xs
xsm
sm
md
lg

กทม.ขีดเส้น 1 เดือน ตามหาเจ้าของ “อนุสาวรีย์” ทั่วกรุง จ่อหารือพัฒนา “อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


กทม.สั่งเช็กหาเจ้าของ “อนุสาวรีย์สาวรีย์ชัยสมรภูมิ” ก่อนหารือแนวทางปรับปรุงพัฒนา พ่วงสืบหาเจ้าของ “อนุสาวรีย์” อื่นๆ ทั่วกรุงเทพฯ ให้เวลา 1 เดือน ประสานกรมธนารักษ์ เผย กทม.บำรุงรักษาแต่ไม่มีประวัติเป็นทรัพย์สิน หากไม่มีเจ้าของ กทม.พร้อมรับมาดูแล ด้านกรมศิลป์แค่เห็นชอบการบูรณะ แต่ไม่ใช่เจ้าของ

วันนี้ (2 ก.ค.) ที่อาคารธานีนพรัตน์ ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (ดินแดง) นายสมพงษ์ เวียงแก้ว รองปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังประชุมการปรับปรุงพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ร่วมกับผู้บริหารสำนักผังเมือง สำนักการโยธา สำนักงานเขตราชเทวี สำนักงานเขตพระนคร และผู้แทนจากกรมศิลปากร ว่า วันนี้ได้ประชุมอนุสาวรีย์และโบราณสถานทุกแห่งใน กทม. ไม่ใช่แค่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเพียงแห่งเดียว โดยในที่ประชุมได้มีการสอบถามไปยังหน่วยงานของ กทม.และกรมศิลปากรว่า ใครเป็นเจ้าของหรือเป็นผู้ดูแลอนุสาวรีย์ต่างๆ ซึ่งอนุสาวรีย์ในพื้นที่ กทม.มีทั้งหมด 15 แห่ง ซึ่งทางกรมศิลปากรก็บอกไม่ใช่เจ้าของ กรมศิลปากรมีเพียงอำนาจในการอนุมัติเห็นชอบในการบูรณะ ส่วนทาง กทม.ไม่ว่าจะเป็นทางสำนักการโยธาหรือสำนักงานเขตก็แจ้งว่า ไม่เคยมีหนังสือมอบให้ กทม.อย่างเป็นทางการ

“อนุสาวรีย์บางแห่งก่อสร้างมาหลายยุคหลายสมัย และบางแห่งมีสภาพชำรุดทรุดโทรม จึงมีการหารือว่า ใครหรือหน่วยงานไหนจะเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ซึ่งในที่ประชุมได้มอบหมายให้สำนักผังเมืองเป็นเจ้าภาพในการสืบค้นหาผู้ดูแลหรือเจ้าของอนุสาวรีย์ต่างๆ และให้สอบถามไปยังกรมธนารักษ์ เนื่องจากเป็นเจ้าของพื้นที่เดิมว่า เมื่อสร้างอนุสาวรีย์ต่างๆ แล้วได้มอบให้หน่วยงานใดรับผิดชอบดูแล โดยให้ระยะเวลาดำเนินการ 1 เดือน แต่ถ้าไม่มีจริงๆ กทม.ก็คงต้องรับมาดูแลเอง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของสำนักผังเมือง ซึ่งที่ผ่านมาตามประวัติการบำรุงรักษาอนุสาวรีย์พบว่า หลายแห่ง กทม.เป็นผู้ดำเนินการ แต่กลับไม่มีประวัติครุภัณฑ์ระบุว่า เป็นทรัพย์สินของ กทม.” นายสมพงษ์ กล่าว

นายสมพงษ์ กล่าวว่า ส่วนแนวทางการปรับปรุงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ จะพัฒนาให้ประชาชนสามารถเข้ามาใช้ประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น อาจเป็นการเชื่อมต่อการเดินทางหรือปรับสภาพทางเดินให้สวยงามและสะดวกปลอดภัยกับประชาชน อย่างไรก็ตาม อันดับแรกต้องมีการสืบหาเจ้าของที่แท้จริงให้ได้ก่อน จากนั้นจะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมเพื่อกำหนดแนวทางในปรับปรุงพัฒนาอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุสาวรีย์ในพื้นที่ กทม.ทั้ง 15 แห่ง ประกอบด้วย 1.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2451 2.อุทกทานสหชาติแลุอุทกทานแม่พระธรณีบีบมวยผม ปี 2460 3.วงเวียน 22 กรกฎาคม ปี 2460 4.อนุสาวรีย์ทหารอาสาสงครามโลกครั้งที่ 1 ปี 2462 5.ปฐมราชานุสรณ์ ปี 2475 6.อนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ปี 2479 7.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปี 2483 8.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2485 9.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ปี 2485 10.พระบรมราชานุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ปี 2497 11.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2533 12.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ปี 2555 13.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2557 14.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ปี 2539 และ 15.พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ปี 2523 ส่วนโบราณสถานใน กทม.ที่กรมสิลปากรขึ้นทะเบียนมี 39 แห่ง ที่ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพดูแล เช่น สะพานข้ามคลอง กำแพง ประตูเมือง เป็นต้น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยรอบเป็นวงเวียนอยู่กึ่งกลางระหว่างถนนพหลโยธิน ถนนราชวิถี และถนนพญาไท สร้างขึ้นเพื่อเทิดทูนวีรกรรมของทหาร ตำรวจ และพลเรือนที่เสียชีวิตไปในกรณีพิพาทระหว่างไทยกับฝรั่งเศสเรื่องการปรับปรุงพรมแดนไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส โดยพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นผู้วางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2484 และ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2485 สถาปนิกผู้ออกแบบอนุสาวรีย์คือ ม.ล.ปุ่ม มาลากุล ประติมากรรมทหาร 5 เหล่าประกอบด้วย ทหารบก ทหารเรือ ทหารอากาศ ตำรวจ และพลเรือน ศิลปินผู้ปั้นเป็นลูกศิษย์ของ ศ.ศิลป์ พีระศรี ภายใต้การควบคุมของ ศ.ศิลป์ ด้านนอกของผนังห้องโถง เป็นแผ่นทองแดงจารึกนามผู้เสียชีวิต


กำลังโหลดความคิดเห็น