ทรู ดิจิทัล พาร์ค เซ็นเอ็มโอยู ร่วมมือกับมิว สเปซ (Mu Space) สตาร์ทอัปที่เข้ามาจับธุรกิจดาวเทียม และยานอวกาศสัญชาติไทย ตั้ง Open Lab เพื่อคิดค้นนวัตกรรม และตั้งศูนย์ปฏิบัติการ หวังให้ไทยเป็นศูนย์กลางดาวเทียมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นายฐนสรณ์ ใจดี (ขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค กล่าวว่า สิ่งที่ทรู เร่งทำในเวลานี้ คือ การนำเสนออินฟราสตรักเจอร์ และสถานที่ที่เหมาะสม เพื่อให้สตาร์ทอัปและผู้ประกอบการทางด้านเทคโนโลยีไทยมีพื้นที่ในการพบปะ และแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจในอนาคต
ดังนั้น การร่วมมือกับทางมิว สเปซ ที่จะมาสร้างศูนย์วิจัย และพัฒนาการสื่อสารผ่านดาวเทียม จึงเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นที่แสดงให้เห็นถึงอีโคซิสเตมส์ที่จะเกิดขึ้นในโครงการนี้ ที่จะมาช่วยผลักดันให้ธุรกิจเทคโนโลยี และสตาร์ทอัปในไทย แข็งแรงขึ้น
ทั้งนี้ คาดว่าทรู ดิจิทัล พาร์ค จะเริ่มให้บริการได้ในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ที่สนใจเข้ามาใช้งานพื้นที่แล้วราว 70-80% ที่ปัจจุบันกำลังอยู่ในช่วงเซ็นสัญญาเข้ามาใช้งาน และตกแต่งสถานที่เพื่อให้พร้อมเปิดใช้งานในช่วงสิ้นปีนี้
นายวรายุทธ เย็นบำรุง (ซ้าย) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด ให้ข้อมูลเสริมว่า การเข้ามาตั้งศูนย์วิจัยฯ ของทางมิว สเปซ ในช่วงแรก จะใช้เพื่อการวิจัยในแง่ของการพัฒนาจานดาวเทียมรับสัญญาณแบบพื้นเรียบ (Flat Panel) ที่คาดว่าจะเริ่มเห็นออกสู่ตลาดมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
“การพัฒนาจานรับสัญญาณดาวเทียมรูปแบบใหม่นี้ จะเข้ามาจะช่วยเปิดโอกาสให้ในการรับสัญญาณดาวเทียมของผู้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น จากเดิมที่เป็นจานโค้งทำให้ต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้ง และหันให้ถูกองศาเพื่อรับสัญญาณ แต่เมื่อเป็นแบบพื้นเรียบแล้วก็จะสามารถนำไปติดกับพื้นผิวใด ๆ ก็ได้”
อย่างไรก็ตาม ทางมิว สเปซ คาดว่า เทคโนโลยีดังกล่าวจะเริ่มแพร่หลายในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ที่จะถูกนำมาช่วยในเรื่องของสมาร์ทซิตี สมาร์ทโฮม และสมาร์ทคาร์ พร้อมกับการมาของ 5G ที่การใช้งานอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ มิว สเปซ ยังได้ชูวิสัยทัศน์ของบริษัทที่จะร่วมกับทางบลู ออริจิน ในการปล่อยดาวเทียมขึ้นไปบนอวกาศ ด้วยจรวด New Glenn ในช่วงปี 2020 รวมถึงแผนในการทำธุรกิจท่องเที่ยวอวกาศ (Space Travel) เพราะเห็นแนวโน้มของค่าใช้จ่ายในการส่งจรวดออกไปนอกโลกที่ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
ขณะเดียวกัน ยังมองว่าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยังเป็นกลุ่มประเทศที่มีการลงทุนในแง่ของการเทคโนโลยีอวกาศค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับในสหรัฐฯ หรือยุโรป โดยในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีการลงทุนทางอวกาศ เฉพาะจากทางภาคเอกชนถึง 5 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนในยุโรป มีการลงทุนถึง 3.9 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน อยู่ที่ราว 128 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
ปัจจุบัน มิว สเปซ จะเน้นให้บริการสื่อสารผ่านดาวเทียมจากการเป็นพันธมิตรกับทาง SES ในการเช่าดาวเทียมทั้งวงโคจรสูง และต่ำ เพื่อมาให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมในพื้นที่ห่างไกลทั้งในเอเชีย และแอฟริกา