จักรยานยนต์ เป็นอีกหนึ่งยานพาหนะที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน เพราะมีความสะดวกในการสัญจรไปในถนนหรือตรอกซอกซอยที่คับแคบได้ ประหยัดเวลามากกว่ารถยนต์ที่บางครั้งต้องพบกับปัญหารถติดบนท้องถนน อีกทั้งในปัจจุบันยังมีแอปพลิเคชันนำทางที่สามารถมองได้ผ่านจอมือถือ และโดยส่วนใหญ่จะติดตั้งไว้กับอุปกรณ์ยึดติดบริเวณแฮนด์รถเพื่อใช้ดูเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย ซึ่งจะเห็นได้บ่อยครั้ง กับผู้ที่ขับขี่จักรยานยนต์ที่ให้บริการส่งสินค้าต่างๆ แต่ในความสะดวกสบายนี้ ก็แฝงไว้ด้วยอันตรายเนื่องจากผู้ขับขี่จักรยานยนต์ต้องก้มมองจอโทรศัพท์มือถือเพื่อดูเส้นทาง ซึ่งในบางจังหวะอาจจะทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นได้ เป็นอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่น
ด้วยความกังวลในเรื่องนี้ และตัวเองเคยประสบอุบัติเหตุจากเหตุการณ์มองเส้นทางโทรศัพท์มือถือเพื่อดูเส้นทาง
นายณัฐกิตติ แดงศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และเพื่อนๆ ร่วมห้องเรียนได้แก่ นายวัฒนชัย พุทธาประสิทธิ์ผล และนายอโณชา เหล็งศิริ จึงได้ร่วมมือกันคิดค้นและประดิษฐ์อุปกรณ์เสริมนำทางอัจฉริยะ “PFB Navigator” เพื่อช่วยในการนำทางผ่านกระจกของหมวกกันน็อค เพื่อลดการก้มมองหน้าจอโทรศัพท์มือถือเพื่อดูเส้นทาง
นายณัฐกิตติ กล่าวว่า “PFB Navigator” เป็นอุปกรณ์รูปทรงสีเหลี่ยมขนาดเล็กที่ถูกติดตั้งบริเวณส่วนนอกของหมวกกันน็อคเชื่อมสัญญาณไว้กับแอปพลิเคชันในโทรศัพท์มือถือ ที่มีการใช้ฐานข้อมูลร่วมกับกูเกิลแมพทำให้มีความแม่นยำไม่คลาดเคลื่อน ตัวอุปกรณ์จะมีสายเชื่อมกับเครื่องฉายภาพที่ติดตั้งไว้ในหมวกกันน็อค ที่จะแสดงภาพสะท้อนให้เห็นเส้นทางที่ต้องการเดินทางไปยังที่หมายบนกระจกหมวกกันน็อคโดยไม่บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่ เป็นอุปกรณ์เสริมในการนำทางที่ช่วยเพิ่มความปลอดภัยและความสะดวกสบายสำหรับผู้ที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ เพื่อแก้ปัญหาจากการที่ผู้ขับขี่ต้องก้มลงมองดูแผนที่ในโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะต้องละสายตาจากท้องถนน จนอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุเป็นอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่น และตัวอุปกรณ์ยังสามารถติดได้กับหมวกกันน็อคทุกชนิดไม่จำกัดว่าต้องเป็นยี่ห้อใด
“นอกจาการบอกทิศทางแล้ว ตัวอุปกรณ์ PFB Navigator ยังมีการจัดเก็บประวัติการเดินทาง และความเร็วเฉลี่ย รวมถึงคะแนนความประพฤติของผู้ขับขี่ ปัจจุบันอุปกรณ์นี้สามารถบอกทิศทางการเลี้ยวซ้าย – ขวา หือตรงไป และระยะทางก่อนที่จะทำการเลี้ยว แต่ในอนาคตทางทีมงานจะมีการพัฒนาการบอกทิศทางด้วยเสียง เพื่อช่วยลดการมองเส้นทางผ่านกระจกหมวกกันน็อค แต่ยังคำนึงถึงปัจจัยในด้านเสียงรอบข้างต่างๆ เพื่อไม่เป็นการรบกวนการตัดสินในการขับขี่จักรยานยนต์บนท้องถนน และจะมีการพัฒนาให้อุปกรณ์มีรูปลักษณ์ที่น่าใช้มากขึ้น พร้อมกับการพัฒนาแบตเตอรี่ให้ใช้งานได้ยาวนานมากขึ้นด้วย” นายณัฐกิตติ กล่าวเสริม
จากความสามารถในการพัฒนาอุปกรณ์เสริมนำทางอัจฉริยะ “PFB Navigator” ที่ได้เล็งเห็นถึงความปลอดภัยบนท้องถนน จึงทำให้อุปกรณ์นี้ได้เป็น 1 ใน 12 ผลงาน ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ การแข่งขันธุรกิจด้านเทคโนโลยีในโครงการ Young Technopreneur 2019 ที่จัดขึ้นด้วยความร่วมมือของ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ณ โรงแรม เอส 31 เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยอุปกรณ์ชิ้นนี้ได้รับความสนใจในเรื่องแนวทางการคิดที่มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ที่สามารถพัฒนานวัตกรรมการบอกเส้นทางโดยฝีมือนักศึกษาไทย