งาน Innovation Forum 2019 ขึ้นเป็นครั้งที่3 โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (สกสว) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช) ในการทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาและตอบโจทย์ความต้องการภายในประเทศอันจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยนวัตกรรม
นายเจอโรน พรินซัน (Mr. Jeroen Prinsen) รองประธานและผู้อำนวยการภูมิภาคออสเตรเลีย เอเชียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คลาริเวท อนาลิติคส์ กล่าวว่า ลูกค้าของเรามีทั้งภาควิชาการ ภาครัฐและองค์กรต่างๆ ที่ต้องการเร่งสร้างนวัตกรรมจากผลงานวิจัย ซึ่งโดยทั่วๆ ไปงานวิจัยมักจะเริ่มต้นจากมหาวิทยาลัย และก็ถูกนำไปใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่ท้าทาย จากนั้นก็จะเป็นการต่อยอดไปสู่สินค้าหรือบริการ และท้ายสุดคือการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาของเรา ซึ่งคลาริเวท มีโซลูชั้นที่คอยสนับสนุนในทุกขั้นตอนของกระบวนการทำวิจัยนี้
สำหรับผลตอบรับของงาน Innovation Forum ที่เคยจัดมาทั้งสองครั้งก่อนนั้นมีผลตอบรับที่ดี จึงได้มีการจัดครั้งที่สาม และแนวทางต่อไปเราจะทำงานร่วมกันพันธมิตร และเราถือเป็นพันธกิจของเราในการให้การสนับสนุนงานวิจัยและนวัตกรรมในประเทศไทย โดยคลาริเวทมีลูกค้าที่เป็นกลุ่มมหาวิทยาลัยเกือบทุกแห่งที่ใช้ระบบฐานข้อมูลอ้างอิงงานวิจัย (Web of Science) รวมทั้งภาครัฐที่ดูแลในส่วนงานนี้ และบริษัทชั้นระดับนำท็อปของประเทศที่เน้นการสร้างงานวิจัยและพัฒนาก็ใช้โซลูชั่นของเราในหน่วยงานวิจัย
ดร.อัครวิทย์ กาญจนโอภาศ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช และซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหารซึ่งเป็นโครงการของรัฐบาล กล่าวว่า โครงการนี้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนทั้งผู้ประกอบการเอกชนที่อยู่ในภาคเกษตรอาหาร รวมถึงดึงดูดบริษัทต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในเรื่องนวัตกรรมทางด้านอาหารให้มากขึ้น โดยเราสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในทุกระดับ ตั้งแต่ start up ไปจนถึง sme ไปจนถึง enterprise ให้มีความสามารถในการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น
เนื่องจากภาครัฐเล็งเห็นว่าแนวโน้มของอุตสากรรมนี้มีความสำคัญต่อประเทศมาก โดยอุตสาหกรรมอาหารคิดเป็นสัดส่วนถึง 20% ของจีดีพีประเทศ และบุคคลากรที่อยู่ในสายอาชีพนี้มีมากถึง 40 ล้านคน เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรประเทศ แต่เรามีรายได้ที่เกิดจาก sector นี้ค่อนข้างต่ำ คือเมื่อรวมรายได้ของภาคเกษตรและอาหารกลับมีมูลค่าไม่เกิน 11% ของจีดีพี เมื่อเทียบกับจำนวน 40 ล้านคนที่อยู่ในสายงานนี้จะมีรายได้ต่อหัวต่ำมาก ดังนั้นวิธีการที่ประเทศจะเปลี่ยนผ่านไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ตามนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลก็คือเราต้องใส่นวัตกรรมเข้าไป รวมถึงเราต้องปฏิรูประบบการวิจัยทั้งระบบ
สิ่งที่เราคิดว่า Clarivate มีคือข้อมูลเชิงลึกที่จะมาช่วยสนับสนุนการทำงานและการตัดสินใจ ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรากำลังทำงานวิจัยเรื่องหนึ่งอยู่ เราควรจะรู้ว่าเรื่องนี้ตลาดวิจัยอยู่ที่ไหน? เราควรจะไปหาใคร? จะได้ทุนวิจัยจากแหล่งใด? ข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราตัดสินใจได้เฉียบคม ฉลาดมากขึ้น ถ้ามัวแต่มานั่งงมกันก็จะไปไม่ถูกทาง และเรามีทรัพยากรจำกัด ซึ่งทำให้เราต้องคิดให้รอบคอบโดยเราไม่ควรจะลงทุนในทุกเรื่อง แต่เราควรจะลงทุนในบางเรื่องที่เราแข่งขันได้ ดังนั้นถ้าเรามีข้อมูลในมือ เราจะรู้ว่าเพิ่มเรื่องนี้เข้าไปนิดนึงเราก็สามารถที่จะยืนอยู่ในระดับโลกได้ ทำเรื่องนี้อีกนิดนึงเราก็จะมีตลาดรองรับอยู่ ซึ่งฐานข้อมูลจาก Clarivate จะช่วยย่นเวลาในการช่วยวางแผนการตัดสินใจที่สำคัญๆ
ด้านรศ.ดร.พงศ์พันธ์ แก้วตาทิพย์ รองผู้อำนวยการด้านพัฒนาระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมและเครือข่าว สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ สกสว. กล่าวว่า เมื่อก่อนเราคือ สกว ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มอบทุนสนับสนุนงานวิจัย (funding agency) ที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องของงบประมาณ โดยสนับสนุนทุนวิจัยสำหรับงานวิจัยพื้นฐานและงานวิจัยที่เอาไปใช้ประโยชน์ได้เลย ซึ่งที่ผ่านมาได้สนับสนุนองค์กรไปร่วม 150 บริษัทที่ทำงานวิจัยร่วมกับมหาวิทยาลัย โดยใช้งบประมาณเกือบ 400 ล้านบาทและได้มาจากภาคเอกชน 100 ล้านบาท ในปี 2562
ในภาพรวมของประเทศ เราได้งบทางด้านวิจัยคิดเป็นสัดส่วน 1% ของ GDP แต่มากจากภาครัฐ 0.2 และภาคเอกชน 0.8% ซึ่งคงจะเทียบกับประเทศชั้นแนวหน้าไม่ได้ ยกตัวอย่างเกาหลีใต้งบทางด้านวิจัยและพัฒนาจะอยู่ที่ 4% ของ GDP แต่โดยทั่วๆ ไปก็จะประมาณ 2% ของ GDP และสำหรับประเทศไทยงบ 0.2% ในรูปแบบการทำงานราชการไม่ตอบโจทย์การวิจัย เช่น ต้องใช้ให้จบภายใน 1 ปี และไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้ ซึ่งงานวิจัยมักจะ dynamic ทำปีเดียวไม่เสร็จ การสร้าง innovation ต้อง long term
ดังนั้นเราจึงปฏิรูปงานวิจัย โดยย้าย สกสว มาอยู่ภายใต้กระทรวงวิทยาศาสตร์ และย้ายมหาวิทยาลัยทั้งหมดให้มาอยู่ที่กระทรวงใหม่ คือกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดยสกสว มีหน้าที่ต้องบริหารจัดการกองทุนวิจัย โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการให้ทุนวิจัยเป็นรายโครงการไปสู่กองทุนที่ดูแลงบประมาณวิจัยของทั้งประเทศ และพยายามจะเปลี่ยนรูปแบบการให้เงินในระบบราชการเป็นให้ตามผลงานที่ส่งมอบ (output delivered) โดยมีอิสระที่จะบริหารเงินทุนได้ภายใต้ความสมเหตุสมผล ซึ่งเรามีวิธีการประเมิน และต้องมีงบวิจัยให้ต่อเนื่องจนบรรลุผล เราก็เลยเสนอว่ารัฐบาลก็ต้องลงทุน R&D เพิ่มมากขึ้น
เราตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 งบประมาณควรจะแตะ 1.5% GDP และในปี 2570 ควรจะถึง 2% GDP และรัฐบาลจะต้องลงทุนให้ได้ 30% เป็นอย่างน้อย แม้ว่าภาคเอกชนจะลงเยอะดี แต่ภาครัฐก็ไม่ควรน้อยไป และถ้าเรามีข้อมูลที่ดีก็จะทำให้ภาครัฐรู้ว่าควรจะลงทุนอะไร? โฟกัสในด้านไหน? ดังนั้นทุกอย่างในการวางแผนต้องมีข้อมูล.