เชียงราย - ปลัด สธ.ตรวจความพร้อมห้องสามัญอุบัติเหตุ รพ.เชียงรายฯ รอรับ 13 นักเตะ-โค้ชทีมหมูป่า บอกหากส่งตัวถึง รพ.แล้ว ต้องให้อยู่ห่างพ่อแม่อีก 1-2 วัน สวมหน้ากากเยี่ยมได้
วันนี้ (4 ก.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย กำลังเตรียมความพร้อม-ซ้อมแผนการนำตัวนักเตะเยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมี ทั้ง 13 ชีวิตที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย. เพื่อนำตัวส่งไปดูแลรักษาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์นั้น
เมื่อเวลา 10.30 น.ที่ผ่านมา นพ.เจษฎา โชดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข, นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ ผู้ตรวจราชการ กระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 1, นพ.ทศเทพ บุญทอง นายแพทย์สาธารณสุข จ.เชียงราย และ นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เดินทางไปตรวจดูห้องสามัญอุบัติเหตุ ชั้น 8 โรงพยาบาลเชียงรายฯ เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับนักฟุตบอลเยาวชน และโค้ชทีมหมูป่าฯ
นพ.เจษฎากล่าวว่า ก่อนหน้านี้สาธารณสุขได้สนับสนุนด้านบุคลากร ยาและอาหาร ในการช่วยเหลือทั้ง 13 คนมาอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพบตัวทั้งหมดในถ้ำแล้วก็จัดเตรียมสถานที่ จนพร้อมทั้งกรณีนำเดินทางด้วยเฮลิคอปเตอร์จากจุดเกิดเหตุไปยังฝูงบิน 416 (สนามบินเก่า) ใกล้กับโรงพยาบาลฯ ภายในระยะเวลาประมาณ 15 นาที และกรณีไปทางรถยนต์ระยะเวลาประมาณ 1 ชั่วโมง
สำหรับห้องสามัญอุบัติเหตุดังกล่าวถูกจัดให้มีศักยภาพเทียบเท่าห้องผู้ป่วยหนัก หรือไอซียู ที่มีผู้ดูแลชนิดคนต่อคน และมีการจัดสถานที่พักเฉพาะให้ญาติที่ได้แจ้งลงทะเบียนเอาไว้กว่า 50 คน เพื่อให้สามารถเข้าเยี่ยมบุตรหลานได้เป็นช่วงๆ ส่วนญาติ หรือเจ้าหน้าที่ที่ไปปฏิบัติงาน หากพบอาการป่วยสามารถแจ้งแพทย์ได้ ซึ่งจะมอบบัตรเฝ้าระวังโรคให้คนละใบและมีสายด่วนโรงพยาบาล 0-5391-0600 ต่อ 22222 ได้
นพ.เจษฎากล่าวอีกว่า ส่วนแนวทางการดูแลรักษาทั้ง 13 คนต้องประเมินอาการโดยแพทย์ก่อน 5-7 วันหลังออกจากถ้ำ โดยเริ่มต้นด้วยการปรับอาหาร 3-7 วัน ซึ่งก็ต้องดูก่อนว่าจะออกจากถ้ำได้เมื่อไหร่ หากยังอยู่ในถ้ำนาน และเสร็จสิ้นขั้นตอนให้อาหารเหลวแล้ว ก็จะส่งอาหารปกติเข้าไปให้ เพื่อให้ร่างกายปรับตัว แต่เท่าที่ทราบทั้งหมดสุขภาพกายแข็งแรงและพูดคุยได้ สุขภาพจิตดีดูสดชื่น ส่วนหนึ่งคือเกิดจากกำลังใจที่ได้รับ
“เมื่อมาถึงโรงพยาบาลสิ่งที่ต้องทำ คือ ตรวจเลือด ตรวจหาเชื้อ ตรวจอาการต่างๆ และจากประวัติพบว่ามีผู้ที่มีอาการหอบหืดจำนวน 2 คน จึงได้จัดแพทย์เฉพาะทางด้านทางเดินหายใจและปอดรองรับแล้ว”
กรณีภายในถ้ำที่มืด ไม่มีคน หรือสิ่งมีชีวิต ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันต่อไปว่าจะมีเชื้อโรคต่างๆ หรือไม่ ดังนั้นเราจึงต้องจัดให้ห้องสามัญอุบัติเหตุเป็นห้องปลอดเชื้อ ผู้เข้าออกต้องสวมใส่หน้ากากอนามัยและเสื้อผ้าที่จัดเตรียมไว้ ภายในห้องมีระบบตรวจหัวใจ ดูดเสมหะ ตรวจชีพจร เครื่องกระตุ้นหัวใจ ฯลฯ เทียบเท่าห้องไอซียู ส่วนทั้ง 13 คนเริ่มแรกคงต้องให้ใส่แว่นตากันแดดหรือใช้ผ้าปิดก่อนโดยจักษุแพทย์ดูเป็นการเฉพาะ
นพ.เจษฎากล่าวอีกว่า สำหรับสุขภาพจิตของญาตินั้น กรมสุขภาพจิตแจ้งว่าก่อนมีข่าวพบทั้ง 13 คนภายในถ้ำ ได้มีผู้ปกครองมีอาการซึมเศร้าจำนวน 6 คน แต่หลังจากทราบว่าลูกหลานปลอดภัย ทั้งหมดก็มีอาการดีขึ้นมากทันที
ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวด้วยว่า ช่วงแรกคงต้องให้ทั้งหมดอยู่ในห้องดูแลก่อน 1-2 วัน โดยให้ผู้ปกครองและญาติอยู่ที่บ้านพักก่อน จากนั้นจึงเปิดให้เข้าเยี่ยมบุตรหลานของตัวเองได้ แต่ยังคงให้สวมเสื้อเสื้อผ้าและหน้ากากอนามัยให้มิดชิด รวมทั้งอยู่ห่างระยะ 2 เมตร แต่เนื่องจากพบว่าทั้ง 13 คนสุขภาพแข็งแรงจึงจะดูอาการและตัดสินใจเรื่องการดำเนินการกันเป็นครั้งๆ ไป ส่วนกรณีพบภาพอาการถลอกของเด็กๆ ภายในถ้ำนั้น ถือเป็นเรื่องปกติ และเมื่อดูแล้วไม่พบอาการติดเชื้อหรือบวมแดงที่แผลแต่อย่างใด
นพ.เจษฎากล่าวในตอนท้ายว่า ปัจจุบันทีมแพทย์รักษามีการติดต่อทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับภายในถ้ำแล้วเพื่อติดตามอาการอย่างใกล้ชิด และรองรับกรณีนำเดินทางไปถึงโรงพยาบาล ส่วนการจะสรุปว่าทั้ง 13 คนจะสามารถออกจากโรงพยาบาลได้หลังกระบวนการผ่านพ้นไป 5-7 วันแล้วหรือไม่นั้น ยังตอบไม่ได้เพราะต้องผลการตรวจต่างๆ ก่อนโดยเฉพาะการตรวจบางเชื้อต้องส่งไปยังกรุงเทพฯ และต้องปรับดูผลกันวันต่อวันต่อไปด้วย