xs
xsm
sm
md
lg

นักธรณีฟิสิกส์พบโครงสร้างปริศนาใต้วัดไชยฯ อยุธยา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ทีมวิจัยธรณีฟิสิกส์ใช้เครื่องมือธรณีเรดาร์ สำรวจโครงสร้างใต้ดินบริเวณรอบๆ พระปรางค์ประธาน วัดไชยฯ อยุธยา
นักธรณีฟิสิกส์ใช้เรดาร์และการวัดค่าสนามแม่เหล็กสำรวจวัดไชยวัฒนาราม จ.อยุธยา ในการปฏิบัติงานเพื่อช่วยกรมศิลป์บูรณปฏิสังขรณ์และอนุรักษ์โบราณสถาน แล้วพบโครงสร้างปริศนาที่ยังไม่ทราบว่าคืออะไร เบื้องต้นส่งข้อมูลเพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงนำไปศึกษาต่อ

ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์ จากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ว่าทีมวิจัยได้นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่ประยุกต์ใช้ด้วยวิธีการสำรวจธรณีฟิสิกส์แบบผสมผสานไปใช้ในการตรวจสอบโครงสร้างของสิ่งก่อสร้างและสำรวจหาหลักฐานทางโบราณคดีใต้พื้นดิน แล้วสำรวจพบโครงสร้างปริศนาใต้วัดไชยวัฒนาราม จ.พระนครศรีอยุธยา

เทคโนโลยีที่ทีมวิจัยใช้สำรวจคือการสำรวจด้วยวิธีธรณีเรดาร์ (Ground Penetrating Radar: GPR) และการวัดค่าสนามแม่เหล็ก (Magnetic Survey) ซึ่ง ผศ.ดร.ภาสกรอธิบายการทำงานในส่วนการสำรวจด้วยเรดาร์ว่าทีมสำรวจจะใช้เครื่องตรวจลากไปตามพื้นที่ทั่ววัดไชยวัฒนาราม หากใต้พื้นดินมีโครงสร้างหรือสิ่งที่ถูกฝังอยู่ใต้ดิน สัญญาณที่ได้จะมีลักษณะทึบกว่าบริเวณที่ไม่มีสิ่งกีดขวาง เปรียบเหมือนเราตัดเค้กแล้วสังเกตดูลักษณะด้านตัดขวาง

ส่วนการวัดค่าสนามแม่เหล็กนั้นใช้เครื่องวัดที่ระบุตำแหน่งสำรวจด้วยระบบระบุพิกัดผ่านดาวเทียมหรือจีพีเอส โดย ผศ.ดร.ภาสกรอธิบายว่า หากมีโครงสร้างที่มีเหล็กก็จะตรวจพบค่าสนามแม่เหล็กที่เปลี่ยนไปจากบริเวณอื่น นอกจากนี้ในกระบวนการเผาอิฐซึ่งเป็นวัสดุในการก่อสร้างโบราณสถานนั้น ยังทำให้เหล็กภายในก้อนอิฐรวมตัวกัน และทำให้เครื่องตรวจวัดได้

ทีมวิจัยได้ประมวลข้อมูลจากการสำรวจจนพบว่า บริเวณใต้ฐานพระปรางค์ 4 องค์์เล็กรอบพระปรางค์ประธานลึกลงไป 20-30 เซ็นติเมตร*(แก้ไข) มีโครงสร้างทำมุมฉากอยู่ใต้ดิน และยังพบโครงสร้างเป็นแนวยาวหน้าพระปรางค์ประธาน กับโครงสร้างที่เป็นแนวยาว 2 ข้างขนานไปกับพระอุโบสถที่อยู่ด้านหน้าพระปรางค์ประธาน

ผศ.ดร.ภาสกรเผยแก่ทีมข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ว่า ทีมวิจัยทราบเพียงว่ามีโครงสร้างที่ไม่เคยทราบมาก่อนอยู่ใต้ดิน และไม่ทราบว่าโครงสร้างดังกล่าวคืออะไร โดยได้ส่งมอบข้อมูลให้แก่กรมศิลปากรเพื่อนำศึกษาขุดค้นทางโบราณคดีต่อไป ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วคาดว่า โครงสร้างดังกล่าวเป็นโครงสร้างโบราณสถานเก่าที่ถูกสร้างทับด้วยโบราณสถานที่ใหม่กว่า

นอกจากใช้เครื่องมือตรวจสอบชั้นใต้ดินแล้ว ผศ.ดร.ภาสกรเผยอีกว่าทีมวิจัยจากภาควิชาวิทยาศาสตร์พื้นพิภพยังได้ขุดตัวอย่างชั้นดินขึ้นมาวิเคราะห์ เพื่อดูการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมในอดีตเมื่อ 2,000-3,000 ปี ซึ่งเมื่อประมาณ 6,000 ปีก่อนนั้นบริเวณวัดไชยฯ เคยเป็นทะเลมาก่อน และทีมวิจัยได้พบหลักฐานว่าบริเวณดังกล่าวเคยได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม อีกทั้งยังพบละอองเกสรโบราณของต้นไม้ทะเลในตะกอนดิน ซึ่งตอกย้ำว่าบริเวณดังกล่าวเคยเป็นทะเลมาก่อน

การสำรวจดังกล่าวเป็นโครงการการประยุกต์ใช้การสำรวจธรณีฟิสิกส์เพื่อสนับสนุนการบูรณปฏิสังขรณ์โบราณสถานและการขุดค้นทางโบราณคดี ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) โดยนำร่องศึกษาที่วัดอรุณราชวราราม ราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ, วัดไชยวัฒนารามและพระราชวังโบราณ จ.พระนครศรีอยุธยา และมีเจ้าหน้าที่จากสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา และกรมทรัพยากรธรณี ร่วมศึกษาวิจัยด้วย

โครงการวิจัยนี้ยังเป็นโครงวิจัยย่อยในชุดโครงการ "อนุรักษ์โครงสร้างโบราณสถานตามหลักวิศวกรรม" ที่มี รศ.ดร.นคร ภู่วโรดม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหัวหน้าชุดโครงการ ภายใต้การสนับสนุนของ สกว.และกรมศิลปากร
ทีมวิจัยธรณีฟิสิกส์ใช้เครื่องมือธรณีเรดาร์ สำรวจโครงสร้างใต้ดินบริเวณรอบๆ พระปรางค์ประธาน วัดไชยฯ อยุธยา
ผศ.ดร.ภาสกร ปนานนท์
วัดไชยฯ อยุธยา มีนักท่องเที่ยวมาเยือนอย่างคึกคักตามกระเสละครบุพเพสันนิวาส
พระปรางค์ประธานวัดไชยวัฒนาราม
ผลการแปรความหมายข้อมูลจากการสำรวจธรณีฟิสิกส์ด้วยวิธีธรณีเรดาร์ที่วัดไชยวัฒนาราม แสดงแนวโครงสร้างใต้ดินด้วยแถบสีแดงทึบ และแถบสีน้ำเงิน


กำลังโหลดความคิดเห็น