นักวิทยาศาสตร์กำลังขมักเขม้นศึกษาสิ่งมีชีวิตที่อาศัอยู่ตามก้อนหิน ดินทะทรายของทะเลทรายทางตอนเหนือในชิลี สถานที่ซึ่งได้ชื่อว่ามีสภาพแวดล้อมที่ใกล้เคียงดาวอังคารที่ทั้งร้อนจัด เต็มไปด้วยฝุ่นและยังแห้งแล้งอย่างหนัก
ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้พบสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ในทะเลทรายอาทาคามา (Atacama desert) ในชิลี ทั้งแบคทีเรียและสาหร่ายที่มีวิวัฒนาการจนอาศัยอยู่ในดินอันแตกระแหงได้ จึงเกิดคำถามว่าหากมีสิ่งมีชีวิตที่ทะเลทรายนี้ แล้วทำไมจะมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารที่อยู่ห่างออกไป 225 ล้านกิโลเมตรบ้างไม่ได้?
“หากที่นั่นมีสิ่งมีชีวิต มันก็น่าจะคล้ายๆ กับสิ่งมีชีวิตที่นี่แหละ แต่เราก็ยังไม่ทราบในเรื่องนั้น เพราะเราไม่มีหลักฐานเลย” คริสตินา โอราดอร์ (Cristina Dorador) นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยอันโตฟากัสตา (University of Antofagasta) ในชิลีกล่าว
โอราดอร์ให้สัมภาษณ์ผู้สื่อข่าวเอเอฟพีในขณะที่เธอกำลังแซะชิ้นส่วนหินเกลือในบริเวณทะเลทรายอาทาคามาที่เรียกว่า สถานียุนเกย์ (Yungay Station)
“ทว่าหากเราจัดการเพื่อทำความเข้าใจได้ว่า จุลินทรีย์เหล่านั้นดำรงชีวิตได้อย่างไร พวกมันรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้เช่นไร และพวกมันปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้อย่างไร จากนั้นอาจจะอีกไม่นานเราจะได้ข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์อื่น เราจะได้อะไรบางอย่างบนโลกนี้เพื่อใช้เปรียบเทียบ” โอราดอร์กล่าว
ทั้งนี้ โอราดอร์จะวิเคราะห์ชิ้นส่วนที่กระเทาะออกมาในห้องปฏิบัติเคลื่อนที่ซึ่งเธอเองขับเคลื่อนไปทั่วทะเลทรายของชิลีนี้ เพื่อค้นหาโครงสร้างสิ่งมีชีวิตขนาดเล็ก
สำหรับโอราดอร์นั้นเป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์นับชีวิตจากหลากหลายประเทศที่ทำงานภายใต้โครงการศึกษาสภาพใกล้เคียงดาวอังคารในทะเลทรายอาทาคามา ซึ่งมีหลากหลายโครงการ
ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาก็มีอีกโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องกับเธอจากองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่ได้ดำเนินโครงการระยะสองในการฝึกขุดเจาะตัวอย่างดินบนทะเลทรายอาทาคามาด้วยยานโรเวอร์ที่ออกแบบมาพิเศษ
“หากมีสิ่งมีชีวิตหรือเคยมีบนดาวอังคาร ความแห้งแล้งของพื้นผิวดาวเคราะห์และการรับรังสี (แสงแดด) ที่แรงจัด จะผลักไสให้สิ่งมีชีวิตเหล่านั้นลงไปอยู่ใต้ดิน นัน่ทำให้ทำเลอย่างทะเลทรายอาทาคามาเป็นแหล่งที่ดีในการฝึกค้นหาสิ่งมีชีวิบนดาวอังคาร” นาซาระบุในรายงาน
นอกจากนี้หาฟอสซิลสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารคล้ายในทะเลทรายอาทาคามา นั่นจะช่วยไขกำเนิดของเราเองด้วย โดย คริสเตียน นิทส์เคล์ม (Christian Nitschelm) นักดาราศาสตร์ชาวฝรั่งเศสจากมหาวิทยาลัยอันโทฟากัสตากล่าวว่า การศึกษาดาวอังคารอาจทำให้เราเข้าใจว่าสิ่งมีชีวิตบนโลกกำเนิดอย่างไร
ดาวอังคารหนึ่งในเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดโลกมากที่สุดเป็นอีกแหล่งที่ดึงดูดความสนใจใคร่รู้ โดยทั้งอดีตสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกาได้เริ่มตั้งเป้าศึกษาดาวเคราะห์เพื่อนบ้านดวงนี้เมื่อช่วงทศวรรษที่ 1960
เมื่อ4 ปีที่ผ่านมานาซาได้ส่งหุ่นยนต์สำรวจชื่อ “คิวริออซิตี” (Curiosity) ไปค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร และหุ่นยนต์อัตโนมัตินี้ได้ส่งภาพถ่ายพื้นผิวของดาวเคราะห์กลับมายังโลกจำนวนมาก โดยพื้นผิวของดาวเคราะห์นั้นมีหินสีเทาดูคล้ายกินในทะเลทรายอาทาคามาอย่างมาก
นอกจากนี้นาซายังมีแผนส่งหุ่นยนต์ตัวที่ 2 ไปดาวอังคารอีกในปี 2018 ส่วนรัสเซียและองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) ก็ตั้งเป้าส่งยานขึ้นไปขุดกดินดาวอังคารในปี 2020 ขณะที่ โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald Trump) ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ยึดคำมั่นของ บารัค โอบามา (Barack Obama) ประธานาธิบดีคนก่อน ที่ตั้งเป้าส่งมนุษย์ไปเยือนดาวอังคารในปีทศวรรษ 2030
ความหวังในการค้นพบสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารเพิ่มสูงขึ้นเมื่อนักวิทยาศาสตร์ได้ตรวจพบร่องรอยของน้ำและก๊าซมีเทนบนดาวอังคาร ซึ่งนิทส์เคล์มกล่าวว่าภายในระบบสุริยะขของเราไม่มีที่อื่นอีกนอกจากดาวอังคารที่มีปัจจัยเอื้อต่อสิ่งมีชีวิต
“ถ้าไม่มีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร ก็ไม่มีที่อื่นอีกนอกจากโลก” นิทส์เคล์มกล่าวอย่างมั่นใจ