xs
xsm
sm
md
lg

งานวิจัยพื้นฐานยังไม่ถูกทิ้ง มีสัดส่วนทุนให้ 20%

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ภาครัฐกำลังเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจบนพื้นฐานงานวิจัย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม งานวิจัยที่ตอบโจทย์ประเทศจะได้รับการสนับสนุนทุนวิจัย แต่ก็มีความกังวลว่างานวิจัยพื้นฐานที่ไม่สร้างรายได้อาจถูกละเลย

กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ได้จัดการประชุม "BCG in Action - จัดทัพขับเคลื่อน BCG" เมื่อวันที่ 28 พ.ย.62 ณ โรงแรมปทุมวันปริ๊นเซส เพื่อระดมความเห็นจากภาครัฐ เอกชน หน่วยบริหารจัดการทุน มหาวิทยาลัยและสื่อมวลชน

ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวมีวาระสำคัญคือนายกรัฐมนตรีจะให้ "บีซีจีโมเดล" (BCG Model) เป็นกลไกใหม่ในการขับเคลื่อนประเทศ โดยทาง อว.ได้จัดทำหนังสือแผนแม่บทนำเสนอแก่นายกรัฐมนตรี และได้รับหน้าที่ในการจัดทัพขับเคลื่อนโมเดลนี้ที่จะยกระดับรายได้ของประชาชน เช่น การทำสมาร์ทฟาร์ม พลังงานสะอาด และการท่องเที่ยว

สำหรับบีซีจีโมเดลคือการพัฒนา 3 เศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ไปพร้อมๆ กัน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม

เบื้องต้นในการจัดทัพขับเคลื่อนบีซีจีโมเดลนั้น ผู้รับผิดชอบเรื่องนโยบายคือ สอวช. ส่วนทุนวิจัย ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและ นวัตกรรม (สกสว.) และยังมีหน่วยบริหารและจัดการทุน (Program Management Unit : PMU) ทั้ง 7 หน่วย ได้แก่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) 

ทั้งนี้ ดร.สุวิทย์ได้ทำความเข้าใจแก่ผู้ร่วมประชุมว่า ในช่วง 2-3 เดือนมานี้เรากำลังทำงานอยู่บนแพลตฟอร์มใหม่ ทว่าเราก็ยังติดกับแพลตฟอร์มเดิมๆ ที่เป็นรูปแบบหน่วยงานให้ทุนวิจัย จึงฝากให้หน่วยบริหารและจัดการทุนช่วยกันคิดถึงวิธีการให้ทุนใหม่ๆ โดยต้องคำนึงถึงบีซีจีโมเดลที่ตอบโจทย์ประเทศ โดยมีตัวอย่างข้อเสนอในการให้ทุนวิจัยในรูปแบบรางวัล (Award) ที่ให้ผู้วิจัยส่งผลงานเข้ามาคัดเลือก

นอกจากนี้ ดร.สุวิทย์ ยังฝากถึงมหาวิทยาลัยให้ปรับเปลี่ยนแนวคิด ตอนนี้มหาวิทยาลัยไม่ได้ผูกขาดเป็นผู้ตอบโจทย์วิจัยแล้ว ยังผู้ตอบโจทย์อื่นๆ จากภาคเอกชน ชุมชน หรือแม้กระทั่งการจับมือกับหน่วยงานจากต่างประเทศ และมหาวิทยาลัยต้องรวมตัวกันเป็นหุ้นส่วน ขณะที่หน่วยบริหารและจัดการทุนต้องมองภาพใหญ่ให้ออกเพื่อนำไปสู่การกำหนดโจทย์วิจัย

"งานนี้ถ้าทำดีๆ จะเปลี่ยนประเทศโดยที่งยประมาณไม่เพิ่ม ที่ผ่านมาเราใช้งบแบบ "ถมไม่เต็ม" โดยบีซีจีโมเดลจะตอบโจทย์ทั้งความยั่งยืน และทุกคนมีโอกาสเข้าร่วม และเป็นกระบวนทัศน์การใช้งบของประเทศที่เปลี่ยนจากค่าใช้จ่ายเป็นการลงทุน ผ่านการลงทุนด้านความรู้ ที่ผ่านมางานวิจัยอยู่ที่ภาครัฐ แต่อีก 5 ปีข้างหน้าต้องผลักงานวิจัยไปที่ภาคเอกชน โดยเฉพาะรายย่อย ตอนนี้ 70-80% งานวิจัยภาคเอกชนผูกขาดที่รายใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องอันตราย ถ้าทำแบบนี้ เราจะเป็นเหมือนเกาหลี ตอนนี้งบวิจัยของไทยอยู่ที่ 1.1% ของจีดีพี ส่วนของเกาหลีอยู่ที่ 4% และประชาชนเจาไม่ยอมให้ตัด เพราะเขารู้ว่ามาถึงวันนี้ได้เพราะอะไร" ดร.สุวิทย์กล่าว

อย่างไรก็ตาม ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมว่าการดำเนินงานด้วยบีซีจีโมเดลนี้จะกระทบต่องานวิจัยพื้นฐานหรือไม่ ซึ่ง ดร.สุวิทย์ระบุว่า งานวิจัยพื้นฐานยังได้รับการสนับสนุน แต่แบ่งสัดส่วนเป็นงานวิจัยตามบีซีจีโมเดล 80% และอีก 20% เป็นงานวิจัยพื้นฐาน และเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้นจากการดำเนินงานตามนโยบายนี้ ในอนาคตก็อาจจะปรับเปลี่ยนสัดส่วนเป็น 60:40 หรือ 50:50 ได้

"เราพยายามสร้างสมดุลการวิจัย ระหว่างปัจจุบันกับอนาคต ตอนนี้ประเทศไม่ได้รวยมาก ก็ให้น้ำหนักที่ปัจจุบันมากหน่อย พอปัญหาปัจจุบันน้อยลงค่อยมองอนาคต" ดร.สุวิทย์กล่าว และยังอธิบายด้วยว่า งานวิจัยที่ตอบโจทย์บีซีจีโมเดลนั้นเป็นการบูรณาการข้ามศาสตร์ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ สังคมศาสตร์ และมนุษยศาสตร์








กำลังโหลดความคิดเห็น