xs
xsm
sm
md
lg

อ.คณะวิทย์ จุฬาฯ เผย TCAS รอบ 3 เด็กยืนยันสิทธิ์ 33 คน จาก 300 คน กระทบทั้ง นร.และคณะ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


อ.คณะวิทย์ จุฬาฯ คอนเฟิร์มเอง TCAS รอบ 3 กระทบทั้ง นร. และมหาวิทยาลัย เผย คณะมีเด็กสอบติด 300 คน แต่ยืนยันสิทธิ์แค่ 33 คน เชื่อเกิดจากเด็กเก่งเลือกไว้กันพลาด แต่ก็เป็นสิทธิเพราะระบบเปิดช่องให้ทำ ฝาก ทปอ. ทบทวนระบบ

จากกรณีเกิดปัญหาที่นั่งว่างจำนวนมาก หลังการยืนยันสิทธิ์ หรือเคลียริงเฮาส์ในระบบ TCAS รอบ 3/1 ทำให้นักเรียนไม่สามารถเข้าคณะที่ต้องการได้ และมหาวิทยาลัยไม่ได้จำนวนเด็กตามที่ต้องการ ซึ่งบางคณะบางสาขาวิชาไม่มีการยืนยันสิทธิ์เลยนั้น

ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว “Jessada Denduangboripant” ถึงปัญหาดังกล่าวว่า ผลจากระบบการคัดเด็กเข้ามหาวิทยาลัยของ TCAS รอบ 3 ก็ส่งผลกระทบต่อคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เช่นกัน โดยจากจำนวนนิสิตที่รับได้ 298 คน ประกาศชื่อไป 300 คน แต่มายืนยันสิทธิ์จริงแค่ 33 คน แน่นอนว่า ที่มีการสละสิทธิ์เยอะกันแบบนี้ ทั้งของคณะวิทยาศาสตร์และของคณะอื่นๆ ส่วนหนึ่งต้องเกิดจากการกั๊กที่นั่งของเด็กเก่งๆ ด้วย ซึ่งก็เป็นสิทธิ์ของเด็กเก่ง เพราะระบบดันปล่อยให้ทำได้ มารอลุ้นกันต่อว่าจะมีคนยืนยันสิทธิ์รอบ 3/2 กี่คน หวังว่าจะมีสักครึ่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ดร.เจษฏา ให้สัมภาษณ์เพิ่มว่า ตนอาจจะไม่ใช่นักวิชาการที่เชี่ยวชาญด้าน TCAS แต่ระบบการสอบดังกล่าว ตามหลักการเป็นการแก้ปัญหาการวิ่งรอกสอบ ความเหลื่อมล้ำ ลดค่าใช้จ่าย ถือเป็นเรื่องดี แต่เมื่อนำระบบมาใช้จริง กลับพบว่ามีปัญหาเยอะมาก โดยเฉพาะการกั๊กที่นั่งสอบ เด็กอยากเรียนในคณะ มหาวิทยาลัยที่ต้องการแล้วไม่ได้เรียน และมหาวิทยาลัยเองก็ไม่ได้เด็กตามจำนวนที่ต้องการ อย่างคณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ เห็นชัดว่าระบบทำให้เด็กมายืนยันสิทธิ์น้อยมาก ทั้งที่ระบบการรับตรงแบบเดิม มีเด็กยืนยันสิทธิ์ครึ่งหนึ่งของเด็กที่สอบติด เช่น ถ้าประกาศรายชื่อ 300 คน เด็กจะมียืนยันสิทธิ์ 150 คน และเป็นเด็กที่อยากเรียนคณะวิทย์จริงๆ เป็นต้น

“TCAS รอบ 3 รับตรงร่วมกัน และมีการเลือก 4 ตัวเลือก เด็ก 300 คนที่ทางมหาวิทยาลัยประกาศชื่อสอบติด อาจเป็นเด็กเก่งที่เลือกติดไว้กันพลาด แต่เมื่อต้องเลือกพวกเขาก็ไม่เลือกคณะวิทยาศาสตร์ เพราะคณะวิทย์ เป็นคณะกลางๆ ไม่ใช่คณะยอดนิยม แต่เท่าที่ทราบ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้เด็กไม่มากเช่นเดียวกัน ดังนั้น อยากให้ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทบทวนระบบ TCAS ใหม่อีกครั้งว่ามีประโยชน์ หรือสร้างผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อนักเรียนและมหาวิทยาลัยกันแน่ เพราะหากให้คำตอบว่าเป็นครั้งแรก และรอบไหนมีปัญหาก็ไปรอรอบต่อไป ทำให้เด็กไม่มีที่เรียนเกิดความกังวล ขณะเดียวกันมหาวิทยาลัย อาจารย์ก็จัดเตรียมการสอนยาก เพราะยังไม่รู้จำนวนเด็กที่เข้ามาเรียน” ดร.เจษฎา กล่าวและว่า เชื่อว่า ทุกฝ่ายหวังดีกับเด็ก แต่ถ้าระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งพัฒนา ยิ่งขยายปัญหาในวงกว้างควรจะกลับมาพิจารณาว่าระบบไหนดีที่สุด และก่อนที่จะมีการจัดทำระบบต่างๆ เป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องอย่างนักเรียน ผู้ปกครอง มหาวิทยาลัยทุกกลุ่ม หรือประชาชนที่สนใจเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่มีผลกระทบต่อชีวิตของเด็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น