ผู้บัญชาการทหารอากาศ เผย ทอ.จัดกำลังเฝ้าติดตามการตกลงสู่พื้นโลกของยานอวกาศ “เทียนกง-1” ของจีนที่หลุดวงโคจรและกำลังร่วงสู่พื้นโลกอย่างใกล้ชิด คาดถึงพื้นโลก 3 เม.ย.นี้ แต่ไม่น่ากังวลเพราะเหลือเพียงชิ้นส่วนเล็กๆ และโอกาสตกในไทยไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ และหากมาจริงก็รู้ตัวก่อน 3 วัน
วันนี้ (27 มี.ค.) พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ระบุถึงการเฝ้าติดตามการตกลงสู่พื้นโลกของสถานีอวกาศเทียนกง-1 ของจีนว่า ไม่สามารถควบคุมได้มากว่า 6 เดือนแล้ว และเมื่อสถานีอวกาศเสียการควบคุมก็จะตกลงมาจากฟากฟ้าแน่นอนเพราะอยู่สูงมากและจะค่อยๆ ลดระดับลงมาเรื่อยๆ ปัจจุบันอยู่ห่างจากพื้นดิน 200 กิโลเมตร เมื่อยิ่งใกล้เส้นโคจรโลกก็จะหล่นลงมาเร็วมากขึ้น ทั้งนี้ กองทัพอากาศได้ติดตามเรื่องนี้มานานกว่า 3-4 เดือนแล้ว แต่มั่นใจว่าไม่มีอะไรน่ากังวล เพราะขณะนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าที่ดอยอินทนนท์ อีกทั้งยังมีการใช้ระบบในการตรวจสอบและเฝ้าระวัง โดยคาดว่าจะตกถึงพื้นโลกก่อนวันที่ 8 เมษายน โดยทางองค์การอวกาศยุโรป หรืออีซา ประเมินว่าจะถึงพื้นโลกวันที่ 3 เมษายน
“ดาวเทียมดังกล่าวโคจรผ่านประเทศไทยในทุกวัน เราก็ได้ติดตามและจัดกำลังคน โดยหน่วยที่เรียกว่าศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ หรือลีซา LESA : Learning model on Earth Science and Astronomy เป็นศูนย์การเรียนรู้ทางด้านอวกาศของกองทัพอากาศ ดำเนินจการร่วมกับกระทรวงวิทยาศาสตร์ และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือจิสด้า รวมถึงสถาบันการศึกษาต่างๆ ในเครือข่ายกิจการอวกาศ เพื่อคอยเฝ้าสังเกตุและติดตาม ซึ่งไม่น่ากังวลว่าจะตกลงมายังประเทศไทย โดยมีโอกาสไม่ถึงร้อยละ 1 เท่านั้น และคาดว่าน่าจะตกลงสู่พื้นน้ำ แต่หากไม่เป็นเช่นนั้น เราจะรู้ก่อนสามวันเพื่อเตรียมการดำเนินการ ซึ่งถือเป็นกิจกรรมที่ได้เรียนรู้กับการศึกษาด้านอวกาศเพื่อที่จะพัฒนากำลังพลต่อไป” ผู้บัญชาการทหารอากาศระบุ
เมื่อถามว่าเมื่อตกสู่พื้นดินจะทำอย่างไร ผู้บัญชาการทหารอากาศกล่าวว่า ต้องหลบ แม้จะมีเครื่องมือที่สามารถยิงสลายได้ แต่เศษของซากวัสดุยังตกอยู่และจะทำให้เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อยกระจายไปทั่ว ถือว่ายังเป็นอันตรายอยู่ดี พร้อมยืนยันว่าไม่น่ากังวล เพราะชิ้นส่วนบางส่วนใหญ่จะเผาไหม้ไปในอากาศ แต่ก็ถือว่าไม่อันตรายหากหลบทัน
พล.อ.อ.จอมยังกล่าวถึงความคืบหน้าการรับสมัครนักบินหญิงรุ่นที่ 3 โดยแผนการดำเนินการตนได้เตรียมการรับสมัครนักบินหญิงไว้ 3 รุ่นในโครงการแรก เพื่อประเมินว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ การสมัครครั้งนี้ขอเชิญชวนบุคคลที่สนใจมาสมัคร โดยต้องมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ เช่น การมีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี พร้อมวุฒิการศึกษาปริญญาตรี ที่ผ่านมาคิดว่านักบินหญิงมีความตั้งใจสูงมาก แต่ช่วงหลังต้องยอมรับว่าคนไม่ค่อยสนใจ และไม่ค่อยอยากเป็นนักบินหญิงเท่าที่ควร ไม่เหมือนรุ่น 1 รุ่น 2 ที่มีผู้สนใจอย่างคึกคัก และมีความมุ่งมั่นที่จะเป็นนักบินหญิง ส่วนรุ่น 3 จะเปิดรับสมัครถึงวันที่ 5 เมษายน ทั้งนี้ ผู้ที่ผ่านคัดเลือกจะได้บรรจุเป็นข้าราชการสังกัดกองทัพอากาศ และทำการบินร่วมกับฝูงบิน 6 ก่อนที่จะไปที่อื่นต่อไป
“รุ่นนี้ถือเป็นรุ่นสุดท้ายของโครงการแรก แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะเลิกล้มโครงการ แต่ทั้งนี้ต้องอยู่ที่การศึกษาถึงผลดีและผลเสียของการมีนักบินหญิง รวมถึงผลการปฏิบัติต่างๆ ที่ผ่านมาและผลงานของนักบินหญิงเองว่าทำได้ดีขนาดไหน เพื่อพิจารณาว่าจะรับเพิ่มต่อไปหรือไม่แต่ที่ผ่านมาก็ถือว่าเป็นการสร้างภาพลักษณ์ที่ดี ว่ากองทัพอากาศไทยมีระบบมาตรฐานอย่างนานาชาติ เพราะชาติที่เจริญแล้วเขาก็มีนักบินหญิงเคียงคู่กับนักบินชาย อย่างไรก็ตามในส่วนของนักบินหญิงที่มาสมัครจำนวนน้อยก็ไม่ได้กังวลในเรื่องของปริมาณเพราะเราตั้งคุณสมบัติไว้สูงพอสมควร”
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าวันนี้เป็น “วันที่ระลึกกองทัพอากาศ” มี พล.อ.อ.จอม รุ่งสว่าง ผู้บัญชาการทหารอากาศเป็นประธาน โดยมีผู้บังคับบัญชาระดับสูง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่เข้าร่วมพิธี โดยมีการวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์บุพการีทหารอากาศ หน้ากองบัญชาการ โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช
จากนั้น พล.อ.อ.จอมได้วางพานพุ่มถวายสักการะ และพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์อดีตผู้บังคับบัญชากองทัพอากาศ, พิธีวางพานพุ่มถวายสักการะ และพิธีบวงสรวงดวงพระวิญญาณ จอมพล สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ กรมหลวงพิศณุโลกประชานารถ พระบิดากองทัพอากาศ, ดวงวิญญาณบุพการีทหารอากาศ อดีตผู้บังคับบัญชาของกองทัพอากาศ และวีรชนทหารอากาศ ณ พระอนุสาวรีย์ฯ และพิธีวางพวงมาลา ณ อนุสาวรีย์ทหารอากาศ
จากนั้นเวลา 10.00 น. พล.อ.อ.จอมได้มอบรางวัลงานประดิษฐ์คิดค้นและผลงานบทความวิชาการ, รางวัลการเขียนเอกสารวิจัยดีเด่น, รางวัลนิรภัย และรางวัลบุคคลดีเด่นของกองทัพอากาศ ประจำปี 2560 แก่ น.อ.ฐากูร เกิดแก้ว สังกัดศูนย์วิจัยพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการบินและอวกาศกองทัพอากาศ น.อ.หญิง จรัสศรี จินดารัตนวงศ์ สังกัดกรมกำลังพลทหารอากาศ ร.อ.ปริญญา อนันตชัยศิลป์ สังกัด โรงเรียนนายเรืออากาศนวมินทกษัตริยาธิราช ร.อ.หญิง ปัชฌาศินี พันธ์โกศล สังกัดกรมสารบรรณทหารอากาศ และ พ.จ.อ.รักพงศ์ วงศ์ปัญญาดี สังกัดกรมแพทย์ทหารอากาศ
พล.อ.อ.จอมกล่าวให้โอวาทตอนหนึ่งว่า กองทัพอากาศถือเป็นกองทัพที่ต้องใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการปฏิบัติภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นอากาศยาน อาวุธยุทโธปกรณ์ ล้วนแต่ต้องใช้เทคโนโลยีเฉพาะส่วน การที่บุคลากรของกองทัพอากาศได้ใช้ความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ สร้างสรรค์ผลงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนากองทัพให้สามารถดำรงศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถให้สูงขึ้นบนพื้นฐานของการพึ่งพาตัวเองให้มากที่สุด จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานสู่การเป็นกองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค ขอชื่นชมหน่วยงานและผู้ที่ได้รับรางวัลที่ได้สร้างสรรค์ผลิตผลงานต่างๆ ในการเขียนบทความ เอกสารวิจัย งานด้านนิรภัย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ กิจการด้านการบินของไทย เริ่มต้นในปี พ.ศ. 2453 เมื่อชาวต่างชาติได้นำเครื่องบินมาทำการบินแสดงให้ชาวไทยได้ชม ณ สนามม้าสระปทุม หลังจากนั้นเพียง 1 ปี กระทรวงกลาโหมได้คัดเลือกนายทหาร 3 นายไปศึกษาวิชาการบิน ณ ประเทศฝรั่งเศส ประกอบด้วย พ.ต.หลวงศักดิ์ศัลยาวุธ, ร.อ.หลวงอาวุธสิขิกร และ ร.ท.ทิพย์ เกตุทัต
ภายหลังนายทหารทั้ง 3 นายได้รับเกียรติยกย่องให้เป็น “บุพการีทหารอากาศ” การบินของไทยในระยะแรกได้ใช้สนามม้าสระปทุม หรือราชกรีฑาสโมสรในปัจจุบัน เป็นสนามบิน แต่ด้วยความไม่สะดวกหลายประการ บุพการีทั้ง 3 นายจึงได้พิจารณาหาพื้นที่ที่มีความเหมาะสมกับการบิน และได้เลือกตำบลดอนเมืองเป็นที่ตั้งสนามบิน พร้อมทั้งได้ก่อสร้างอาคารสถานที่โรงเก็บเครื่องบินอย่างถาวรขึ้น เมื่อการโยกย้ายกำลังพล อุปกรณ์ และเครื่องบินไปไว้ยังที่ตั้งใหม่เรียบร้อยแล้ว ในวันที่ 27 มีนาคม 2457 กระทรวงกลาโหมจึงได้ยกฐานะแผนกการบินขึ้นเป็น “กองบินทหารบก” ถือได้ว่ากิจการบินของไทยได้วางรากฐานอย่างมั่นคงขึ้นแล้ว นับแต่นั้นเป็นต้นมา กองทัพอากาศจึงถือเอาวันที่ 27 มีนาคมของทุกปีเป็น “วันที่ระลึกกองทัพอากาศ”