คาดการณ์ไม่เกิน 72 ชั่วโมง "เทียนกง" ลงแปซิฟิกตอนใต้ใกล้สุสานยานอวกาศ หลังจากติดตามสถานการณ์สถานีอวกาศเทียนกง-1 มาอย่างต่อเนื่องจนใกล้ได้บทสรุปแล้วว่าเทียนกง-1 จะตกลงพื้นที่ไหนของโลก
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้เชี่ยวชาญด้านกลศาสตร์วงโคจรของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศหรือจิสด้า เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์จำลองสถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันเสาร์ที่ 31 มีนาคม 2561 พบว่า ความสูงโดยเฉลี่ยของสถานีอวกาศเทียนกง-1 อยู่ที่ 181 กิโลเมตร "สำหรับความเสี่ยงที่จะกระทบต่อประเทศไทยถือว่ามีน้อยมาก โดยวงโคจรสุดท้ายก่อนที่สถานีอวกาศเทียนกง-1 จะตกสู่พื้นโลก
"คาดว่าอาจจะตกลงทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกในวัน 1หรือ 2 เมษายน 2561 แต่จะประเมินได้แม่นยำมากขึ้นเมื่อใกล้เวลาตก ซึ่งจิสด้าจะประเมินและจำลองสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและจะแจ้งพื้นที่เสี่ยงต่อไป และหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะรีบรายงานให้ทราบในทันที" ดร.สิทธิพร กล่าว
สถานีอวกาศเทียนกง -1 เป็นสถานีอวกาศแห่งแรกของจีนได้ถูกส่งขึ้นไปเพื่อทดสอบปฏิบัติการหลายอย่างในอวกาศ เพื่อเตรียมการขั้นต้นสำหรับการสร้างสถานีอวกาศของจีนในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า และหากสถานีอวกาศเทียนกง -1 ตกลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกตามที่หน่วยงานอวกาศหลายแห่งรวมถึงจิสด้าได้คาดการณ์ไว้
"ก็ถือว่าจุดจบของเทียนกง-1 อาจจะอยู่ใกล้กับสถานที่ที่เรียกว่า "สุสานยานอวกาศ” ซึ่งเป็นบริเวณที่ห่างไกลจากผู้คนที่อยู่ทางตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิคก็เป็นได้ โดยในปัจจุบันมียานอวกาศมากกว่า 250 ลำที่ได้ลงไปจบชีวิตของมันในสุสานแห่งนี้ ด้วยเพราะว่ามันมีขนาดที่ใหญ่เกินกว่าจะถูกเผาไหม้ได้หมดด้วยความร้อนในชั้นบรรยากาศ ในขณะที่ชิ้นส่วนต่างๆ ของมันจะถูกเผาไหม้หมด ก่อนที่จะตกถึงพื้นโลก" ดร.สิทธิพร กล่าว
ขณะที่ น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว ผู้อำนวยการกองกิจการอวกาศ ศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศ กองทัพอากาศ เผยว่า หน่วยงาน JSpOC ของกองทัพอากาศสหรัฐฯ คาดการณ์ว่า สถานีอวกาศเทียนกง 1 จะเข้าสู่บรรยากาศโลก (reentry) ตรงกับเวลาประเทศไทย วันที่ 2 เม.ย.61 เวลา 3:29 น. และศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA) ได้นำพิกัดเวลาดังกล่าวมาสร้างแบบจำลอง คาดการณ์ว่า ถ้าเส้นทางโคจรไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เทียนกง-1 จะตกลงบริเวณมหาสมุทรอินเดีย