คอลัมน์นี้เราจะมาเรียนรู้การเตรียมตัวถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาบางส่วน ส่งท้ายปี 2562 กัน ครับ โดยปรากฏการณ์ครั้งนี้จริงๆ แล้วที่เกิดบนโลกเป็นปรากฏการณ์ “สุริยุปราคาวงแหวน” แนวคราสวงแหวนพาดผ่านประเทศอินเดีย ศรีลังกา สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ส่วนประเทศไทยจะเห็นเป็น “สุริยุปราคาบางส่วน” ดวงจันทร์จะบดบังดวงอาทิตย์บางส่วน ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เว้าแหว่ง สามารถสังเกตได้ทุกภูมิภาคของไทย แต่ละภูมิภาคจะมองเห็นดวงอาทิตย์ถูกบดบังแตกต่างกัน ดวงอาทิตย์จะถูกบดบังมากที่สุดบริเวณภาคใต้ที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา ประมาณร้อยละ 81 ส่วนภาคเหนือที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ดวงอาทิตย์จะถูกบังเพียงร้อยละ 40 ส่วนกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะถูกบังประมาณร้อยละ 56 ช่วงเวลาประมาณ 10:19 - 13:57 น. (เวลา ณ กรุงเทพฯ) แต่ก่อนที่เราจะไปเรียนรู้เทคนิคการเตรียมตัวถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา เรามาทำความเข้าใจกับปรากฏการณ์สุริยุปราคากันก่อนครับ
ความรู้เกี่ยวกับสุริยุปราคา
สุริยุปราคา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลก โคจรมาเรียงอยู่ในแนวเดียวกันโดยมีดวงจันทร์อยู่ตรงกลาง จะเกิดขึ้นเฉพาะในวันที่ตรงกับจันทร์ดับ เมื่อสังเกตจากพื้นโลกจะเห็นดวงจันทร์เคลื่อนเข้ามาบดบังดวงอาทิตย์ โดยอาจบังมิดหมดทั้งดวงหรือบางส่วนก็ได้ ในแต่ละปีสามารถเกิดสุริยุปราคาบนโลกได้อย่างน้อย 2 ครั้ง สูงสุดไม่เกิน 5 ครั้ง
สุริยุปราคามี 4 รูปแบบ ได้แก่
1. สุริยุปราคาเต็มดวง (total eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์หมดทั้งดวง
2. สุริยุปราคาบางส่วน (partial eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่มีเพียงบางส่วนของดวงอาทิตย์เท่านั้นที่ถูกบัง
3. สุริยุปราคาวงแหวน (annular eclipse) คือ ปรากฏการณ์ที่ดวงอาทิตย์มีลักษณะเป็นวงแหวน เกิดเมื่อดวงจันทร์อยู่ในตำแหน่งที่ห่างไกลจากโลก ดวงจันทร์จึงปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์
4. สุริยุปราคาแบบผสม (hybrid eclipse) คือปรากฏการณ์ที่ความโค้งของโลกทำให้สุริยุปราคาคราวเดียวกันกลายเป็นแบบผสมได้ คือ บางส่วนของแนวคราสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวง ที่เหลือเห็นสุริยุปราคาวงแหวน บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงเป็นส่วนที่อยู่ใกล้ดวงจันทร์มากกว่า
การเตรียมตัวสำหรับถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วน วันที่ 26 ธันวาคม 2562 นี้
สุริยุปราคาครั้งนี้ แต่ละพื้นที่ของประเทศไทยจะเห็นเปอร์เซ็นต์การบังของดวงจันทร์ต่างกัน โดยทางภาคใต้จะมีเปอร์เซ็นต์การบังมากที่สุด โดยเวลาที่ดวงจันทร์บดบังดวงอาทิตย์มากที่สุดอยู่ในช่วงเวลาประมาณเที่ยงวัน (สามารถดูเวลาในแต่ละพื้นที่จากแผนภาพด้านล่าง) ซึ่งตำแหน่งของดวงอาทิตย์จะอยู่บริเวณเหนือศีรษะเหมาะแก่การถ่ายภาพ เรามาดูกันว่าสิ่งที่ควรเตรียมมีอะไรบ้าง ดังนี้
1. เวลาและสถานที่
เวลาถือเป็นตัวกำหนดสถานที่ในการสังเกตการณ์ปรากฏการณ์สุริยุปราคา โดยช่วงเวลาตั้งแต่ 10.00 – 14.00 น. น่าจะช่วงเวลาที่ดีสำหรับการสังเกตการณ์ เนื่องจากตำแหน่งของดวงอาทิตย์อยู่ในมุมสูง ประกอบกับช่วงดังกล่าวจะมีปริมาณเมฆค่อนข้างน้อย
สุริยุปราคาครั้งนี้ประเทศไทยเราสามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ 10.30 -14.00 น. โดยประมาณ ก็ถือเป็นโอกาสดีที่เราจะมีโอกาสได้เห็นครบทั้งปรากฏการณ์โดยไม่มีอุปสรรคจากเมฆบริเวณขอบฟ้า (ยกเว้นว่าบริเวณไหนฝนตก อันนี้ก็อดครับ)
หมายเหตุ : การเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคานั้นจะมีจุดเริ่มต้นการเกิดคราสบนพื้นโลกและสุดสิ้นสุด โดยเราสามารถตรวจสอบได้ว่า บริเวณไหนบ้างบนโลกที่จะสามารถสังเกตเห็นปรากฏการณ์ได้ในช่วงเวลาที่กล่าวไปเบื้องต้น
(เราก็แค่บินไปรออยู่ที่จุดนั้น...แต่สำหรับที่ไทยเราเวลาอยู่ในช่วงที่เหมาะสมพอดี แต่ไม่ได้อยู่ในแนวคราสเท่านั้นครับ)
2. ตรวจสอบเวลาการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคา
เราสามารถตรวจสอบเวลาการเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาได้จากเว็บไซต์ https://www.timeanddate.com(หรือทดลองเข้าตามลิงก์ : https://www.timeanddate.com/eclipse/in/thailand/bangkok) ก็จะช่วยให้ทราบเวลาการเกิด เปอร์เซ็นต์การบดบัง และตำแหน่ง/มุม ของดวงอาทิตย์ได้อย่างละเอียด
3. ตรวจสอบพิกัดของดวงอาทิตย์ขณะเกิดปรากฏการณ์ ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดปรากฏการณ์ เพื่อใช้ประกอบการเลือกสถานที่ ที่มีทิศทางที่ไม่ถูกวัตถุหรือต้นไม้บดบัง
อุปกรณ์จำเป็นสำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา ได้แก่
1. แผ่นกรองแสง (จำเป็นมากกก) สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคา
การถ่ายภาพปรากฏการณ์สุริยุปราคาก็คือการถ่ายภาพดวงอาทิตย์นั่นเอง ผู้ถ่ายต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะแสงอาทิตย์มีความเข้มแสงมาก หากพลาดอาจทำให้ตาเราบอดได้ ดังนั้นก่อนการถ่ายภาพ หรือการใช้กล้องส่องดูนั้น ต้องมีอุปกรณ์กรองแสงอาทิตย์ที่ได้มาตรฐาน อย่างเช่น แผ่นกรองแสงอลูมิเนียมไมลาร์ แผ่นกรองแสงแบล็คพอลิเมอร์ แผ่นกรองแสง ND ความเข้ม 10 Stop แผ่นกรองแสงแบบกระจกเคลือบโลหะ กระจกบังตาเชื่อมโลหะเบอร์ 14 ขึ้นไป หรือฟิลเตอร์ไฮโดรเจน-อัลฟา จะช่วยให้เห็นพวยก๊าซบนดวงอาทิตย์ ทว่าฟิลเตอร์ชนิดนี้มีราคาแพงราคานับแสนบาท ฟิลเตอร์ชนิดไมลาร์เป็นแผ่น โลหะบางๆ มีราคาถูกกว่า ทำให้เห็นดวงอาทิตย์เป็นสีขาว หรือสีอื่น ฟิลเตอร์ชนิดกระจกเคลือบโลหะ ทำให้มองเห็นดวงอาทิตย์เป็นสีส้มหรือสีเหลือง ขึ้นอยู่กับชนิดของวัสดุที่เคลือบฟิลเตอร์ที่มีคุณภาพเพื่อกรองแสงอาทิตย์ไม่ให้เข้าสู่ตาของเรามากเกินไป
หมายเหตุ : แผ่นกรองแสงต่างสามารถหาซื้อได้ตามลิงก์ https://www.facebook.com/suvittelescopes/
2. กล้องโทรทรรศน์หรือเลนส์เทเลโฟโต้ เพื่อให้ได้ขนาดภาพปรากฏการณ์ที่มีรายละเอียดสูง (สำหรับการถ่ายภาพปรากฏการณ์มุมแคบ)
หลังจากที่ได้แผ่นกรองแสงแล้ว เลนส์ก็เป็นอีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน โดยมากเรามักถ่ายภาพกันในรูปแบบปรากฏการณ์มุมแคบ เลนส์ที่แนะนำคือเลนส์เทเลโฟโต้ ที่มีความยาวโฟกัสสูงๆ ตั้งแต่ 300mm. ขึ้นไป เพื่อให้ได้ภาพปรากฏการณ์ที่มีความละเอียดสูง
อย่างไรก็ตาม เลนส์ช่วงปกติ ก็สามารถถ่ายปรากฏการณ์ในรูปแบบมุมกว้างได้สวยงามเช่น กัน ดังภาพตัวอย่างด้านล่าง
3. ขาตั้งกล้องที่มั่นคง หรือฐานตามดาวแบบที่มีโหมดติดตามดวงอาทิตย์ Solar rate
ถึงแม้ดวงอาทิตย์จะสว่างมาก แต่การถ่ายภาพผ่านแผ่นกรองแสงภาพดวงอาทิตย์ก็ไม่ได้สว่างมาก ทำให้ต้องใช้ค่าความเร็วชัตเตอร์ที่ต่ำ ทำให้จำเป็นต้องใช้ขาตั้งกล้องที่มั่นคง หรือที่ดีกว่าคือการถ่ายภาพบนฐานตามดาวของกล้องโทรทรรศน์ก็จะทำให้สามารถถ่ายภาพ ด้วยค่าความไวแสงต่ำๆ และค่าสปีดชัตเตอร์ต่ำได้ดี
แต่หากไม่สามารถหาอุปกรณ์ขาตั้งกล้องได้ การถ่ายภาพด้วยการใช้มือเปล่า ก็ต้องใช้ค่าสปีดชัตเตอร์ ให้สัมพันธ์กับความยาวโฟกัสของเลนส์ เช่น หากใช้เลนส์ทางยาวโฟกัส 300 mm. ก็ควรใช้ค่าสปีดชัตเตอร์ 1/300 sec เพื่อป้องกันการสั่นไหวของภาพ
เทคนิคการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วน 1. ความไวแสงของกล้อง (ISO : 100 – 800) ควรเลือกค่าความไวแสงที่ต่ำที่สุดที่ ยังสามารถถ่ายภาพได้โดยไม่ทำให้สปีดชัตเตอร์ต่ำจนเกินไป เพื่อให้ได้ภาพที่มีคุณภาพสูงสุด
2. รูรับแสง (f/8 – f/11) ควรตั้งรูรับแสงที่เหมาะสมเพื่อให้ภาพที่ออกมามีลักษณะชัดลึก ครอบคลุมทั้งภาพ สำหรับค่าที่เหมาะสมน่าจะอยู่ประมาณ f8-f11 ซึ่งจากประสบการณ์แล้วค่ารูรับแสงที่ชัดที่สุดดีที่สุดของเลนส์ส่วนใหญ่มักอยู่ที่ค่าประมาณนี้
3. วิธีการวัดแสง ที่ดีที่สุดคือการเลือกวัดแสงเฉพาะจุด โดยเลือกวัดบริเวณดวงอาทิตย์ที่เป็นสีส้มหรือแดง แต่ในทางปฏิบัติจริงๆ แล้วเมื่อกล้องวัดแสงพอดีแล้ว เมื่อถ่ายภาพออกมาภาพที่ปรากฏบนจอภาพเราจะเห็นว่าภาพดวงอาทิตย์จะยังมีความสว่างมาก(โอเวอร์) เกินไปให้ปรับชดเชยการเปิดรับแสงโดยให้กล้องวัดแสงอันเดอร์ลงมาประมาณ 2-3 สตอป แล้วเช็คดูว่าภาพมีแสงที่พอดีไม่สว่างโอเวอร์หรือมืดจนเกินไป
4. ความเร็วชัตเตอร์ โดยตั้งค่าความเร็วชัตเตอร์ให้สัมพันธ์กับทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ เช่น หากเราใช้เลนส์ที่มีทางยาวโฟกัส 600 mm ควรใช้ความเร็วชัตเตอร์ไม่ต่ำกว่า 1/600s
5. การโฟกัสภาพดวงอาทิตย์ให้คมชัด โดยการใช้การซูมภาพจากระบบ Live view โดยเลือกจุดโฟกัส อาจเป็นบริเวณจุด Sunspot หรือบริเวณของของดวงอาทิตย์
6. ตรวจเช็คมุมรับภาพก่อน เพื่อสะดวกในการเลือกอุปกรณ์ (เลนส์ หรือ กล้องโทรทรรศน์) ที่เหมาะสมในการถ่ายภาพได้ตามความต้องการ โดยรายละเอียดสามารถอ่านต่อได้ตามลิงก์ : shorturl.at/mDE09
7. ควรใช้แผ่นฟอยล์สะท้อนความร้อน หุ้มบริเวณกล้องหรือเมาส์กล้องโทรทรรศน์ เนื่องจากกล้องอาจต้องถ่ายภาพปรากฏการณ์ตลอดทั้งปรากฏการณ์ ซึ่งความร้อนที่สะสมอาจทำให้อุปกรณ์เสียหายได้
สิ่งที่น่าสนใจสำหรับการถ่ายภาพสุริยุปราคาบางส่วน คือจุด Sunspot แต่เป็นที่น่าเสียเดียเพราะในวันที่ 26 ธันวาคม 2562 นี้ ดวงอาทิตย์อยู่ในช่วง Solar Minimum ซึ่งจะสังเกตพบจุดมืดดวงอาทิตย์ในปริมาณที่น้อยมาก โดยวัฏจักรของการสลับขั้วของสนามแม่เหล็กดวงอาทิตย์นั้นจะเกิดขึ้นทุกๆ 11 ปี
เกี่ยวกับผู้เขียน
ศุภฤกษ์ คฤหานนท์
สำเร็จการศึกษาครุศาสตรบัณฑิต สาขาฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ และครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและการสื่อสาร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่
ปัจจุบันเป็นหัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สดร., เคยทำวิจัยเรื่อง การทดสอบค่าทัศนวิสัยท้องฟ้าบริเวณสถานที่ก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติ มีประสบการณ์ในฐานะวิทยากรอบรมการดูดาวเบื้องต้น และเป็นวิทยากรสอนการถ่ายภาพดาราศาสตร์ในโครงการประกวดภาพถ่ายดาราศาสตร์ ประจำปี 2554 ของ สดร.ในหัวข้อ “มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์ในเมืองไทย”
“คุณค่าของภาพถ่ายนั้นไม่เพียงแต่ให้ความงามด้านศิลปะ แต่ทุกภาพยังสามารถอธิบายด้วยหลักการทางวิทยาศาสตร์ได้อีกด้วย”
อ่านบทความ "มหัศจรรย์ภาพถ่ายดาราศาสตร์" โดย ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ ทุกวันจันทร์ที่ 1 และ 3 ของเดือน