ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีฝ่ายกิจการพิเศษและประชาสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Thon Thamrongnawasawat” เมื่อ 16 ธันวาคม 2562 สรุปเรื่องสำคัญเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมทางทะเลของไทยในปี 2562 ว่ามี เรื่องที่ส่งผลดี หรือ ยอดเยี่ยม 4 เรื่อง และเรื่องที่ส่งผลร้าย หรือ ยอดแย่ 3 เรื่อง ตามลำดับ พร้อมมองแนวโน้มปี 2563 ว่าเศรษฐกิจจะกดดันให้เกิดการพัฒนาได้เพียงบางพื้นที่ จึงขอให้ทุกคนในสังคมช่วยกันกระตุ้นและจุดกระแสการอนุรักษ์และร่วมกันดูแลท้องทะเลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการพัฒนาไปในทิศทางที่ดี
เยี่ยมหนึ่ง “สี่สัตว์สงวน”
หลังจากพยายามผลักดันอย่างหนักต่อเนื่องมาหลายปี ในที่สุด ประเทศไทยก็มีสัตว์สงวนใหม่ 4 ชนิด ทั้งหมดเป็นสัตว์ทะเล ได้แก่ วาฬบรูด้า วาฬโอมูระ ฉลามวาฬ และเต่ามะเฟือง พร้อมกับกฎหมายใหม่ “พรบ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า (2562)” กำหนดบทลงโทษไว้สูงมาก จำคุก 3-15 ปี ปรับ 0.3-1.5 ล้านบาท
“ยกให้เรื่องนี้เป็นสิ่งดีอันดับหนึ่งของปี 2562 เพราะกฎหมายจะคงอยู่ต่อไปอีกนานเท่านาน ถึงทุกวันนี้ยังไม่เคยมีสัตว์สงวนชนิดใดถูกถอดจากกฎหมาย สำหรับประโยชน์ที่ได้รับในเบื้องแรกคือการรณรงค์และการกระตุ้นด้านการอนุรักษ์ เพราะคำว่าสัตว์สงวนมีความศักดิ์สิทธิ์"
เยี่ยมสอง “แบนถุงพลาสติกใช้แล้วทิ้ง”
ด้วยผลกระทบจากปัญหาขยะทะเลโดยเฉพาะขยะพลาสติกยังคงเพิ่มขึ้น เห็นได้จากขยะพลาสติกในท้องของสัตว์ทะเลหายากบางส่วนที่เกยตื้น ซึ่งอาจะมีจำนวนเกิน 500 ตัว แม้จะมีการรณรงค์มาอย่างต่อเนื่อง
ดังนั้น การประกาศขอความร่วมมือ “งดแจกถุงพลาสติกหูหิ้ว” จากห้างร้านกว่า 43 แบรนด์ ที่จะเริ่มในวันที่ 1 มกราคม 2563 จึงถือเป็นก้าวใหญ่เป็นครั้งแรกของเมืองไทย เพราะจะช่วยลดขยะถุงพลาสติกได้ 13,000 ล้านใบต่อปี
โดยหวังว่า “พรบ.จัดการขยะพลาสติก” จะเป็นรูปเป็นร่างในปีหน้า ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการออกกฎระเบียบในการดูแลพลาสติกใช้แล้วทิ้ง และสนับสนุนผลิตภัณฑ์ทดแทน ฯลฯ
เยี่ยมสาม “ฟื้นฟูอ่าวมาหยา”
แม้ว่าเรื่องนี้จะต่อเนื่องจากปีก่อน แต่นำมาอยู่ในปีนี้ เพราะมีโรดแมปแน่ชัด โดยกรมอุทยานฯ ประกาศปิดอ่าวมาหยา 2 ปี (ถึงตอนนี้เหลือ 16 เดือน) ในระหว่างนี้ จะมีการฟื้นฟูในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเห็นผลดีของการปิดอ่าวแล้ว เช่น มีฉลามมาอาศัยอยู่มากกว่า 60 ตัว มีปะการังเริ่มงอก ฯลฯ
พร้อมทั้ง การจัดการรูปแบบใหม่ เช่น การกำหนดจำนวนนักท่องเที่ยวต่อช่วงเวลา การสร้างทางเดินเพื่อไม่ให้ลงไปเหยียบย่ำ ฯลฯ เป็นเรื่องที่ต่างประเทศสนใจมากและติดตามอย่างต่อเนื่อง จนถือว่าเป็นโครงการ Flagship ของการอนุรักษ์ทะเลไทยในระดับนานาชาติ
เยี่ยมสี่ “การดูแลการประมงเริ่มได้ผล ปลดใบเหลือง IUU”
ตลอดปีที่ผ่านมา มีรายงานการพบสัตว์ทะเลหายาก/ขนาดใหญ่เป็นระยะ ตั้งแต่การพบโรนินที่สิมิลัน ฝูงวาฬเพชฌฆาตดำในหลายพื้นที่ ตลอดจนปลาใหญ่ เช่น กระเบนหลังดำ ตามจุดดำน้ำต่างๆ เป็นต้น ทั้งๆ ที่ผ่านมา สัตว์เหล่านี้บางส่วนเคยหายไปเพราะการทำประมงอย่างไร้การควบคุม บางส่วนไม่เข้ามาเพราะปลาที่เป็นอาหารมีน้อย
แต่เมื่อประเทศไทยเริ่มแก้ไข IUU จนสามารถปลดใบเหลืองได้สำเร็จ ทำให้ทะเลไทยเริ่มสมบูรณ์ขึ้น ประมงพื้นบ้านลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น แม้ว่ายังมีปัญหาสะสมอยู่และต้องช่วยกันหาทางออก แต่ในปีนี้ทะเลไทยมีปลามากขึ้น สำหรับปีหน้า ก็ขึ้นกับวาประเทศไทยจะพยายามดำเนินตามแนวทางวิชาการ ควบคุมการจับสัตว์น้ำในทะเลไทยแบบถ้อยทีถ้อยอาศัยกันได้แค่ไหน
นอกจากนี้ อีกเรื่องที่อยากสนับสนุนคือโครงการคืนปูม้า ทั้งการคืนโดยตรงที่กรมประมงทำร่วมกับเรือประมง คือโครงการคืนปูไข่นอกกระดองหลายพันตัวลงสู่ทะเล และธนาคารปูที่ประมงพื้นบ้านช่วยกันทำตามชายฝั่ง
สำหรับเรื่องแย่ๆ ที่เกิดขึ้นในปี 2562
แย่หนึ่ง “พะยูนตาย 23 ตัว มาเรียมจากไป”
แม้ว่าจะมีการดูแลลูกพะยูนน้อยเกยตื้น “มาเรียม” อย่างดีที่สุด แต่คงต้องยอมรับว่า ความรู้เรื่องการดูแลลูกพะยูนของไทยยังจำกัด รวมถึงเครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็นมีไม่เพียงพอ ทำให้ “มาเรียม” จากไปโดยพบถุงพลาสติกอยู่ในท้อง และถึงตอนนี้มีพะยูนตายไปแล้ว 23 ตัว เป็นสถิติสูงสุดในรอบกว่า 20 ปี (สถิติสูงสุดในปี 2539 พะยูนตาย 24 ตัว)
การตายมากผิดปรกติ จนอาจส่งผลต่อจำนวนของพะยูนในอนาคต ทำให้มีการผลักดันแผนอนุรักษ์พะยูน/ “มาเรียมโปรเจ็ค” ซึ่งกำลังรอเข้าครม.อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านครม.แต่ยังต้องมีการผลักดันและดำเนินการต่างๆ อีกมาก เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์
“แม้เป็นเรื่องแย่และส่งผลน่าเป็นห่วงต่อพะยูนอันเป็นสัตว์สงวน แต่ยังมีความหวังเล็กๆ อยู่บ้าง ขึ้นกับว่าเราจะไปได้ถึงไหนในปีหน้า”
แย่สอง “ขยะทะเล ระเบิดเวลาที่กำลังส่งผลมากขึ้น”
ขยะไม่ย่อยสลายในทะเลเป็นปัญหาสะสมมานาน สำหรับ “พลาสติก” มีอายุหลายสิบ/ร้อยปี การแก้ปัญหาในวันนี้ หมายถึงการลดส่วนที่กำลังจะเพิ่ม แต่ที่มีอยู่แล้วยังส่งผลต่อเนื่อง และมากขึ้นในปีนี้
มีภาพชายหาดที่เต็มไปด้วยขยะ ขุดทรายเจอถุงซ้อนกันไปเป็นชั้นๆ พบไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำหลายชนิดจนเป็นข่าวน่าตกใจ ฯลฯ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงสถิติระยะยาวจากอุทยานอ่าวพังงา ขยะทะเลที่เก็บทุกวัน/เก็บในพื้นที่เดิม/เก็บโดยทีมงานเดิม ไม่ได้ลดลงแต่กลับมีเพิ่มขึ้น ทั้งที่จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงอย่างเห็นได้ชัด
“จึงย้ำเตือนข้อสรุปที่ทุกหน่วยงานเห็นตรงกัน ขยะทะเลส่วนใหญ่มาจากแผ่นดินตามแม่น้ำลำคลอง หากเราแก้ปัญหาบนแผ่นดินไม่ได้ เราก็แก้ปัญหาขยะทะเลไม่ได้ อย่างไรก็ตาม เรายังพอช่วยได้กับกิจกรรมเก็บขยะทั้งหลายทั้งปวง ตามชายหาด ดำน้ำเก็บ ลดขยะทะเลจากเรือประมงโดยตรง ฯลฯ เพื่อลดจำนวนขยะที่สะสมอยู่ในทะเล”
แย่สาม “น้ำเสียได้รับการแก้ไขน้อยมาก”
ข้อมูลจากกรมควบคุมมลพิษ ในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา มีน้ำเสียที่เข้าสู่ระบบบำบัดเพิ่มขึ้นในอัตราเพียง 1-2% ดังนั้น หากคุณภาพน้ำในทะเลไทยไม่ดี ปัญหาต่างๆ ก็ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นอ่าว เช่น อ่าวไทยตอนใน จะเกิดปัญหาแพลงก์ตอนบลูม ปลาตาย ชายหาดน้ำเขียวเล่นไม่ได้ ฯลฯ
“น้ำเสีย” ต่างจากขยะทะเล เพราะน้ำเสียอยู่ในทะเลเป็นช่วงๆ ไม่ได้อยู่ตลอดเป็นสิบๆ ปีเหมือนขยะ ถ้าสามารถจัดการได้ จะตัดตอนปัญหาให้จบ แต่น้ำเสียจัดการยากกว่าขยะทะเลอย่างมาก เพราะต้องลงทุนมหาศาล และสร้างโรงบำบัดอย่างเดียวก็ไม่จบ ยังต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่ายให้บำบัดต้นทางและสนับสนุนค่าใช้จ่ายเพื่อเดินเครื่องโรงบำบัดต่อไป
“เรื่องนี้เป็นโจทย์ใหญ่ที่อยากเห็นทางออกในเร็ววัน เป็นโมเดลเฉพาะพื้นที่ก็ได้ หากจะเน้น EEC ก็ยังพอไหว ขอแค่พยายามบำบัดให้ได้มากเกิน 50% ก็ดี”
พร้อมทั้งกล่าวถึงอนาคตในปี 2563 ว่า “เศรษฐกิจกดดัน พัฒนาเฉพาะพื้นที่”
โดยมองว่า “GDP ปีหน้าอาจคล้ายกับปีนี้ ด้วยหลายเหตุผลที่กดดันอยู่ โดยเฉพาะค่าเงินบาท นักท่องเที่ยวต่างชาติยังคงมามาก แต่ใช้จ่ายไม่มาก ทำให้เราอาจกลับไปกระตุ้นโดยเน้นเอาคนเยอะเข้าว่า ทะเลเป็นแหล่งเที่ยวอันดับหนึ่ง (83% ต่างชาติมาทะเล) จึงต้องตามดูอย่างดี โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตอุทยานที่การดูแลอาจไม่เทียบเท่า”
“การพัฒนายุคนี้เน้นพื้นที่ EEC และเน้นการลงทุนที่สามารถสร้างผลตอบแทนเห็นชัด งานวิจัยพื้นฐานจะถูกกดดัน โครงการต่างๆ ที่อยู่นอกพื้นที่/ตอบโจทย์รายได้ไม่ชัดเจน จะถูกตัดงบเยอะ ขณะที่ภาคเอกชนคงต้องรัดเข็มขัด และรัดทีไร งบช่วยธรรมชาติ/สังคมจะเป็นงบแรกๆ ที่โดนตัด ซึ่งนั่นก็เป็นเรื่องปรกติ”
“สำหรับผมแล้ว ทางออกมันไม่ใช่แค่เรียกร้อง เพราะร้องไปเขาก็บอกว่าไม่มีตังค์ มันจึงต้องไปไกลกว่านั้น โดยใช้กระแสมาช่วย เคราะห์ดีที่หลายปีที่ผ่านมา เราช่วยกันมาตลอด คนรักทะเลเกาะกันติด สร้างกลุ่มช่วยกันคนละไม้ละมือ คนทั่วไปก็เปิดประเด็นปล่อยภาพ/คลิป เพจใหญ่ๆ ช่วยกันบอกกล่าวเล่าเรื่อง สื่อมวลชนนำไปต่อยอด มันจะเกิดลูปของการรักทะเล ทำให้ทะเลไม่ตกกระแส และจะย้อนกลับไปสู่ด้านนโยบายและการแบ่งปันงบประมาณมาช่วยดูแลรักษาปกป้อง ทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชน”
“ด้วยเหตุนี้ ปีหน้าจึงเป็นปีที่พวกเราต้องรักทะเลให้มากขึ้น ช่วยกันให้มากขึ้น ทุกไลค์ ทุกแชร์ ทุกกำลังใจที่ให้กับประเด็นใดๆ ที่เกี่ยวกับท้องทะเล ไม่ว่าเพจไหนของใครที่ไหน ล้วนมีความหมาย เพราะกระแสสังคมจะมีส่วนสำคัญยิ่งในการปกป้องทะเลไทย”