นักดาราศาสตร์ร่ำลา “ยานแคสสินี” ยานอวกาสสำรวจดาวเสาร์ของนาซา ที่มีกำหนดตายพุ่งชนดาวเสาร์ในค่ำวันที่ 15 ก.ย.นี้ ปิดฉากการทำงาน 20 ปี ของยานอวกาศมูลค่ากว่า 1.2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ ยานอวกาศแคสสินี (Cassini spacecraft) เป็นโครงการความร่วมมือนานาชาติ ที่มีนักวิทยาศาสตร์จาก 27 ชาติเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยเชื้อเพลิงของยานหมดลงเรื่อยๆ หลังจากที่เดินทางเป็นระยะทางราวๆ 7.9 พันล้านกิโลเมตร
แคสสินีซึ่งเป็นยานสำรวจดาวเสาร์และบริวารที่เดินทางในอวกาศมายาวนาน 20 ปีนี้ มีจุดจบที่การพุ่งชนดาวเสาร์ซึ่งเป็นดาวเคราะห์ก๊าซที่มีวงแหวนขนาดใหญ่ และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าจากบนโลก
ตามกำหนดยานแคสสินีจะส่งสัญญาณติดต่อโลกครั้งสุดท้ายเวลา 18.55 น.ของวันที่ 15 ก.ย.2017 ตามเวลาประเทศไทย และหลังจากนั้นไม่นานยานจะพุ่งชนดาวเสาร์เพื่อปิดฉากภารกิจ
แม้จะดูเศร้าและโหดร้าย แต่เอเอฟพีรายงานว่าจุดจบของยานแคสสินีนี้ได้รับการวางแผนมาเป็นอย่างดีแล้ว ทั้งนี้เพื่อป้องกันความเสียหายใดๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นต่อดาวจันทร์ไทนทัน (Titan) และเอนเซลาดัส (Enceladus) ของเสาร์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ต้องการคงความเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของดวงจันทร์ทั้งสองไว้ สำหรับรองรับการสำรวจในอนาคตเพื่อหาโครงสร้างสิ่งมีชีวิต
“เป็นเรื่องเศร้าที่จะได้เห็นยานแคสสินีจากไปในวันศุกร์นี้ ยิ่งเมื่อเครื่องไม้เครื่องมือที่เราสร้างขึ้นมานั้นยังทำงานได้อย่างดีเยี่ยม แต่เราก็ตระหนักดีว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องจบภารกิจอย่างมีแบบแผนและควบคุมได้” สแตนลีย์ คาวลีย์ (Stanley Cowley) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์ของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ จากมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) ในอังกฤษให้ความเห็น
นอกจากยานแคสสินีแล้วยังมียานอวกาศอีก 3 ลำที่บินผ่านดาวเสาร์ นั่นคือ ยานไพโอเนียร์ 11 (Pioneer 11) ในปี 1979 ตามมาด้วยยานวอยเอเจอร์ 1 (Voyager 1) และวอยเอเจอร์ 2 ในช่วงปีทศวรรษ 1980 ทว่าไม่มียานลำใดที่ศึกษาดาวเสาร์ได้ละเอียดเท่ายานแคสสินี
ชื่อของยานแคสินีนั้นเป็นชื่อที่ตั้งขึ้นตามนักดาราศาสตร์ฝรั่งเศส-อิตาลีชื่อว่า จิโอวานนี โดเมนิโก แคสสินี (Giovanni Domenico Cassini) โดยเมื่อศตวรรษที่ 17 แคสสินีได้ค้นพบว่า ดาวเสาร์มีดวงจันทร์หลายดวงและระหว่างวงแหวนของดาวเสาร์ก็มีช่องว่าง
ยานแคสสินีถูกส่งขึ้นไปจากเคปคานาเวอรัล ฟลอริดา เมื่อปี 1997 โดยใช้เวลาเดินทางในอวกาศนาน 7 ปี ก่อนจะไปถึงดาวเสาร์แล้วใช้เวลาโคจรรอบดาวเคราะห์วงแหวนนานอยู่ 13 ปี ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวยานโคจรของนาซาได้ค้นพบดวงจันทร์ที่โคจรรอบดาวเสาร์เพิ่มอีก 6 ดวง โครงสร้างสามมิติที่สูงท่วมวงแหวนดาวเสาร์ และพายุขนาดใหญ่ที่กระหน่ำทั้งดาวเคราะห์เกือบตลอดทั้งปี
ยานอวกาศขนาด 6.7 x 4 เมตรลำนี้ยังค้นพบไอน้ำแข็งพวยพุ่งออกจากดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) รวมถึงทะเลสาบไฮโดรคาร์บอนอันน่าขนลุกที่ประกอบไปด้วยอีเทน (ethane) และมีเทน (methane) อยู่บนดวงจันทร์ไททัน (Titan) บริวารดวงใหญ่ที่สุดของดาวเสาร์
ในปี 2005 ยานแคสสินีได้ปล่อยยานลงจอดที่ชื่อว่า “ฮอยเกนส์” (Huygens) บนดวงจันทร์ไททัน ซึ่งนับเป็นการปล่อยยานลงจอดในระบบสุริยะชั้นนอกเป็นครั้งแรกและเพียงครั้งเดียว โดยปล่อยลงวัตถุอวกาศที่อยู่นอกแถบดาวเคราะห์น้อย (asteroid belt) โดยยานฮอยเกนส์เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างนาซา องค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) และองค์การอวกาศอิตาลี (Italian Space Agency)
“ปฏิบัติการนี้ได้เปลี่ยนวิธีคิดของเราเกี่ยวกับแหล่งที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิตนอกโลก ทั้งดาวอังคาร ดวงจันทร์ของดาวเคราะห์วงนอกอย่าง ดวงจันทร์เอนเซลาดัส ดวงจันทร์ยูโรปา หรือแม้แต่ดวงจันทร์ไททัน ต่างเป็นคู่แข่งอันดับต้นๆ ที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิต เราได้เขียนตำราใหม่หมดเกี่ยวกับดาวเสาร์” แอนดรูว์ โคทส์ (Andrew Coates) หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์ดาวเคราะห์ ประจำห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์อวกาศมัลลาร์ด (Mullard Space Science Laboratory) มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London) กล่าว
ด้าน แมทธิว โอเวนส์ (Mathew Owens) ศาสตราจารย์ด้านฟิสิกส์อวกาศจากมหาวิทยาลัยรีดดิง (University of Reading) ในอังกฤษ กล่าวว่าปฏิบัติการของยานแคสสินีได้สร้างฐานข้อมูลให้แก่รายงานวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ราว 4,000 ฉบับ และการพุ่งตัวอย่างรวดเร็วของยานแคสสินีสู่ชั้นบรรยากาศดาวเสาร์เป็นครั้งสุดท้าย จะเผยองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศดาวเสาร์ก่อนที่ยานแคสสินีจะแตกสลายไปเหมือนฝนดาวตก และนักวิทยาศาสตร์จะใช้เวลาอีกหลายปีต่อจากนี้วิเคราะห์ข้อมูลชั้นบรรยากาศดาวเสาร์จากการตีตั๋วเที่ยวเดียวของยานแคสสินีในครั้งนี้