นาซา แถลงข้อค้นพบใหม่ใหม่บนดาวอังคารจากการสำรวจของยานโรเวอร์คิวริออซิตี พบสารประกอบอินทรีย์และก๊าซมีเทนในชั้นดินโบราณอายุกว่า 3,000 ล้านปี ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงปริมาณก๊าซมีเทนอย่างเป็นรูปแบบตามฤดูกาล เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการวิจัยศึกษาดาวอังคารในอนาคต
นายมติพล ตั้งมติธรรม ผู้เชี่ยวชาญดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) แถลงข่าวผลการสำรวจดาวอังคารล่าสุดโดยยานโรเวอร์คิวริออซิตี ยืนยันการค้นพบโมเลกุลของสารประกอบอินทรีย์บนดาวอังคาร โดยขุดเจาะพื้นผิวลงไป 5 เซนติเมตร และศึกษาองค์ประกอบทางธรณีวิทยาด้วยกระบวนการก๊าซโครมาโต กราฟี สารอินทรีย์คือสารประกอบที่มีธาตุคาร์บอนเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งสิ่งมีชีวิตทุกชนิดมีสารอินทรีย์เป็นองค์ประกอบ ดังนั้น การค้นพบสารประกอบอินทรีย์บนดาวอังคารจึงเป็นข่าวดีต่อการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารในอนาคต
ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ กล่าวว่า อีกข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือก๊าซมีเทนที่พบเป็นสารอินทรีย์ที่ถูกเก็บในชั้นดินบนดาวอังคารสมัยโบราณเมื่อ 3,000 ล้านปีที่แล้ว แสดงว่าดาวอังคารมีก๊าซมีเทนมาตั้งแต่อดีต การทำงานของยานโรเวอร์คิวริออซิตีที่ผ่านมายังทำให้ทราบว่า ก๊าซมีเทนบนพื้นผิวดาวอังคารมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปแบบตามฤดูกาล ซึ่งไม่เคยถูกค้นพบมาก่อนจากยานอวกาศที่โคจรรอบดาวอังคารก่อนหน้านี้ นอกจากนี้ ยังพบสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ ด้วยแต่พบในปริมาณน้อยมาก สำหรับกระบวนการเกิดแก๊ซมีเทนบนโลกร้อยละ 90 เกิดจากสิ่งมีชีวิต เช่น แบคทีเรีย สาหร่าย ตลอดจนกระบวนการทางชีวภาพต่างๆ
ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยานโรเวอร์คิวริออซิตีเป็นยานสำรวจดาวอังคารของนาซา ส่งไปยังดาวอังคารตั้งแต่สิงหาคม 2555 เพื่อสำรวจหลุมอุกกาบาตเกลเครเตอร์ โดยขุดสำรวจก้อนหินและทำปฏิกิริยาทางเคมีเพื่อหาสารประกอบทางธรณีวิทยาของดาวอังคารได้ ข้อค้นพบใหม่ในครั้งนี้จึงมีประโยชน์อย่างยิ่งในการนำมาวิเคราะห์และวางแผนการศึกษาวิจัยดาวอังคารในอนาคต โดยเฉพาะโครงการเอ็กโซมาร์ส ซึ่งเป็นโครงการร่วมขององค์กรสำรวจอวกาศยุโรป (ESA) และองค์กรอวกาศของรัสเซีย (ROSCOSMOS) รวมถึงโครงการมาร์ส (Mars2020) และโครงการอินไซต์ (InSight) ของนาซาที่เพิ่งส่งยานไปเมื่อพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมาเพื่อปฏิบัติภารกิจเจาะสำรวจพื้นผิวตรวจวัดแผ่นดินไหวบนดาวอังคาร