เมื่อปี 1997 โลกได้ “ฮือฮา” กับ “ดอลลี่” แกะโคลนนิงตัวแรก กำเนิดของเธอได้สร้างข้อถกเถียงมากมายทั้งในแง่วิทยาการและจริยธรรม แต่ผ่านไปไม่ถึง 7 ปี โลกต้องรับข่าวร้ายว่า แกะสาวกำลังเจ็บป่วยจากอาการที่น่าจะ “แก่ก่อนวัย” และได้รับการการุณยฆาตเพื่อยุติความทุกข์ทรมานจากโรคข้อกระดูกอักเสบ แต่งานวิจัยล่าสุดที่เพิ่งเผยออกมาในปลายเดือน พ.ย.2017 ว่า แท้จริงแล้วโรคที่แกะโคลนเผชิญนั้นเป็นเรื่องปกติตามวัย
ข่าวการศึกษาโครงกระดูกของแกะดอลลี่ (Dolly the sheep) ของทีมวิจัยในอังกฤษและสก็อตแลนด์ที่เพิ่งเผยออกมาเมื่อ 23 พ.ย.2017 จนได้ข้อสรุปว่า โรคที่แกะโคลนเป็นนั้นคือเรื่องปกติ และไม่ใช่อาการแก่เกินวัยไปตามต้นแบบพันธุกรรม ชวนให้เรานึกถึงช่วงบรรยากาศที่แกะโคลนนิงตัวแรกของโลกเคยเป็นจับตามอง และได้รวบรวมบรรยากาศนัน้มาให้ย้อนดูอีกครั้ง
ทั้งนี้ ทีมวิจัยซึ่งตีพิมพ์ผลงานเผยแพร่ลงวารสารไซแอนทิฟิกรีพอร์ตส์ (Scientific Reports) ได้ใช้รังสีเอ็กซ์ศึกษาโครงกระดูกของดอลลี่ แกะโคลนนิงตัวแรกของโลก ที่ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสก็อตแลนด์ (National Museums Scotland: NMS) ในเอดินบะระ สก็อตแลนด์
ทีมวิจัยสรุปว่า ความกลัวเรื่องการแก่เกินวัยและอายุที่สัมพันธ์กับต้นแบบในการโคลนนั้นดูจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะในความจริงแล้วโรคข้ออักเสบที่พบในแกะดอลลี่นั้นค่อนข้างเป็นเรื่องที่พบได้ปกติ และเอเอฟพีได้นำเรื่องนี้มารายงานต่อ
“ดอลลี่” แกะโคลนตัวแรกไม่ได้ "แก่ก่อนวัย" ก่อนถูกฉีดยาตาย