แพทย์ชี้ หากขาดอาหารโดยไม่ทำกิจกรรมใดๆ สามารถอดได้นานกว่า 70 วัน ด้านผู้เชี่ยวชาญทางเดินหายใจ ชี้ แม้อยู่ในถ้ำ หากอากาศถ่ายเท ปริมาณออกซิเจนในอากาศมีเพียงพอ
วันนี้ (28 มิ.ย.) นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณีนักฟุตบอลและโค้ชทีมหมูป่าอคาเดมี พลัดหลงติดอยู่ในถ้ำหลวง จ.เชียงราย เป็นเวลานานหลายวัน ว่า ร่างกายของคนเราโดยปกติจะสามารถขาดน้ำและอาหารได้ประมาณ 3-7 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพความแข็งแรงของร่างกาย แต่หากร่างกายขาดเพียงอาหาร แต่ยังมีน้ำดื่มก็จะสามารถอยู่ได้นานตั้งแต่ 30-45 วัน ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและกิจกรรมที่ทำระหว่างอดอาหาร เนื่องจากการที่ร่างกายจะทนต่อสภาพการขาดอาหารได้เป็นระยะเวลานานๆ นั้น ต้องเป็นคนที่นั่งเฉยๆ ไม่ได้ทำกิจกรรมอะไรมากนัก ส่วนกรณีนักเตะเยาวชนและโค้ชทั้ง 13 คน ขณะนี้เชื่อว่าเรื่องการขาดอาหารยังไม่ใช่ปัญหา เพราะว่าทั้งหมดเป็นนักกีฬา ซึ่งจะมีร่างกายที่แข็งแรง แต่ก็ต้องประเมินจากกิจกรรมที่ทั้ง 13 คนทำระหว่างอยู่ในถ้ำด้วย เพราะไม่รู้ว่ามีการทำกิจกรรมอะไรบ้าง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา เคยพบว่ามีคนเคยอดอาหารได้เป็นเวลานานถึง 70 กว่าวัน แต่ก็เป็นการอดอาหารที่ร่างกายได้ทำกิจกรรมอะไรเลย
นพ.ฉันชาย สิทธิพันธุ์ รอง ผอ.รพ.จุฬาลงกรณ์ กล่าวถึงระดับออกชิเจนภายในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ว่า เชื่อมั่นว่าขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังพยายามให้ความช่วยเหลือทั้ง 13 ชีวิตอย่างเต็มที่ โดยจะเห็นภาพการปฏิบัติงานช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ และอาจเกิดสงสัยเกี่ยวกับระบบออกซิเจนภายในถ้ำ ซึ่งออกซิเจนในอากาศตามปกติมีอยู่เพียงพอ แต่หากเรามีอาการ เหนื่อยหอบ ใช้พลังงานมาก เป็นธรรมดาที่ร่างกายต้องการปริมาณออกซิเจนเพิ่มขึ้น เพราะขณะที่คนเราหายใจออกก็ขับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาปริมาณมากเช่นกัน หากไม่อยู่ในจุดที่มีอากาศถ่ายเท ก็จะให้หายใจได้รับปริมาณออกซิเจนลดลง และก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะเพิ่มขึ้นเข้าไปแทนที
“สำหรับ 13 ชีวิตภายในถ้ำ หากอยู่ที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก เชื่อว่า ไม่มีปัญหา และขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมของถ้ำ เพราะออกซิเจนในอากาศไม่ได้น้อยลง ในอากาศมีทั้งปริมาณออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์ และสิ่งสำคัญคือเรื่องของพลังใจหากเข้มแข็ง ไม่ตกใจ ระดับการหายใจก็จะสม่ำเสมอ การรับปริมาณออกซิเจนก็จะคงที่” นพ.ฉันชาย กล่าว