xs
xsm
sm
md
lg

พบทะเลสาบผืนใหญ่ใต้พื้นผิวดาวอังคารครั้งแรก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ภาพจำลองยาน Mars Express ขณะบินผ่านดาวอังคารที่อยู่เบื้องล่าง ซึ่งเป็นภาพถ่ายจริงที่ยานบันทึกไว้ (Handout / EUROPEAN SPACE AGENCY / AFP)
นักดาราศาสตร์นานาชาติแถลงถึงการค้นพบทะเลสาบขนาดใหญ่ใต้ผิวดาวอังคารเป็นครั้งแรก ยิ่งเพิ่มโอกาสในการค้นพบน้ำได้มากขึ้น และอาจจะรวมถึงสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์เพื่อนบ้านด้วย

นักวิจัยชาวอิตาลีผู้เป็นหัวหน้าทีมสำรวจระบุในรายงานที่ตีพิมพ์ลงวารสารไซน์ (Science) ว่า ทะเลสาบดังกล่าวอยุ่ใต้พื้นผิวน้ำแข็งของดาวอังคาร ซึ่งมีความกว้างประมาณ 20 กิโลเมตร ซึ่งนับเป็นน้ำของเหลวที่มีปริมาณมากที่สุดเท่าที่เคยพบบนดาวเคราะห์แดงดวงนี้

“มีน้ำอยู่ที่นั่นจริง เราไม่สงสัยอีกแล้ว” เอนริโก ฟลามินิ (Enrico Flamini) ผู้จัดการโครงการมาร์สเอกซ์เพรส (Mars Express) จากองค์การอวกาศอิตาลีแถลงแก่สื่อมวลชน

ตอนนี้ดาวอังคารนั้นหนาวเย็น ไม่มีสิ่งมีชีวิตและแห้งแล้ง แต่ครั้งหนึ่งก็เคยอบอุ่นและชุ่มชื้นมาก่อน และยังเคยเป็นแหล่งน้ำของเหลวและทะเลสาบปริมาณมหาศาลในอดีตเมื่อประมาณ 3.6 พันล้านปีก่อนหรือนานกว่านั้น

ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์กระหายที่จะค้นหาสัญญาณของน้ำที่มีในปัจจุบัน เพราะการค้นพบดังกล่าวจะเป็นกุญแจไขปริศนาว่า เคยมีสิ่งมีชีวิตกำเนิดขึ้นบนดาวอังคารในครั้งอดีตหรือไม่ หรืออาจจะยังมีสิ่งมีชีวิตอยู่ในปัจจุบันนี้

“นับเป็นผลการศึกษาที่น่าตื่นตาตื่นใจมากที่ระบุว่า น้ำบนดาวอังคารไม่ใช่แค่ไหลไปเพียงชั่วคราวเหมือนการศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ แต่ระบุถึงปริมาณที่มีอยู่คงที่ ซึ่งเป็นปัจจัยเอื้อให้สิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ได้เป็นระยะเวลาหนึ่ง” อลัน ดัฟฟี (Alan Duffy) ผู้ชวยศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยสวินเบอร์น (Swinburne University) ในออสเตรเลีย ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการค้นพบครั้งนี้ได้ความเห็น

การค้นพบครั้งนี้ยังนับเป็นความหวังสำหรับการท่องอวกาศ เพราะการเข้าถึงแหล่งน้ำได้นั้นจะช่วยให้มนุษย์มีชีวิตรอดระหว่างปฏิบัติการส่งมนุษย์ไปเยือนดาวเคราะห์เพื่อนบ้านของโลกดวงนี้ แต่ทะเลสาบที่อยู่ใต้พื้นผิวน้ำแข็งของสภาพแวดล้อมอันหฤโหดและเหน็บหนาวของดาวอังคารถึง 1.5 กิโลเมตรนี้ก็อาจจะไม่สามารถให้เราลงไปแหวกว่ายหรือดื่มกินได้

ส่วนจะมีสิ่งมีชีวิตในรูปจุลินทรีย์อาศัยอยู่หรือไม่นั้นยังเป็นประเด็นที่ต้องหาข้อยุติอีกครั้ง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญบางส่วนก็ยังเคลือบแคลงถึงโอกาสดังกล่าว เพราะทะเลสาบนี้ทั้งหนาวเย็นและเป็นน้ำกร่อย อีกทั้งยังมีเกลือและแร่ธาตุจากบนดาวอังคารที่ละลายลงไปผสมอีกปริมาณมาก

ด้าน เฟร็ด วัตสัน (Fred Watson) จากหอดูดาวดาราศาสตร์ออสเตรเลีย (Australian Astronomical Observatory) ในฐานะผู้ไม่มีส่วนได้ส่วเสียกับงานวิจัยนี้ให้ความเห็นว่า การค้นพบนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง และสนับสนุนประเด็นการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารมากยิ่งขึ้น แต่ก็บอกอีกว่าความเข้มข้นของเกลือที่ละลายอยู่ในน้ำนั้นเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตในรูปจุลินทรีย์ไม่ต่างจากบนโลก

การค้นพบครั้งนี้อาศัยข้อมูลจากเครื่องมือเรดาร์ที่ติดตั้งอยู่บนยานโคจรมาร์เอกซ์เพรสขององค์การอวกาศยุโรป ซึ่งปล่อยออกจากโลกตั้งแต่ปี 2003 โดยเครื่องมือดังกล่าวที่ติดตั้งอยู่บนยานอวกาศนั้นคือ “มาร์ซิส” (Mars Advanced Radar for Subsurface and Ionosphere Sounding: MARSIS) ที่ส่งคลื่นวิทยุลงไปสำรวจใต้พื้นผิวดาวอังคาร

มาร์ซิสได้รับการออกแบบให้ค้นหาน้ำในชั้นใต้พื้นผิวดาวอังคารด้วยการส่งเรดาร์คลื่นสั้นที่ทะลุทะลวงพื้นผิวและชั้นน้ำแข็งลงไป จากนั้นวัดคลื่นวิทยุที่คลื่นที่ลงไปแล้วสะท้อนกลับขึ้นมายังยานอวกาศ ซึ่งคลื่นวิทยุที่สะท้อนกลับขึ้นมานั้นช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลว่ามีอะไรอยู่ใต้พื้นผิวดาวเคราะห์

ทีมวิจัยที่ค้นพบน้ำบนดาวอังคารนี้นำโดย โรเบอร์โต โอโรซี (Roberto Orosei) จากสถาบันดาราศาสตร์แห่งชาติ (Istituto Nazionale di Astrofisica) ในโบโลญญา อิตาลี ได้สำรวจดาวอังคารบริเวณที่เรียกว่า “พลานัม ออสตารเล” (Planum Australe) ซึ่งอยู่บริเวณแผ่นน้ำแข็งที่ปกคลุมขั้วใต้ของดาวอังคาร ตั้งแต่เดือน พ.ค.2012 ถึง ธ.ค.2015
ภาพจากองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency: ESA) ที่เพิ่งเผยแพร่ออกมา ซึ่งเผยข้อมูลเรดาร์ที่เก็บรวบรวมโดยยาน Mars Express ที่บ่งชี้ว่ามีแหล่งน้ำของเหลวขนาดใหญ่ฝังอยู่ใต้ชั้นน้ำแข็งและฝุ่นดินอยู่ทางขั้วใต้ของดาวอังคาร โดยถือเป็นการค้นพบแหล่งน้ำของเหลวขนาดใหญ่สุดเท่าที่เคยพบบนดาวอังคาร (Handout / EUROPEAN SPACE AGENCY / AFP)
ภาพเก่าจากเว็บไซต์ NASA Internet เมื่อ 28 เม.ย.2000 บันทึกโดยยานสำรวจ Mars Global Surveyor เมื่อ 17 เม.ย.ปีเดียวกัน เผยให้เห็นขั้วใต้ของดาวอังคารที่ปกคลุมด้วยน้ำแข็ง (HO / NASA / AFP)


กำลังโหลดความคิดเห็น