวของเวลาทั้งหมดของโลก เหตุนี้จึงเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้เรายังไม่สามารถติดต่อกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้” ดร.ศรัณย์ กล่าวเสริม

 ดาวเคราะห์พร็อกซิมา เซนทอรี บี (Proxima Centauri B) ดาวเคราะห์ที่มีลักษณะคล้ายโลกมากที่สุด อยู่ห่างออกไปแค่ 4 ปีแสง
ส่วน ศ.ไมเคิล กาเรตต์ (Prof. Michael Garett) ผู้อำนวยการสถาบันกล้องโทรทรรศน์วิทยุโจเดรลล์แบงค์ (Jodrell Bank Centre for Astrophysics) ได้กล่าวเสริมในเรื่องนี้ว่า การค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกมีความยาก เพราะกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้นมีขนาดใหญ่มาก และประกอบด้วยดาวเป็นแสนล้านดวง หากต้องการเดินทางจากขอบอีกด้านหนึ่งไปยังอีกด้าน ด้วยความเร็วของแสงอันเป็นความเร็วสูงสุดเท่าที่เรารู้จัก ก็ต้องใช้เวลาถึง 6 หมื่นปีในการเดินทาง และกาแล็กซีทางช้างเผือกนั้นก็มีอายุที่เก่าแก่มากประมาณ 1 หมื่นล้านปี ด้วยระยะเวลาขนาดนี้ ในช่วงที่เกิดดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ ก็สามารถเกิดสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญาบนดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ได้ด้วยเช่นกัน

“ยังมีปัจจัยอีกมากมาย เช่น ตัวแปรอายุไขของอารยธรรม ซึ่งยากมากที่จะรู้ หากเกิดมีสิ่งมีชีวิตที่มีสติปัญญา และดำรงชีวิตอยู่มาถึงในช่วง 100ปี หรือ 10,000 ปี สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นก็สามารถสร้างอารยธรรมขึ้นได้ และอารยธรรมนั้นก็สามารถล่มสลายไปได้ โดยไม่จำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้นพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถรู้เลยว่า ในช่วงที่เรากำลังสำรวจสิ่งมีชีวิตนอกโลกอยู่ จะมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นหรือไม่ มีอารยธรรมเกิดขึ้นหรือล่มสลายไปแล้วหรือไม่ และด้วยอายุอันยาวนานของกาแล็กซีแล้ว จึงมีโอกาสน้อยมากๆ ที่จะเกิดการทับซ้อนอายุไขของอารยธรรม ซึ่งอาจมีสิ่งมีชีวิตที่เหมือนเราแต่ล่มสลายไปแล้ว จึงไม่สามารถติดต่อกับเราได้”ศ.ไมเคิล อธิบายถึงอีกหนึ่งตัวแปรในการค้นหาสิ่งมีชีวิต

ด้วยปัจจัยต่างๆ การดำรงไว้ซึ่งอารยธรรม การรักษาสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตให้คงอยู่ การพัฒนาเทคโนโลยีที่ทันสมัย จึงเป็นปัจจัยที่จะยืดอายุขัยของมนุษย์ เพื่อให้มีช่วงเวลาทับซ้อน และสามารถทำให้เราติดต่อกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้ การที่เรายังไม่พบสิ่งมีชีวิตนอกโลกก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มี หรืออาจจะมีแล้วแต่พวกเขาเหล่านั้นได้จากพวกเราไปแล้ว หรือกำลังเริ่มต้นติดต่อกับเรา จึงทำให้คำถามที่ว่า “จะมีสิ่งมีชีวิต นอกจากบนโลกหรือไม่” ยังคงอยู่

ศาตราจารย์ไมเคิล กาเรตต์ ผู้อำนวยการสถาบันกล้องโทรทรรศน์วิทยุโจเดรลล์แบงค์

ศาตราจารย์ไมเคิล แกเร็ต กล่าวถึง การทับซ้อนกันของช่วงเวลาของอารยะธรรม

งานเสวนา “Are we alone in the Universe? ไขปริศนา ... สิ่งมีชีวิตนอกโลก”

บรรยากาศงานเสวนา “Are we alone in the Universe? ไขปริศนา ... สิ่งมีชีวิตนอกโลก”

น้องๆ นักเรียนที่เข้าร่วมงาน งานเสวนา “Are we alone in the Universe? ไขปริศนา ... สิ่งมีชีวิตนอกโลก”
กำลังโหลดความคิดเห็น