ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เปิดกรุผลงานวิจัยอดีตอาจารย์ มช.เมื่อหลายสิบปีก่อน ค้นพบสาหร่ายที่ผลิตออกซิเจนได้ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ที่ทีมหมูป่า 13 ชีวิตติดอยู่ก่อนได้รับการช่วยเหลือ เชื่ออาจเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยให้ในถ้ำยังมีอากาศ
จากกรณีเจ้าหน้าที่ทำการค้นหาและช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่า อะคาเดมี จำนวน 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย โดยพบว่าทั้งหมดปลอดภัยดีหลังจากติดอยู่ในถ้ำนานกว่าสัปดาห์ ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายมีความเป็นห่วงว่าด้วยสภาพภายในถ้ำที่เปียกชื้น และอากาศไม่ถ่ายเท รวมทั้งจะมีออกซิเจนเพียงพอหรือไม่ ล่าสุดพบว่าที่ผ่านมาอาจารย์และนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เคยทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการค้นพบสาหร่ายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน เมื่อหลายสิบปีที่แล้วซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยส่วนหนึ่งที่ช่วยผลิตออกซิเจนภายในถ้ำดังกล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี พีรพรพิศาล อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ นักวิจัยด้านสาหร่าย เปิดเผยว่า ตัวเองและทีมงานเคยทำการศึกษาค้นคว้า และวิจัยเรื่องราวเกี่ยวกับสาหร่ายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อหลายสิบปีก่อนนั้น ทีมนักวิจัยได้ศึกษาเกี่ยวกับสาหร่ายที่ที่มีชีวิตในถ้ำซึ่งมีสภาพที่มืดสนิท ไม่มีแสงสว่าง แต่ยังสามารถมีชีวิตและเจริญเติบโตได้ในสภาพดังกล่าว โดยพบว่ามีสาหร่าย 2 ชนิดที่พบในถ้ำหลวง ทั้ง 2 ชนิดนั้นเป็นสาหร่ายในตระกูลโครโอคอกคัสที่พบในถ้ำ และอยู่ในน้ำที่มีลักษณะน้ำนิ่ง น้ำไหลเอื่อย และดินที่ชื้น เป็นสาหร่ายที่มีสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นกลุ่มเซลล์ที่มี่รูปร่างกลม หรือรี ประกอบด้วย 2-16 เซลล์ แต่ละเซลล์มีเยื่อหุ้มอย่างชัดเจน
โดยลักษณะพิเศษของสาหร่ายดังกล่าวนี้จะสามารถมีชีวิตอยู่ในที่มืด ไม่มีแสงสว่างได้ และเจริญเติบโต แบ่งเซลล์ขยายพันธุ์ได้ในที่มืด และมีการสังเคราะห์แสงซึ่งในกระบวนการจะใช้คาร์บอนไดออกไซด์ในการสังเคราะห์แสง และจะสามารถผลิตออกซิเจนออกมาให้กับอากาศได้ แม้ว่าจะไม่ใช่ออกซิเจนหลักที่พบในถ้ำซึ่งมีปัจจัยอย่างอื่นเป็นตัวหลักทั้งกระแสลม และช่องทางอากาศที่เข้าออก แต่ด้วยความที่สามารถเจริญเติมโตได้ในที่มืดและสร้างออกซิเจนได้จึงเป็นสิ่งมีชีวิตหนึ่งในบ่วงโซ่อาหาร หรือบ่วงโซ่ของสิ่งมีชีวิตในถ้ำ ที่เรียกอีกอย่างว่าพืชแพลงก์ตอนที่เป็นพื้นฐานของสิ่งมีชีวิต แต่ในน้ำนั้นสาหร่ายถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหลักในการผลิตออกซิเจน แต่การค้นพบดังกล่าวก็เป็นประโยชน์แก่วงการชีววิทยา ด้านผู้ที่ศึกษาเรื่องของสาหร่าย และต่อยอดงานศึกษาวิจัยได้อีกมากมายในปัจจุบัน
ทั้งนี้ ได้ย้ำว่าสาหร่ายที่ค้นพบเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่สร้างออกซิเจนได้ภายในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเท่านั้น แต่ปัจจัยหลักขึ้นอยู่กับเรื่องของสภาพภูมิประเทศ การไหลเวียนของอากาศ ไหลเวียนของลมมากกว่าปัจจัยจากสิ่งมีชีวิตเล็กๆ จากสาหร่ายซึ่งเป็นส่วนประกอบเล็กๆ เท่านั้น สำหรับอากาศที่ช่วยให้ผู้รอดชีวิตทั้ง 13 คนรอดตายนั้นยังมีหลายปัจจัยที่เอื้ออำนวย