สกสว.แจงแนวทางปฏิบัติเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณปี 63 และปี 64 แก่หน่วยงานในระบบ ววน. ประกาศพร้อมเดินหน้าการสนับสนุน ส่งเสริม และขับเคลื่อน ววน.อย่างเป็นระบบ และเห็นผลเชิงรูปธรรมตาม OKRs
ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) เปิดเผยว่า การประชุมชี้แจงระบบ และแนวทางปฏิบัติเพื่อเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณสำหรับหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 มีหน่วยงานในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) 171 หน่วยงานเข้าร่วมการประชุม
ทั้งนี้ ในการประชุมครั้งนี้มีการจัดตั้งสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และหน่วยงานอื่นๆ ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) มีการจัดตั้งกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กสว.) และมีการจัดตั้ง สกสว. โดยบทบาทของ สกสว.คือมีหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ขับเคลื่อนระบบ ววน.ให้หน่วยงานต่างๆ นำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในหน่วยงานของตนอย่างเต็มศักยภาพ โดยกระบวนการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ งานวิจัยต่อยอด (Translational) ซึ่งเป็นกระบวนการสำคัญที่ผลักดันไปสู่การสร้างผลกระทบอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ
ในส่วนของกรอบงบประมาณนั้น สกสว.แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ 1. ทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน (Fundamental Fund) ที่แบ่งย่อยออกเป็น 1.1 Basic Research Fund & Institution Capacity Building Fund ที่จะจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรมที่ชื่อ “พีเอ็มยู” (PMU มาจากคำว่า Program Management Unit) เพื่อนำไปสนับสนุนแก่โครงการวิจัยพื้นฐาน และสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยและการบริหารงานวิจัยของสถาบันความรู้ และสถาบันวิจัยในหน่วยงาน
1.2 Basic Function Fund ที่จะจัดสรรงบประมาณตรงไปยังหน่วยงานเฉพาะด้าน ววน. และดำเนินการงานตามภารกิจของตนเอง ซึ่งอาจรวมโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน.ระดับชาติ และโครงการริเริ่มที่สำคัญของประเทศ 2. ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ตาม 4 Platforms 16 Programs ที่จะมีการจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานบริหารจัดการโปรแกรม เพื่อนำไปสนับสนุนให้แก่หน่วยงานระดับปฏิบัติ
ด้าน รศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รอง ผอ. สกสว. ด้านการพัฒนาระบบ ววน. และเครือข่าย กล่าวว่า การปรับโครงสร้างในระบบ ววน.ที่เกิดขึ้นแบ่งชั้น (Tiers) ของการทำงานออกเป็น 5 Tiers คือ Tiers ที่ 1 หน่วยงานด้านนโยบาย คือ สอวช. และ สกสว. Tiers ที่ 2 คือหน่วยงานให้ทุนวิจัย อาทิ วช. สวรส. NIA Tiers ที่ 3 คือหน่วยงานที่ทำวิจัยเอง Tiers ที่ 4 หน่วยงานที่ทำวิจัย เรื่องการตรวจสอบ และ มาตรฐาน อาทิ มาตรวิทยา Tiers ที่ 5 หน่วยงานทางด้านการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์
นอกจากนี้ ยังมีหน่วยบริหารและจัดการทุนใหม่ในระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่สภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติมีมติให้จัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย 1) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) 2) หน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และ 3) หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัย และนวัตกรรมด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) อีก 3 หน่วยงาน เพื่อให้ดำเนินงานล้อตามยุทธศาสตร์อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ที่แบ่งเป็น 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม
ขณะที่ ศ.ดร.สมปอง คล้ายหนองสรวง รอง ผอ.สกสว. ด้านการบริหารงบประมาณ กล่าวว่า งบประมาณ ววน.กลุ่ม Fundamental Fund” ด้าน Basic Function แบ่งคำของบประมาณออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ถ้าเป็นงบบริหารจัดการด้านงานวิจัย รายจ่ายพื้นฐานมาตรา 17(1) ขอที่สำนักงบประมาณ ส่วนที่ 2 งบประมาณด้านการวิจัย Basic Function Fund ตามข้อกฎหมายมาตรา 17 (2) ขอที่ สกสว. ทั้งในแบบทุนสนับสนุนงานพื้นฐาน ประกอบด้วย
1.1) Basic Research Fund & Institutional Capacity Building Fund ที่สนับสนุนทุนแก่โครงการงานวิจัยพื้นฐาน และสร้างความเข้มแข็งของงานวิจัยและการบริหาร งานวิจัยของสถาบันความรู้และสถาบันวิจัยในหน่วยงาน สัดส่วน 15% 1.2) Basic Function Fund เป็นการจัดสรรงบประมาณตรงไปยังหน่วยงานที่มีภารกิจเฉพาะด้าน ววน. และดำเนินการตามพันธกิจของตนเอง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานด้าน ววน.ระดับชาติ และโครงการริเริ่มสำคัญของประเทศ สัดส่วน 35% และ 2. Strategic Fund ทุนสนับสนุนงานเชิงกลยุทธ์ เป็นลักษณะ Competitive Funding ที่สนับสนุนทุนแก่หน่วยงานระดับปฏิบัติ โดยต้องเป็นการทำวิจัยที่เน้นตอบยุทธศาสตร์และแผนด้าน ววน.ของประเทศ สัดส่วน 50%
ในส่วนของระบบการจัดสรรงบประมาณและบริหารงบประมาณแบบบูรณาการที่มุ่งผลสัมฤทธิ์ ที่มุ่งสนับสนุนการบริหารจัดการงานวิจัย ตั้งแต่ต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยมีการติดตามและประเมินผล และ การทำงานผ่านแพลตฟอร์ม 4 แพลตฟอร์ม 1) การ Empowerment 2) ระบบ IT (EPMS/TIRAs) 3) Training Course 4) ระบบเครือข่าย หรือ Ecosystem ผ่านการจัดทำแผนด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม