ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ประกาศผ่านเพจว่า ทางโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรับมือทางการแพทย์เพื่อให้การรักษา 13 ชีวิต ทีมนักฟุตบอลทีมหมูป่า ทันทีที่ 13 ชีวิตออกจากถ้ำจากวนอุทยานถ้ำหลวงมาถึงโรงพยาบาล
วันนี้ (2 ก.ค.) เพจเฟซบุ๊ก “โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์” เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนถนนสถานพยาบาล ตำบลรอบเวียง อำเภอเมืองเชียงราย จังหวัดเชียงราย โดยมี ผู้อำนวยการ คือ นพ.ไชยเวช ธนไพศาล ได้ออกมาเปิดเผยข้อมูลว่าทางโรงพยาบาลเตรียมความพร้อมรับมือทางการแพทย์เพื่อให้การรักษา 13 ชีวิต ทีมนักฟุตบอลทีมหมูป่า อะคาเดมี และผู้ฝึกสอนรวม 13 คน ที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน อ.แม่สาย จ.เชียงราย มาตั้งแต่เย็นวันที่ 23 มิ.ย. 2561 โดยเผยความเรียบร้อยทุกด้าน ทั้งคณะแพทย์ และสถานที่รักษาพยาบาล พร้อมรับมือทันที ที่ 13 ชีวิตออกจากถ้ำจากวนอุทยานถ้ำหลวงมาถึงโรงพยาบาล
โดยมีเนื้อหาโพสต์ว่า “วันจันทร์ที่ 2 กรกฎาคม 2561 นายแพทย์ไชยเวช ธนไพศาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ได้เปิดเผยว่า ขณะนี้ ได้เตรียมความพร้อมทางการแพทย์เพื่อให้การรักษา 13 ชีวิตจากถ้ำหลวง อ.แม่สาย เรียบร้อยทุกด้าน ทั้งคณะแพทย์ และสถานที่รักษาพยาบาล ทันที ที่ 13 ชีวิตจากวนอุทยานถ้ำหลวง มาถึงโรงพยาบาลฯ จะถูกส่งตัวเข้าหอเตรียมผู้ป่วยที่คัดแยกปลอดเชื้อ จะเจาะเลือดตรวจรักษา เตรียมยารักษาที่จำเป็น จากนั้นจะคัดแยกส่งตามหอผู้ป่วยต่างๆ พร้อมอุปกรณ์ทำการรักษา เตรียมการให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคติดต่อจากกระทรวงสาธารณสุขมาเป็นที่ปรึกษา พร้อมมีขั้นตอนการเยียวยาญาติผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้
นพ.ไชยเวช กล่าวต่อว่า ขณะนี้ได้เตรียมทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรกรรม ด้านศัลยกรรม ด้านวิสัญญี ด้านกุมารแพทย์ โรคทางเดินหายใจ รวมทั้งโรคติดเชื้อ ร่วมประชุมวางแผน เตรียมความพร้อมในการรักษาทั้ง 13 ชีวิตจากถ้ำ รวมถึงแผนรองรับการดูแลทีมผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ที่จะส่งเข้ามารักษาสมบูรณ์เต็ม 100 เปอร์เซ็นต์”
ทั้งนี้ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ เป็นโรงพยาบาลศูนย์ประจำจังหวัดเชียงราย ตั้งอยู่บนถนนสถานพยาบาล (ถนนนี้ตั้งชื่อตามโรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์) เป็นโรงพยาบาลศูนย์ ขนาด 780 เตียง สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข มีพื้นที่ทั้งหมดรวมกว่า 52 ไร่ ประชาชนในท้องที่มักเรียกว่า “โฮงยาไทย” หมายถึง “โรงพยาบาลของไทย” (สาเหตุที่เรียก “โฮงยาไทย” เพราะจังหวัดเชียงรายมีโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่ง คือ โรงพยาบาลโอเวอร์บรูคส์ ที่มักเรียกกันว่า “โฮงยาฝรั่ง”) และมีคำว่าประชานุเคราะห์ต่อท้ายเนื่องจากได้รับการสนับสนุนในการจัดสร้างจากประชาชนซึ่งในปี พ.ศ. 2475 คณะราษฎรได้ทำการเปลี่ยนแปลงการปกครองและมีนโยบายสร้างโรงพยาบาลในหัวเมือง โดยประกาศใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุข ในปี พ.ศ. 2477 เพื่อแสดงเกียรติภูมิของชาติให้ปรากฏแก่ประเทศเพื่อบ้านที่เป็นอาณานิคมของประเทศตะวันตกตามนโยบาย “อวดธง” ในปี พ.ศ. 2479 พระพนมนครารักษ์ (ฮกไก่ พิศาลบุตร) ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย มีดำริที่จะสร้างโรงพยาบาลประจำจังหวัดเชียงราย ซึ่งประชาชนในจังหวัดเชียงราย นำโดยคหบดีกลุ่มหนึ่งได้บริจาคที่ดิน จำนวน 19 ไร่ และดำเนินการขออนุมัติจากกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการก่อสร้างโดยได้รับเงินสนับสนุนจากประชาชนในจังหวัดเชียงราย