xs
xsm
sm
md
lg

“ดอลลี่” แกะโคลนตัวแรกไม่ได้ "แก่ก่อนวัย" ก่อนถูกฉีดยาตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


ข่าวนี้อาจทำให้การตายของ “ดอลลี่” แกะที่เกิดจากการโคลนตัวแรกของโลกกลายเป็นความไม่ชอบธรรม เพราะนักวิทยาศาสตร์เพิ่งออกมาเผยว่า ความกังวลเรื่องแกะโคลนนิ่งจะทุกข์ทรมานจากการ “แก่ก่อนวัย” ตามอายุต้นแบบที่นำมาโคลนนั้นเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน เนื่องจากโรคข้อกระดูกอักเสบที่พบในแกะดอลลี่นั้นเป็นโรคปกติ

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2003 นั้น “แกะดอลลี่” (Dolly the sheep) แกะโคลนนิ่งตัวแรกของโลกถูกวางยาให้หลับไปชั่วนิรันดร์ ก่อนที่จะมีโอกาสได้ฉลองวันเกิดปีที่ 7 เพราะได้รับการวินิจฉัยว่า เธอจะต้องทนทุกข์ต่อโรคข้อกระดูกอักเสบ (osteoarthritis) ที่สัมพันธ์กับอายุที่มากขึ้น ซ่งเป็นสัญญาณเตือนว่า แกะโคลนตัวนี้อาจจะแก่เร็วเกินไป

ทว่านักวิทยาศาสตร์เพิ่งออกมาเผยว่า ความกลัวเรื่องการแก่เกินวัยและอายุที่สัมพันธ์กับต้นแบบในการโคลนนั้นดูจะเป็นความเข้าใจผิด เพราะในความจริงแล้วโรคข้ออักเสบที่พบในแกะดอลลี่นั้นค่อนข้างเป็นเรื่องที่พบได้ปกติ และเอเอฟพีได้นำเรื่องนี้มารายงานต่อ

ข้อมูลที่เผยออกมาใหม่นี้ได้จากการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์ในสก็อตแลนด์และอังกฤษ ที่สรุปผลการศึกษาที่ใช้รังสีเอกซ์ตรวจสอบโครงกระดูกของแกะดอลลี่ที่ดูแลรักษาโดยพิพิธภัณฑ์แห่งชาติสก็อตแลนด์ (National Museums Scotland: NMS) ในเอดินบะระ สก็อตแลนด์

ก่อนที่จะได้รับการการุณยฆาตนั้นแกะดอลลี่มีอาการกะโผลกกะเผลกที่ขาข้างหนึ่ง แต่จากการตรวจสอบ้วยวิธีสแกนพบว่าอาการดังกล่าวไม่ใช่เรื่องผิดปกติของแกะที่ตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ โดยทีมวิจัยสรุปว่าไม่พบว่าการโคลนนั้นเป็นสาเหตุของอาการข้ออักเสบก่อนวัยในแกะดอลลี่ และงานวิจัยนี้ก็เกิดจากความปรารถนาที่จะบันทึกหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา โดยได้ตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัยในวารสารไซแอนทิฟิกรีพอร์ตส์ (Scientific Reports)

แกะดอลลี่ถูกฉีดยาให้หลับตลอดกาลขณะอายุได้ 6 ปี 8 เดือนขณะที่เริ่มเป็นโรคปอดด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วแกะพันธุ์ฟินน์-ดอร์เซต (Finn-Dorset sheep) เช่นเดียวกับดอลลี่นั้นจะมีชีวิตประมาณ 10-12 ปี

ทีมวิจัยระบุว่า งานของพวกเขานั้นได้รับการรองรับจากการใช้รังสีเอกซ์เช่นเดียวกันศึกษากระดูกของบอนนี่ (Bonnie) ลูกแกะเพศเมียของดอลลี่ที่เกิดตามธรรมชาติ รวมถึงกระดูกของเมแกน (Megan) และมอแรก (Morag) แกะที่เกิดจากการโคลนด้วยวิธีที่แตกต่างจากดอลลี่ โดยกระดูกแกะเหล่านี้ถูกเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติสก็อตแลนด์เช่นเดียวกัน

ทีมวิจัยระบุอีกว่า บันทึกอาการโรคข้อกระดูกอักเสบของแกะดอลลี่ยังเป็น “การกล่าวถึงสั้นๆ” ในการประชุมย่อยระหว่างการประชุมวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ แต่ไม่มีบันทึกการวินิจฉัยโรคดั้งเดิมหรือผลสแกนที่เก็บรักษาไว้

ทีมวิจัยทีมเดียวกันนี้ยังได้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาไว้เมื่อปีที่ผ่านมา โดยรายงานการศึกษาดังกล่าวระบุว่า สำเนาพันธุกรรมของแกะดอลลี่ 4 ชุดนั้นแก่ขึ้นอย่างปกติโดยไม่มีอาการของโรคข้อกระดูกอักเสบ

เดบบี (Debbie) ดีไนส์ (Denise) ไดแอนนา (Dianna) และ เดซี (Daisy) น้องสาวแฝดอีก 4 ตัวของแกะดอลลี่นั้นเกิดตามหลังพี่สาวในอีก 11 ปีต่อมา โดยเกิดขึ้นจากการกระบวนการโคลนด้วยเซลล์ต่อมเต้านมชุดเดียวกัน ทว่าไม่มีตัวไหนที่มีอาการขากะเผลกเหมือนพี่สาว และไม่มีตัวไหนที่มีอาการโรคข้อกระดูกอักเสบอย่างผิดปกติในช่วงอายุของตัวเอง

สำหรับโรคข้อกระดูกอักเสบนั้นเป็นอาการที่เจ็บปวดทรมาน ซึ่งเกิดจากการติดขัดและฉีกขาดของข้อกระดูก กำเนิดของโรคนี้อาจจะมาจากพันธุกรรม แต่ก็ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นด้วย เช่น อายุที่มากขึ้น อาหารบาดเจ็บและโรคอ้วน

เมื่ออายุ 9 ปีเป็นช่วงปีที่มีความกังวลต่อเรื่องแก่ก่อนในสัตว์โคลนหรือย่างน้อยก็ในแกะ แต่น้องสาวแฝดทั้ง 4 ตัวของแกะดอลลี่ ไม่มีอาการของเบาหวาน และทุกตัวล้วนมีความดันเลือดปกติ ขณะที่การศึกษาหนูโคลนในห้องปฏิบัติการก่อนหน้านั้นพบว่า หนูโคลนแสดงแนวโน้มที่จะเป็นโรคอ้วน เบาหวาน และตายตั้งแต่อายุยังน้อย

ทีมวิจัยยังสรุปอีกว่า งานวิจัยของพวกเขานั้นมีข้อจำกัดเล็กน้อย ตรงที่มีแค่กระดูกของแกะโคลนเท่านั้นเหลือให้ศึกษา ขณะที่โรคข้อกระดูกอักเสบนั้นเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับข้อต่อทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเส้นเอ็นและกระดูกอ่อนด้วย อีกทั้งหลักฐานผลเอกซเรย์โรคข้อกระดูกอักเสบก็ไม่ได้สะท้อนถึงอาการขอโรคที่เกิดกับสัตว์เสมอไป

สำหรับแกะดอลลี่นั้นเกิดขึ้นด้วยเทคนิคย้ายฝากนิวเคลียสของเซลล์ร่างกาย (somatic-cell nuclear transfer: SCNT) ซึ่งเป็นเทคนิคย้ายนิวเคลียสออกจากเซลล์ชนิดอื่นที่ไม่ใช่เซลล์ไข่หรือเซลล์สเปิร์ม อย่างเช่นเซลล์ผิวหนัง และฉีดนิวเคลียสที่บรรจุดีเอ็นเอไว้เข้าไปในไข่ที่ยังไม่ได้รับการผสมและถูกนำเอานิวเคลียสออกไป

เมื่อย้ายฝากนิวเคลียสเข้าไปในไข่แล้ว ไข่นั้นจะออกคำสั่งให้ดีเอ็นเอที่เจริญเติบโตแล้วจากนิวเคลียสกลับไปเป็นระยะตัวอ่อน โดยอาศัยการกระตุ้นของไฟฟ้าเข้าช่วย จากนั้นไข่จะเริ่มแบ่งตัวไปเป็นตัวอ่อนของสัตว์ที่เกือบจะเป็นแฝด กับสัตว์ที่เป็นเจ้าของนิวเคลียสที่มีดีเอ็นเอตั้งต้น

นักวิทยาศาสตร์จากสถาบันโรสลิน (Roslin Institute) ของมหาวิทยาลัยเอดินบะระ (University of Edinburgh) สร้างดอลลี่ขึ้นในหลอดทดลอง หลังจาdหาทางออกได้ว่า0tเก็บเซลล์ไข่ของแกะอย่างไร ย้ายนิวเคลียสออกจากไข่อย่างไร และใส่ดีเอ็นเอที่สกัดจากเซลล์หนังแกะตัวอื่นให้เซลล์ไข่ที่ย้ายนิวเคลียสออกได้อย่างไร จากนั้นนำเซลล์ที่หลอมรวมดีเอ็นเอขึ้นใหม่ไปฝากไว้กับ “แม่แกะอุ้มบุญ” ซึ่งตกลูกเป็นดอลลีเมื่อ 5 ก.ค.1996

กว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะเผยตัวดอลลีให้โลกรู้จักนั้นต้องรอเวลากว่า 6 เดือน เพื่อให้แน่ใจว่าแกะโคลนตัวแรกจะมีชีวิตรอดต่อไป หลังจากที่ล้มเหลวอยู่หลายครั้ง โดยแกะดอลลี่เป็นแกะโคลนตัวเดียวที่รอดชีวิตจนเกิดเป็นตัว จากตัวอ่อนทั้งหมด 30 ตัวที่ย้ายฝากให้แม่แกะอุ้มบุญ และมีตัวอ่อนแกะโคลนอีก 250 ตัวที่ไม่สามารถพัฒนาไปจนถึงย้ายฝากตัวอ่อนได้

เอเอฟพีระบุอีกว่า การโคลนสัตว์นั้นนำไปใช้ในการเกษตร ซึ่งหลักๆ คือการเพิ่มจำนวนปศุสัตว์ และใช้ในธุรกิจ “การสร้างใหม่” สำหรับสัตว์เลี้ยงที่ตายแล้วของมนุษย์

ย้อนชมภาพ “ดอลลี่” แกะโคลนนิ่งตัวแรกเมื่อครั้งยังเป็นหวานใจของโลก
กำลังโหลดความคิดเห็น